ร้อยเอ็ด - ชาวนาเมืองเกินร้อย 4 อำเภอชุมนุมสวนสมเด็จร้อยเอ็ด เรียกร้องทวงสัญญาขอเปิดจำนำข้าวเสรี โดยให้สหกรณ์และโรงสีนอกพื้นที่เข้าร่วมเปิดรับจำนำข้าวเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีของชาวนา จวกผู้ว่าฯ มีพฤติกรรมสมคบนายทุนโรงสีเอาเปรียบเกษตรกร ลั่นชุมนุมยืดเยื้อจนกว่าจะได้รับเงื่อนไขชาวนา ถามกลับรัฐบาลจริงใจช่วยชาวนามากน้อยแค่ไหน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (5 พ.ย.) ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด ชาวนากว่า 1,000 คนจาก 4 อำเภอ คือ สุวรรณภูมิ, พนมไพร, เกษตรกรวิสัย และเชียงขวัญ ในจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางมาชุมนุมและเปิดเวทีปราศรัยโจมตีนโยบายการเปิดรับจำนำข้าวของจังหวัดร้อยเอ็ดว่าเป็นการมัดมือชก ไม่ให้ความเป็นธรรม และไม่เปิดทางเลือกให้เกษตรกรในการที่จะเลือกจำนำข้าวกับโรงสีที่ตรงความต้องการของเกษตรกร และบังคับให้จำนำกับโรงสี 37 แห่งที่จังหวัดกำหนด ถือเป็นการเอาเปรียบเกษตรกร
นายกฤษณะ แสนสำโรง แกนนำเกษตรกรชาวไร่ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ กล่าวว่า การเดินทางมาชุมนุมครั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ทำตามคำสัญญาที่ตกลงกันไว้เมื่อการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2555 ที่หน้าที่ว่าการอำเภอสุวรรณภูมิว่า จะเปิดโอกาสให้โรงสีสหกรณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ดในพื้นที่ทุ่งกุลา 17 แห่งเข้าร่วมโครงการร่วมรับจำนำข้าวตามคำเรียกร้อง พร้อมกับเปิดโอกาสให้โรงสีต่างจังหวัดเข้ามาร่วมรับจำนำข้าวนาปี ดังเช่นปีที่แล้วเพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับเกษตรกร
เนื่องจากปัญหารับจำนำข้าวที่เกิดแก่ชาวนาในปีนี้คือ โรงสีที่กำหนดในโครงการรับจำนำข้าวทุกแห่งของจังหวัดร้อยเอ็ดสุมหัวกันเอาเปรียบชาวนา ยกตัวอย่างกรณีชาวนา 2 รายเอาข้าวไปจำนำกับโรงสีแห่งหนึ่ง ปรากฏว่ากดราคาเอาเปรียบจนเกินไป เช่น กรณีของนางอรทัย สังฆมณี เอาข้าวไปจำนำ 12 ตัน พอผ่านไปกว่า 7 วันกลับตอบกลับมาว่าต้องโดนหักความชื้น 2 ตัน และหักสิ่งเจือปน 0.5 ตัน
ส่วนนายอภัย ภูสระคู เกษตรกรอีกรายใน ต.หินกอง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ที่นำข้าวไปจำนำ 10 ตัน หลังจากนั้นอีก 7 วันจึงถูกตอบกลับมาว่าโดนหักความชื้น 3 ตัน และหักสิ่งเจือปน 0.47 ตันในภายหลัง ซึ่งเป็นการเอาเปรียบเกษตรกรโดยตรง แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดกลับไม่สนองเกษตรกรและไม่สนองนโยบายรัฐบาลที่อ้างว่าต้องการแก้ปัญหาให้เกษตรกร แต่พฤติกรรมของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรวมถึงผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดเองกลับสวนทางกัน
นายกฤษณะกล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวนาจังหวัดร้อยเอ็ดคือต้องการให้ทำตามสัญญา 2 ข้อ คือ 1. ขอให้เปิดโอกาสให้โรงสีสหกรณ์พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 17 แห่งที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว และข้อ 2. ต้องเปิดโอกาสให้โรงสีต่างจังหวัดนอกพื้นที่ซึ่งไม่เอาเปรียบประชาชนและเกษตรกร ไม่มีเงื่อนไขหยุมหยิมเอาเปรียบเกษตรกร เข้ามาร่วมโครงการรับจำนำข้าวดังเช่นทุกปี
หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจนตามที่คณะอนุกรรมการข้าวประจำจังหวัดตกลงกันเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 55 รับปากเมื่อครั้งที่ชุมนุมกันที่ อ.สุวรรณภูมิแล้วว่าจะอนุญาตให้ตามต้องการ แต่สุดท้ายกลับไม่ทำตามคำพูดจนต้องเดินทางมาชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้อง ต้องการคำตอบใน 48 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นจะพร้อมใจกันเอาข้าวเปลือกบุกไปเทที่หน้าศาลากลางพร้อมกับการรวมตัวกันชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดต่อไป
ทั้งนี้ การปราศรัยของแกนนำผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดลงมาตอบและชี้แจงถึงสาเหตุของการไม่เปิดโอกาสให้โรงสีอื่นเข้ามารับจำนำข้าวร่วมกับโรงสี 37 แห่งของชมรมโรงสีข้าวของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีนางจวงจิรา สุริยวนากุล เป็นประธานชมรมฯ หากไม่มีคำตอบจากนายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ชาวนาก็จะชุมนุมยืดเยื้อจนกว่าจะได้รับคำตอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดระยะเวลาของการชุมนุมกันเกือบจะทั้งวันเพื่อรอคำตอบจากนายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ปรากฏว่านายสมศักดิ์ไม่ยอมลงมาพบกับผู้ชุมนุม และเพิกเฉย จนกระทั่งล่วงเลยจนถึงเวลา 15.00 น. ได้สร้างความไม่พอใจแก่ผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก
นายกฤษณะ พร้อมกับแกนนำกลุ่มเกษตรกรคนอื่นๆ จึงตัดสินใจนำเกษตรกรที่ชุมนุมอยู่กว่า 1,000 คนเคลื่อนขบวนจากสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด ไปยังศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อขอพบขอคำตอบจากนายสมศักดิ์ว่าจะให้มีการเปิดเสรีรับจำนำข้าวให้เกษตรกรตามความต้องการหรือไม่ จนต้องมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนกว่า 200 นายมาปิดประตูเข้า-ออกศาลากลางทั้ง 2 ด้าน และให้ส่งตัวแทน 20 คนเข้าไปเจรจากับนายศักดิ์ชัย กาญจนวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด
โดยนายศักดิ์ชัยได้กล่าวว่า จังหวัดไม่มีอำนาจในการตัดสินใจที่จะให้โรงสีสหกรณ์ทั้ง 17 แห่ง หรือโรงสีนอกจังหวัด 4 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี, ฉะเชิงเทรา, ลพบุรี และชัยนาท เข้าร่วมโครงการได้ตามที่เกษตรกรเรียกร้องให้เข้าร่วมรับจำนำข้าวร้อยเอ็ดได้หรือไม่ ดังนั้น ทำได้เพียงรับปากว่าจะเสนอความต้องการไปยังคณะกรรมการจำนำข้าวระดับประเทศเป็นผู้ลงมติ ซึ่งจะต้องรอคำตอบในวันพุธที่ 7 พ.ย.นี้ โดยขอให้ทุกคนเดินทางกลับแล้วมาฟังคำตอบในวันที่ 7 พ.ย.
อย่างไรก็ตาม นายกฤษณะ ผู้นำชาวนาได้ถามมติที่ชุมนุม ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัว โดยกล่าวว่าเพราะกลัวจะโดนจังหวัดหลอกเป็นครั้งที่ 2 เพราะจังหวัดเคยรับปากครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 55 แล้วก็ไม่ทำตามคำพูด ดังนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมสรุปว่าจะไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว และประกาศที่จะชุมนุมยืดเยื้อต่อไปจนกว่าจะได้รับคำตอบ และได้รับหนังสือคำตอบที่เป็นไปตามข้อตกลงแล้วเท่านั้นจึงจะมีการสลายตัว
นายกฤษณะกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าว แม้แต่รัฐบาลก็ต้องมีคำตอบให้ชัดเจนว่านโยบายรับจำนำข้าวบอกว่าเพื่อช่วยชาวนา รัฐบาลช่วยจริงหรือโกหก ต้องพิสูจน์ ไม่ได้พูดแต่เพียงลมปาก แล้วมีการแอบสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสมคบกับโรงสีแล้วเก็บเกี่ยวผลประโยชน์หลอกลวงชาวนา หากไม่ใช่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องมีการจัดการและมีคำตอบที่ชัดเจน และจัดการกับการกระทำของผู้ว่าฯ ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว
“เชื่อว่ามีหลายจังหวัดที่มีปัญหารับจำนำข้าวเช่นเมืองร้อยเอ็ด ที่ถือโอกาสกลั่นแกล้ง และเอาเปรียบเกษตรกร แล้วเก็บเกี่ยวเอาผลประโยชน์ ด้วยการสมคบกันกับโรงสี แล้วพยายามกีดกันโรงสีที่ตั้งใจช่วยเหลือเกษตรกรจริงไม่ให้เข้าร่วมโครงการ”