xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“หม่อมอุ๋ย” แตกหักจำนำข้าว “ชาวนา” ไม่เอาฮั้ว 5 ประเทศ “ปู-ยิ่งลักษณ์” ใกล้ถึงจุดจบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “เป็นผม ถ้าบริหารประเทศหรือทำโครงการอะไรแล้วขาดทุนมากขนาดนี้ คงลาออกไปแล้ว แต่กลับไม่อาจ เอาสีข้างถูไปเรื่อย และยิ่งทำต่อ รัฐจะขาดทุนมากขึ้นๆ จนอาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนและค่าเงินบาท พูดมาขนาดนี้แล้ว ถ้าคนมีสติดี ตรึกตรองดูก็รู้ว่าควรจะต้องทำอย่างไร”

ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอน สำหรับการที่ “หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล” เปิดฉากลากไส้ “โครงการรับจำนำข้าว” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอย่างไม่ไว้หน้าในงานเสวนาเรื่อง “ข้าว ชาวนา นักการเมืองและประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย?”เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา

เพราะต้องไม่ลืมว่า หม่อมอุ๋ยหรือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรคืออดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เพราะต้องไม่ลืมว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธรคืออดีตรองนายกรัฐมนตรีในยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี

เพราะต้องไม่ลืมว่า ลูกชายของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรคือ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล มีจุดยืนทางการเมืองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ นช.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น นี่คือสัญญาณที่ไม่ธรรมดา เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว คงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะทำให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรต้องลงทุนลงแรงเปลืองตัวถึงขนาดนี้

ยิ่งเป็นการออกโรงในช่วงจังหวะที่ปี่กลองทางการเมืองกำลังดุเดือดเลือดพล่านจากทั้งม็อบเสธ.อ้าย-พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์และการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยแล้ว ยิ่งกลายเป็นการถั่งโถมโหมแรงไฟให้ลุกโชนมากขึ้น

“โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมีแต่ขาดทุน ปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณข้าวเข้าโครงการ 21.95 ล้านตัน ขาดทุน 1.4 แสนล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 47.8% ของจีดีพีประเทศ และปีหน้าตั้งเป้ามีข้าวเข้าโครงการ 33 ล้านตัน ก็คาดว่าภาระขาดทุนจะพุ่งไปถึง 2.1 แสนล้านบาท ผมจึงเป็นห่วงผลกระทบที่จะมีต่อระดับหนี้สาธารณะของประเทศ โดยเมื่อคำนวณรวมกับเงินกู้นอกงบประมาณด้วยแล้ว คาดว่าระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะพุ่งไปถึง 61% ต่อจีดีพีในปี 2562 จาก 44.2% ต่อจีดีพีในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา”ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าววิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

ทั้งนี้ เงินกู้นอกงบประมาณซึ่งจะเป็นตัวผสมโรงทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศไทยเพิ่มขึ้นที่ว่านั้นประกอบไปด้วย

หนึ่ง-การก่อหนี้นอกงบประมาณในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

สอง-การลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานที่รัฐจะกู้ในสัดส่วน 30% ของวงเงินลงทุนรวม 2.27 ล้านบาท โดยอีก 70% จะให้รัฐวิสาหกิจและเอกชนร่วมลงทุน

และไม่นับรวมหนี้รัฐที่ค้างจ่ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ธ.ก.ส.และองค์กรรัฐอื่นๆ ที่ยังไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรตั้งโจทย์เอาไว้ต่อรัฐบาลและสาธารณชนก็คือ การทุจริตที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ ซึ่งแม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลมาก่อนหน้านี้บ้าง แต่เมื่อผู้พูดและผู้เปิดเผยคือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรก็ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวเอาไว้ชัดเจนว่า “ขอให้สื่อมวลชนไปติดตามบริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหม่รายหนึ่ง ซึ่งเป็นรายเดิมที่เคยเกิดและปิดไปเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งบริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหม่รายนี้เป็นผู้ชนะการประมูลข้าวของรัฐบาล แสดงให้เห็นว่า ลึกๆ แล้วรัฐบาลคิดอะไรอยู่ ซึ่งคงไม่ได้คิดโครงการนี้ขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวนาเพียงอย่างเดียว”

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับ “ชูเกียรติ โอภาสวงศ์” นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่ระบุว่า “เรื่องนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายรัฐบาลที่แล้ว(รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ทำให้ฝ่ายค้านไม่ค่อยกล้าตีเรื่องนี้เท่าไหร่ และจะสังเกตได้ด้วยว่า มีบางบริษัทส่งออกข้าวยอดขายพุ่งแบบไร้เหตุผล โดยประมูลข้าวได้ในราคาถูกกว่าตลาดและขายได้ ขณะที่ผู้ส่งออกรายอื่นระเนระนาดกันหมด เป็นการ UNFAIR เพราะบริษัทที่มีคอนเนกชันที่ดีกับการเมืองก็ซื้อข้าวได้ถูก เช่น ราคาข้าวหอมมะลิราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม แต่ซื้อได้ 8 บาท เป็นอะไรที่อธิบายไม่ได้ ตรวจสอบก็ลำบาก เพราะอ้างว่าเป็นข้าวเก่า ตรวจสอบก็ยาก เพราะขนไปแล้ว”

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่เพียง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเท่านั้นที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โครงการรับจำนำข้าวอย่างสาดเสียเทเสีย หากแต่ยังสมทบด้วยดาบที่สองเมื่อ สำนักข่าวรอยเตอร์ส เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ออกโรงเรียกร้องให้ทางการไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อตอบข้อซักถามเกี่ยวกับนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลไทยในการประชุมคณะกรรมาธิการเกษตรขององค์การการค้าโลก หรือ WTO
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 นี้

ทั้งนี้ เนื่องเพราะมีความหวั่นวิตกว่า โครงการรับจำนำข้าวของไทยซึ่งซื้อข้าวในราคาสูงกว่าท้องตลาด ได้ส่งผลทำให้มีการผลิตข้าวเพิ่มมากขึ้น และมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำไปสู่การทุ่มตลาดด้วยการขายข้าวสู่ตลาดโลกในราคาต่ำกว่าต้นทุน

“สหรัฐฯ มีความวิตกต่อการรับจำนำข้าวของไทยในราคาที่สูงกว่าตลาดโลกถึง 40% ซึ่งจะทำให้ไทยประสบความยากลำบากในการส่งออก หากไม่ยอมข้ขายในราคาขาดทุน”ตัวแทนของสหรัฐฯ ในคณะกรรมาธิการการเกษตรของ WTO กล่าว

นอกจากนั้น นโยบายดังกล่าวยังถือเป็นนโยบายที่ขัดต่อพันธะสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้กับองค์การการค้าโลก เนื่องจากได้สัญญาว่าจะแทรกแซงตลาดไม่ให้เกิน 3-4 ล้านตันเท่านั้น แต่ปัจจุบันรัฐบาลใช้เงินแทรกแซงสูงกว่าพันธสัญญาหลายเท่า

“การรับจำนำข้าวของไทยผิดกฎองค์การการค้าโลกแน่นอน เพราะใช้วงเงินเกินที่กำหนดไว้ ส่วนการขายข้าวราคาต่ำกว่าตลาด ไม่ใช่ประเด็นหลักอยู่ที่ว่าไทยจะขายต่ำกว่าราคาตลาดโลกหรือเปล่า เพราะหากต่ำกว่า ก็ถือว่าเป็นการทุ่มตลาด แต่ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงให้สาธารณชนรับทราบเลย”

“ขอเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายข้าวและชี้แจงถึงสาเหตุว่าทำไมราคาข้าวในประเทศไม่สูงขึ้นทั้งที่รัฐบาลได้รับซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนา ที่สำคัญคือรัฐบาลไม่ได้ขายจริง แม้บอกสัญญารัฐต่อรัฐ ก็ไม่จริง โดยเงินที่คืนไป 4 หมื่นล้านบาทเป็นการลักลอบขายภายในประเทศให้พ่อค้ามากกว่า ทำให้ราคาข้าวสารไม่ปรับตัวขึ้นทั้งที่ควรจะขึ้นเพราะฐานราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น”นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิชัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ยืนยันชัดพร้อมประเมินว่า การรับจำนำข้าวในช่วงเวลาการผลิตที่ผ่านมาจะทำให้รัฐบาลเกิดภาระขาดทุนมากถึง 1.7 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว นโยบายสำคัญอันเกี่ยวเนื่องและกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักไม่แพ้กันก็คือ การที่ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านตลาดข้าวอาเซียน 5 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม รวมทั้งการจัดตั้ง เขตพิเศษการค้าข้าวอาเซียน (Rice Trade Zone หรือ RTZ)

“ประสิทธิ์ บุญเฉย” นายกสมาคมชาวนาไทย ประกาศชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่จะตั้งเขตพิเศษการค้าข้าวอาเซียนเนื่องจากไม่ได้เกิดประโยชน์กับชาวนาไทย แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับโรงสีขายในราคาถูก และในขั้นตอนการปฏิบัติหากคุมการนำเข้าข้าวเปลือกไม่ได้ก็จะเปิดโอกาสให้มีการนำข้าวที่อื่นมาสวมสิทธิโครงการจำนำและทำลายข้าวไทยทั้งระบบในอนาคต

“การอ้างว่าโครงการนี้นำเข้าข้าวเปลือกเพื่อมาสีขายในราคาแข่งขันกับเวียดนามเพื่อรักษาตลาด ผมถามว่า แล้วทำไมไม่พัฒนาตลาดข้าวคุณภาพของไทย ทั้งที่รัฐประกาศว่า ข้าวไทยเป็นตลาดพรีเมียม แต่ปรากฏว่าข้าวไทยกลับขายไม่ออกจนต้องไปหาทางช่วยโรงสีหาข้าวราคาถูกไปส่งออก เรื่องนี้ถ้าไม่ระวังให้ดี การนำเข้าข้าวเปลือกจากต่างประเทศจะสร้างปัญหาใหญ่ในอนาคต ทั้งโรคแมลงและการปนเปื้อนพันธ์ข้าวของไทย ผมถามว่า พันธุ์ข้าวหอมมะลิเขมรที่ชนะเลิศของโลกมาจากไหน เป็นของคนไทยแท้ๆ แต่เราไปแพ้เขา สุดท้ายรัฐบาลนี้อะไรคือนโยบายเรื่องข้าว”นายกสมาคมชาวนาไทยวิจารณ์

เรื่องนี้เข้าทำนองว่า แค่โครงการรับจำนำข้าวในประเทศตนเองยังเอาตัวไม่รอด ยังมีหน้ามาทำตัวเป็นพี่ใหญ่ของอาเซียน

ส่วนเรื่องเม็ดเงินที่จะไปกู้มาเพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าวนั้น ก็ดูเหมือนว่ากำลังจะก่อปัญหาไม่น้อย เพราะข้อมูลจาก “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ปลัดกระทรวงการคลัง ทำให้สังคมรับรู้ว่า วงเงินที่คลังอนุมัติจำนวน 1.5 แสนล้านบาทนั้นเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น ห้างไม่เพียงพอ รัฐบาลจะต้องระบายข้าวที่รับจำนำเอาไว้ออกไป ซึ่งคำถามก็คือ จะขายให้ใคร เพราะถ้าขายชัดเจนว่า ต้องขาดทุน เพราะราคาของไทยแพงกว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาดโลก

นี่คือปัญหาใหญ่ยิ่งที่กำลังสั่นสะเทือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอย่างหนัก และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เป็นปมสำคัญที่จะล้มรัฐบาลนอมินีชุดนี้ให้อยู่หมัดชนิดที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศลุกขึ้นยืนปรบมือและโห่ร้องด้วยความปีติยินดี


กำลังโหลดความคิดเห็น