ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีส่งเสียงเจื้อยแจ้วยืนยันว่า นโยบายเศรษฐกิจในปี 2556 จะเน้นรักษาวินัยการเงินการคลังและความสมดุลหนี้สาธารณะ การใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ให้มีความแข็งแรงพร้อมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วกลับทำตรงกันข้าม !
เพราะไม่เพียงไม่สนใจทบทวนโครงการประชานิยมสารพัดที่ก่อหนี้สาธารณะ เป็นภาระการเงินการคลังมหาศาล จนพาประเทศชาติไต่หน้าผาอยู่รอมร่อเท่านั้น กลับยังยืนกรานเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดทุกฤดูกาลที่ใช้เงินหลายแสนล้าน ส่วนเอสเอ็มอีนั้นรัฐบาลก็ทำลายย่อยยับพับกิจการด้วยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยไม่มีมาตรการที่ชัดเจนใดมารองรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่จะเกิดขึ้น
เอาเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ที่มีเสียงเตือนว่าจะสร้างความหายนะให้กับประเทศชาติ ทั้งการก่อหนี้สาธารณะ ทั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นสารพัด โดยที่ชาวนาตัวจริงเสียงจริงได้รับประโยชน์เพียงส่วนน้อย แต่นายกฯ ปู หาได้สนใจ ยังประกาศเดินหน้าต่อไป โดยอ้างว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นการตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร
ขณะที่ตัวแทนชาวนา ตอกกลับว่า โครงการรับจำนำข้าวท่าจะตอบโจทย์พวกพ้องนักการเมืองมากกว่า และอีกไม่นานก็จะเห็นหายนะอันใหญ่หลวงรออยู่เบื้องหน้า
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ชี้ว่า ปัญหาใหญ่ในโครงการรับจำนำจะเกิดในไตรมาสแรกของปี 2556 เพราะเป็นช่วงปริมาณข้าวนาปรังรุ่นแรกที่ปลูกไปถึง 13 ล้านไร่จะออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน โดยคาดว่าจะมีผลผลิต 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งชาวนาต้องเร่งเก็บเกี่ยวเพื่อไปเข้าโครงการรับจำนำให้ได้ ก่อนโรงสีไม่รับเข้าโครงการ เพราะชาวนารู้ล่วงหน้าแล้วว่ารัฐบาลมีข้าวค้างอยู่ในสต็อกกว่า 13 ล้านตัน และโกดังส่วนใหญ่มีข้าวสารเต็มเกือบหมดแล้ว ทำให้โรงสีหลายแห่งเริ่มกังวลว่ารับข้าวจากชาวนามาสีแปรรูปแล้วจะไม่มีที่เก็บรักษาข้าว เพราะข้าวจากโครงการปี 54/55 ยังเต็มสต็อกอยู่
“ปัญหาจะชัดเจนมากในอีกสองเดือนข้างหน้าที่รัฐบาลจะไม่มีที่เก็บข้าว และที่น่าห่วงขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีมาตรการรับมือแก้ไขเลย โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ หน้าที่หลักต้องแก้ปัญหาโดยเร็ว แต่ปลัดกระทรวงกลับชอบพูดถึงความสำเร็จของโครงการตามนักการเมืองสั่ง และยังสั่งไม่ให้ผมเอาปัญหาโครงการไปพูดกับคนภายนอก แสดงถึงความไม่จริงใจแก้ปัญหาให้ชาวนาอย่างยั่งยืน
“หลายครั้งผมถามว่างบประมาณตกหล่นไปเกือบครึ่งที่บอกว่าจำนำตันละ 1.5 หมื่นบาท แต่ชาวนาได้รับจริง 1.1 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งมันหายไปไหนถึง 4 พันบาท เป็นตัวชี้ว่ามันเกิดการคอรัปชั่นทุกขั้นตอน แต่รัฐบาลกลับทำไม่รู้เรื่องอะไรเลย และหากรัฐบาลขายข้าวเมื่อไหร่ก็ขาดทุนทันที ผมเคยถามนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ท่านก็ยังไม่รู้เรื่อง ต้องหันไปถามคนข้างๆ ตลอด”
นายกสมาคมชาวนาไทย ยอมรับว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่เลิกไม่ได้แล้ว เพราะชาวนาไม่ยอมแน่ ถ้าเลิกรัฐบาลนี้ก็จบ และม็อบชาวนาหากออกมาประท้วงจะรุนแรงมากกว่าม็อบสวนยาง สวนปาล์มแน่ เพราะมีจำนวนมากกว่า และปีหน้าจะเจอม็อบแรงงานด้วย เพราะขณะนี้โรงงานหลายแห่งเริ่มปลดคนงานแล้วจากนโยบายค่าแรง 300 บาท จะส่งผลทำให้ปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงถึงรากหญ้าทั้งหมด
ความจริงแล้ว สิ่งที่ตัวแทนชาวนาอยากให้รัฐบาลดำเนินการก็คือ เรียกผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวมาคุยพร้อมหน้ากันทุกฝ่าย สมาคมฯ เห็นว่าราคารับจำนำข้าวน่าจะอยู่ในระดับที่ชาวนาไม่ขาดทุน โรงสี พ่อค้าข้าว ผู้ส่งออกอยู่ได้ โดยรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณมากเกินจำเป็น และประเทศไทยมีสเถียรภาพในการค้าขายข้าวในระยะยาว แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่สนใจที่จะทำในจุดนี้ เพราะต้องเดินหน้าประชานิยมตามที่ประกาศไว้
ปัญหาหนักหน่วงที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าว อีกเรื่องก็คือ การทุจริตกันทุกขั้นตอน ทั้งโกดังรับฝากข้าว การซื้อใบประทวนจากชาวนาเพื่อมาสวมสิทธิ์รับจำนำข้าว การเปิดจุดรับจำนำ การนำข้าวเปลือกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์รับจำนำราคาสูง ชาวนาถูกโรงสีโกงตาชั่ง โกงความชื้น การนำข้าวสารใหม่โกดังออกไปขายและนำเข้าเก่ามาใส่ไว้แทน ปัญหาจากการกำหนดห้ามจำนำข้ามเขตทำให้ชาวนาถูกบีบขายข้าวราคาถูกในลักษณะปิดประตูตีแมว ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวนาเสียเปรียบมาก และยังไม่ได้รับการแก้ไข หากเดินหน้าโครงการกันอย่างนี้ต่อไป สุดท้ายรัฐบาลก็เป็นหนี้ ทิ้งภาระไว้ให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ปัญหาต่อไป
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายรัฐบาลทำโครงการรับจำนำมาหลายครั้ง แต่ชาวนาก็ยังจนเหมือนเดิม
สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมาแล้ว 3 ฤดูกาล คือ นาปี 2554/2555 นาปรัง 2555 และนาปี 2555/2556 ที่ใช้งบประมาณมากถึง 115,000-150,000 ล้านบาทต่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวนั้น นายกสมาคมชาวนาไทย บอกว่า ประโยชน์ตกถึงมือชาวนาตัวจริงจะตกถึงมือแค่ 40% ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 3.7 ล้านครัวเรือนทั้งประเทศ ที่เหลือประโยชน์อยู่ในมือกลุ่มโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ เครือญาติ คนใกล้ชิด ส.ส.นักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองระดับท้องถิ่น และข้าราชการที่ฉ้อฉล ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในสารพัดรูปแบบ ชาวนาเป็นเพียงตัวเชิดเท่านั้น
นอกจากนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกราคาสูงของรัฐบาล ยังจะส่งผลกระทบต่อชาวนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าที่นา ไม่ใช่เจ้าของที่นา โดยเจ้าของที่นาอาจถือโอกาสขึ้นค่าเช่า หรือยึดที่นาคืน แล้วจ้างผู้เช่าเป็นผู้ทำนาให้แทนเพราะได้มากกว่า ต่อไปชาวนาจะไม่มีนาทำ และกลายเป็นลูกจ้างในที่สุด
ไม่นับว่า โครงการรับจำนำข้าว ยังทำให้คุณภาพข้าวไทยแย่ลง เพราะคนเร่งปลูกข้าวเอาเงินเร็วเข้าว่า ไม่สนใจเรื่องคุณภาพ
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เกาะติดโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ฟันธงเช่นกันว่า ในไตรมาสแรกของปี 2556 โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะมีปัญหาอย่างมาก เพราะจะมีข้าวใหม่เข้าโครงการ ในขณะที่ข้าวเก่าก็ยังเต็มสต็อกไม่สามารถระบายได้ ถึงเวลาที่รัฐบาลควรหาทางปรับนโยบายเพราะหากปล่อยไว้ข้าวที่มีอยู่ในสต็อกจะเสื่อมสภาพ ราคาจะต่ำลงเรื่อยๆ ขายได้ยากขึ้น ยิ่งเวลานี้มีข่าวว่าเวียดนามคู่แข่งส่งออกข้าวของไทย เตรียมลดราคาขายลงจากปีที่ผ่านมา
เวลานี้ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นลูกค้าที่เคยซื้อข้าวจากไทย ก็หันไปซื้อข้าวจากพม่าเพราะมีราคาที่ถูกกว่าแทนแล้ว
ไม่เพียงแต่ไม่ได้ยกระดับชีวิตชาวนาดังที่รัฐบาลโม้ และยังทำให้ตลาดข้าวปั่นป่วน เท่านั้น ไม่แน่ว่าโครงการรับจำนำข้าว จะกลายเป็นหอกดาบกลับไปทิ่มแทง กลายเป็นคดีล้มรัฐบาลด้วยหรือไม่ เพราะสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติและมีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร
เรื่องนี้ นายเมธี ครองแก้ว อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นหากวันหนึ่งได้รับการพิสูจน์ รัฐบาลต้องรับผิดชอบเต็มๆ เพราะนักวิชาการ หน่วยงานต่างๆ ตลอดจน ป.ป.ช. เองก็ได้เตือน ท้วงติง และแนะนำไปหลายครั้งแล้วว่าโครงการสร้างความเสียหายต่อประเทศ และหากผลสรุปออกมาว่าโครงการสร้างความเสียหายและเกิดการทุจริต ป.ป.ช.ก็สามารถชี้มูลความผิดรัฐบาลในมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะทั้งๆ ที่รู้ว่าเสียหาย แต่ก็ยังเดินหน้าทำ
ส่วนผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในปี 2556 อดีตกรรมการป.ป.ช. ระบุว่า สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในโครงการตั้งแต่ต้น ม.ค.-ก.ย.ปี 2556 คาดว่าจะมีประมาณ 2-2.5 แสนล้านบาท ซึ่งหากระบายข้าวได้ก็ไม่เกิดปัญหา แต่หากไม่สามารถระบายข้าวออกได้ก็จะเกิดผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน เพราะข้าวเก่าก็ยังอยู่ในโกดัง และหากเวลาผ่านไปเรื่อยๆ คุณภาพของข้าวก็จะเสื่อมลง ราคาก็ต้องลดลงไปด้วย
“ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในปี 2555 อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท อยู่ในมือชาวนาประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และขาดทุนจริงๆ อีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากใน 2556 รัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวออกได้ทั้งหมด ความเสียหายก็จะบวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะเห็นความเสียหายชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ซึ่งจะมีข้าวออกมาใหม่” นายเมธีกล่าว
นายเมธี ระบุว่า เข้าใจว่าโครงการรับจำนำเป็นนโยบายที่รัฐบาลสัญญาไว้กับประชาชน จึงต้องทำตามสัญญา แต่เมื่อเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล รัฐบาลเองก็ต้องกล้าบอกประชาชนและต้องกล้าปรับเปลี่ยนเพื่อลดความเสียหายส่วนรวมของประเทศ ซึ่งหากทำตอนนี้ก็ยังทัน และต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า หากไม่หยุดทำจะเกิดผลกระทบกับภาพรวมอย่างไร ตรงกันข้ามหากรัฐบาลยังเดินหน้าทำต่อ เชื่อว่าจะไม่สามารถทำได้อีกนาน และต้องล้มเลิกโครงการในที่สุดในอีกไม่ช้า ซึ่งหากเมื่อล้มเลิกโครงการแล้วความวุ่นวายก็จะตามมา เพราะชาวนาก็จะออกมาเรียกร้องว่าโครงการดังกล่าวหายไปไหน
เสียงเตือนจากอดีตกรรมการป.ป.ช. และนายกสมาคมชาวนาไทย บอกให้รู้ว่า ระเบิดเวลาจากโครงการรับจำนำข้าวจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
เช่นเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเลิกโครงการรับจำนำข้าวที่ต้องเสียหายปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งหากทำต่อไปเรื่อยๆ หนี้สาธารณะอาจทะลุถึง 60% ของจีดีพี จะมีปัญหาขาดดุลการเงินการคลัง ฐานะประเทศอ่อนแอลง
ขณะที่ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับระบุว่า หากรัฐบาลนี้มีอายุครบ 2 ปี ต้องสูญเงินงบประมาณภาษีของประชาชนไปประมาณ 450,000 ล้านบาท กับโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด หรือ 3.8%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของวงเงินงบประมาณแผ่นดิน 1 ปีงบประมาณ
"นี่คือโครงการเดียวที่เสี่ยเปี๋ยงกับเจ๊ ด.เอี่ยวทั้งยวง" รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ตอกย้ำ
เมื่อมีหลายฝ่ายออกมาเตือนเรื่องการก่อหนี้เพื่อเดินหน้าโครงการประชานิยมและโครงการลงทุนของรัฐบาล ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง จึงรีบออกรับหน้าอธิบายแก้ต่างแทนรัฐบาล
โดยนางสาวจุฬาลักษณ์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สบน. ระบุว่า สบน.ได้ทำประมาณการหนี้สาธารณะของไทยในช่วง 7 ปีข้างหน้า โดยคำนวณรวมความต้องการระดมทุนตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 350,000 ล้านบาท และ พ.ร.บ.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ระดับสูงสุดในปี 2559 ที่ 49.9% จากปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 43.27% และต่ำกว่ากรอบความยังยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ 60%
นอกจากนี้ งบประมาณจะเข้าสู่ภาวะสมดุลในปี 2560 จากปีงบประมาณ 2556 ที่มีงบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท โดยโครงการต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินการคลังในระยะยาวอย่างแน่นอน
สำหรับแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะของ สบน. ได้รวมเงินในโครงการประชานิยม เช่น การรับจำนำข้าวที่ตั้งวงเงินหมุนเวียนไว้ไม่เกิน 420,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาในฤดูกาลผลิตปี 2554/55 ได้กู้เงินไปแล้ว 265,000 ล้านบาท และในปีงบ 2556 ตั้งเป้าหมายกู้อีก 150,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มออกกู้ล็อตแรก 37,000 ล้านบาทในเดือน ม.ค. - ก.พ.2556 นี้ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะทยอยออกกู้ครั้งละ 30,000 ล้านบาท จนถึงสิ้นปีงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ถึง สบน.จะออกหน้ามาการันตีไม่มีปัญหา แต่หากย้อนกลับไปไม่นานก็จะพบว่า กระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ย้ำว่าจะไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้กับโครงการประชานิยม อย่างโครงการรับจำนำข้าวอีกแล้ว และขอให้ ธ.ก.ส.ซึ่งเป็นธนาคารที่รัฐบาลดึงมาร่วมโครงการไปหาระดมเงินเอาเอง หรือจะกู้ก็ได้แต่คลังไม่ค้ำประกันให้
ความพยายามเดินหน้าประชานิยมจำนำข้าว ทั้งที่รู้ว่ามีแต่หายนะรออยู่เบื้องหน้า ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกเสียจากว่า นายกฯปู กระทำการส่อเจตนาพาชาติล่มจม และประเคนผลประโยชน์มหาศาลชนิดไม่มีวันสิ้นสุดให้กับเครือญาติ พวกพ้องที่ใกล้ชิดกับนักการเมือง โดยเฉพาะ "เจ๊ ด." ที่แดกจุงเบย !