xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบทุ่งกุลาฯบุกร้อยเอ็ดจี้รัฐเปิดจำนำข้าวเสรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้อยเอ็ด - ชาวนาเมืองเกินร้อย 4 อำเภอชุมนุมสวนสมเด็จร้อยเอ็ด เรียกร้องทวงสัญญาขอเปิดจำนำข้าวเสรี โดยให้สหกรณ์และโรงสีนอกพื้นที่เข้าร่วมเปิดรับจำนำข้าวเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีของชาวนา จวกพฤติกรรม ผู้ว่าฯมีพฤติกรรม สมคบนายทุนโรงสีเอาเปรียบเกษตรกร ลั่นชุมนุมยืดเยื้อจนกว่าจะได้รับเงื่อนไขชาวนา ถามกลับรัฐบาลเองจริงใจช่วยชาวนาจริงมากน้อยแค่ไหน ขณะที่“พาณิชย์”กางแผนทวงแชมป์ข้าวคืน ตั้งเป้าส่งออกปี 56 สูงถึง 8.5 ล้านตัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนากว่า 1,000 คน จาก 4 อำเภอ คือสุวรรณภูมิ,พนมไพร,เกษตรกรวิสัย.และเชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด เดินทางชุมนุมและเปิดเวทีปราศรัยโจมตีนโยบายการเปิดรับจำนำข้าวของจังหวัดร้อยเอ็ด ว่าเป็นการมัดมือชก ไม่ให้ความเป็นธรรมและไม่เปิดทางเลือกให้กับเกษตรกร ในการที่จะเลือกจำนำข้าวกับโรงสีที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร และบังคับให้จำนำกับโรงสี 37 แห่ง ที่จังหวัดกำหนด ถือเป็นการเอาเปรียบเกษตรกร

นายกฤษณะ แสนสำโรง แกนนำเกษตรกรชาวไร่ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ กล่าวว่า การเดินทางมาชุมนุมครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ทำตามคำสัญญาที่ตกลงกันไว้เมื่อการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2555 ที่ หน้าที่ว่าการอำเภอสุวรรณภูมิ ว่าจะเปิดโอกาสให้โรงสีสหกรณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ดในพื้นที่ทุ่งกุลา 17 แห่ง เข้าร่วมโครงการร่วมรับจำนำข้าว ตามคำเรียกร้อง พร้อมกับเปิดโอกาสให้โรงสีต่างจังหวัดเข้ามาร่วมรับจำนำข้าวนาปี ดังเช่นปีที่แล้ว เพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับเกษตรกร

เนื่องจากปัญหารับจำนำข้าวที่เกิดกับชาวนาในปีนี้ คือ โรงสีที่กำหนดในโครงการรับจำนำข้าวทุกแห่งของจังหวัดร้อยเอ็ดสุมหัวกันเอาเปรียบชาวนา ยกตัวอย่างกรณีชาวนา 2 ราย เอาข้าวไปจำนำกับโรงสีแห่งหนึ่ง ปรากฏว่ากดราคาเอาเปรียบจนเกินไป เช่นกรณีของ นางอรทัย สังฆมณี เอาข้าวไปจำนำ12 ตัน พอผ่านไปกว่า 7 วัน กลับตอบกลับมาว่าต้องโดนหักความชื้น 2 ตัน และหักสิ่งเจือปน 0.5 ตัน

ส่วนนายอภัย ภูสระคู เกษตรอีกราย ใน ต.หินกอง อ.สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ที่นำข้าวไปจำนำ 10 ตัน หลังจากนั้นอีก 7 วัน จึงตอบว่าโดนหักความชื้น 3 ตัน และหักสิ่งเจือปน 0.47 ตันในภายหลัง ซึ่งเป็นการเอาเปรียบเกษตรกรโดยตรง แต่ผู้ว่าราชการกลับไม่สนองเกษตรกรและไม่สนองนโยบายรัฐบาลที่อ้างว่า ต้องการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร แต่พฤติกรรมของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรวมถึงผู้ว่าฯร้อยเอ็ดเองกลับสวนทางกัน

นายกฤษณะ กล่าวว่าสำหรับข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวนาจังหวัดร้อยเอ็ดคือต้องการให้ทำตามสัญญา 2 ข้อ คือ 1 ขอให้เปิดโอกาสให้โรงสีสหกรณ์พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 17 แห่ง ที่มีความประสงค์เข้าร่วมรับจำนำข้าว และ ข้อ 2 ต้องเปิดโอกาสให้โรงสีต่างจังหวัดนอกพื้นที่ซึ่งไม่เอาเปรียบประชาชนและเกษตรกร ไม่มีเงื่อนไขหยุมหยิม เอาเปรียบเกษตรกร เข้ามาร่วมโครงการรับจำนำข้าว ดังเช่นทุกปี

หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจนตามที่คณะอนุกรรมการข้าวประจำจังหวัดตกลงกันเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2555 รับปากเมื่อครั้งที่ชุมนุมกันที่ อ.สุวรรณภูมิแล้วว่าจะอนุญาตให้ตามต้องการ แต่สุดท้ายกลับไม่ทำตามคำพูด จนต้องเดินทางมาชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้อง ต้องการคำตอบใน 48 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้น จะพร้อมใจกันเอาข้าวเปลือกบุกไปเทที่หน้าศาลากลางพร้อมกับการรวมตัวกันชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดต่อไป

ทั้งนี้ การปราศรัยของแกนนำ ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดลงมาตอบและชี้แจงถึงสาเหตุของการไม่เปิดโอกาสให้โรงสีอื่นเข้ามารับจำนำข้าว ร่วมกับโรงสี 37 แห่งของชมรมโรงสีข้าวของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีนางจวงจิรา สุริยวนากุล เป็นประธานชมรมฯ หากไม่มีคำตอบจากนายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ว่าฯร้อยเอ็ด ชาวนาก็จะชุมนุมยืดเยื้อ จนกว่าจะได้รับคำตอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดระยะเวลาของการชุมนุมกันเกือบจะทั้งวัน เพื่อรอคำตอบจากนายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ปรากฏว่า นายสมศักดิ์ไม่ยอมลงมาพบกับผู้ชุมนุม และเพิกเฉย จนกระทั่งล่วงเลยจนถึงเวลา 15.00 น. ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชุมนุม

นายกฤษณะ พร้อมกับแกนนำกลุ่มเกษตรกรคนอื่นๆจึง ตัดสินใจนำเกษตรกรที่ชุมนุมอยู่กว่า 1,000 คน เคลื่อนขบวนจาก สวนสมเด็จศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด ไปยังศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อขอพบขอคำตอบ จากนายสมศักดิ์ ว่าจะให้มีการเปิดเสรีรับจำนำข้าวให้เกษตรกร ตามความต้องการหรือไม่ จนต้องมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนกว่า 200 นาย มาปิดประตูเข้า-ออกศาลากลางทั้ง 2 ด้าน และให้ส่งตัวแทน 20 คนเข้าไปเจรจากับนายศักดิ์ชัย กาญจวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด

โดยนายศักดิ์ชัยได้กล่าวว่า จังหวัดไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ที่จะให้โรงสีสหกรณ์ทั้ง 17 แห่ง หรือโรงสีนอกจังหวัด 4 จังหวัดคือ สุพรรณบุรี,ฉะเชิงเทรา,ลพบุรี และชัยนาท เข้าร่วมโครงการได้ตามที่เกษตรกรเรียกร้องให้เข้าร่วมรับจำนำข้าวร้อยเอ็ดได้หรือไม่ ดังนั้นทำได้เพียงรับปากว่าจะเสนอความต้องการไปยังคณะกรรมการจำนำข้าวระดับประเทศเป็นผู้ลงมติ ซึ่งจะต้องรอคำตอบในวันพุธที่ 7 พ.ย.นี้ โดยขอให้ทุกคนเดินทางกลับแล้วมาฟังคำตอบในวันที่ 7ต.ค.

อย่างไรก็ตาม นายกฤษณะ ผู้นำชาวนาได้ถามมติที่ชุมนุมปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัว โดยกล่าวว่า เพราะกลัวจะโดนจังหวัดหลอกเป็นครั้งที่ 2 เพราะจังหวัดเคยรับปากครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ต.ค.55 แล้วก็ไม่ทำตามคำพูด ดังนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมสรุปว่าจะไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว และประกาศที่จะชุมนุมยืดเยื้อต่อไป จนกว่าจะได้รับคำตอบ และได้รับหนังสือคำตอบที่เป็นไปตามข้อตกลงแล้วเท่านั้น จึงจะมีการสลายตัว

นายกฤษณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าว แม้แต่รัฐบาลก็ต้องมีคำตอบให้ชัดเจน ว่านโยบายรับจำนำข้าวบอกว่าเพื่อช่วยชาวนา รัฐบาลช่วยจริงหรือโกหก ต้องพิสูจน์ ไม่ได้พูดแต่เพียงลมปาก แล้วมีการแอบสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสมคบกับโรงสีแล้วเก็บเกี่ยวผลประโยชน์หลอกลวงชาวนา หากไม่ใช่ นายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องมีการจัดการและมีคำตอบที่ชัดเจน และจัดการกับการกระทำของผู้ว่าฯที่มีพฤติกรรมดังกล่าว

“เชื่อว่ามีหลายจังหวัดที่มีปัญหารับจำนำข้าวเช่นเมืองร้อยเอ็ด ที่ถือโอกาส กลั่นแกล้ง และเอาเปรียบเกษตรกร แล้วเก็บเกี่ยวเอาผลประโยชน์ ด้วยการสมคบกันกับโรงสี แล้วพยายามกีดกันโรงสีที่ตั้งใจช่วยเหลือเกษตรกรจริง ไม่ให้เข้าร่วมโครงการ”

***พาณิชย์ทวงแชมป์ข้าวคืน

นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2556 ไว้ที่ปริมาณ 8.5 ล้านตัน มูลค่า 5,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายปี 2555 ที่คาดว่าจะส่งออกได้ 7.3-7.5 ล้านตัน มูลค่า 4,948 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.44 และร้อยละ 15.20 และจะทำให้ไทยเป็นแชมป์ในการส่งออกข้าวทั้งปริมาณและราคาได้อย่างแน่นอน เพราะในปี 2556 คาดว่าเวียดนามจะส่งออกได้ประมาณ 7 ล้านตัน และอินเดียส่งออกได้ประมาณ 7-8 ล้านตัน

สำหรับแผนในการผลักดันการส่งออกข้าวไทย กรมฯ มีแผนที่จะแสวงหาตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง เป็นต้น โดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำตลาด และเน้นการประชาสัมพันธ์คุณภาพข้าวไทย ส่วนตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ เอเชีย แอฟริกา ยุโรปและจีน ก็มีแผนในการจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือน ซึ่งเร็วๆ นี้จะไปฮ่องกง เพื่อขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทย

ส่วนการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ก็จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และหลายประเทศได้แสดงความสนใจที่จะนำเข้าข้าวจากไทย โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนเดิม ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศในภูมิภาคแอฟริกา

“ในปีหน้า แผนการบุกเจาะตลาดข้าวจะมีความชัดเจน โดยจะโพกัสไปในแต่ละชนิดข้าว และแต่ละตลาด อย่างข้าวหอมมะลิไทย หรือข้าวนึ่ง ก็จะมีแผนชัดเจนว่าจะไปขายตลาดไหน จะไม่รอเหมือนที่ผ่านๆ มา ที่เรามีข้าวอะไรก็กองๆ เอาไว้แล้วรอให้คนมาซื้อ เราจะบุกออกไปขาย และไปบอกผู้ซื้อว่าข้าวไทยดียังไง มีมาตรฐานเหนือคนอื่นยังไง ซึ่งจะทำให้ไทยขายข้าวได้เพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ กรมฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อส่งเสริมและขยายตลาดข้าวที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าว GI (Geographical Indication) ข้าวสินเหล็ก เป็นต้น ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในประเทศสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และเอเชีย ทั้งนี้ จะมีการทำการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ผ่านสื่อต่างประเทศ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และแมกกาซีน เช่น CNN , CNBC และ CCTV เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มเผยแพร่ในช่วงเดือนม.ค.2556 นี้

นางปราณีกล่าวว่า กรมฯ ยังมีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวเพิ่มมากขึ้น โดยการจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านตลาดข้าวอาเซียน 5 ประเทศ กัมพูชา สปป.ลาว พม่า เวียดนาม และไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะแสดงบทบาทการเป็นผู้นำในตลาดข้าวโลก สร้างความร่วมมือด้านตลาดข้าวของประเทศในอาเซียนให้มีผลเป็นรูปธรรม อันจะช่วยยกระดับราคาข้าวโลกให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ตลอดจนสนับสนุนความมั่นคงทางด้านอาหารของอาเซียนและของโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น