xs
xsm
sm
md
lg

ราคาผลผลิตตกต่ำ : ปัญหาเรื้อรังของเกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ประเทศไทย โดยสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมอันดับต้นๆ ของโลกประเทศหนึ่ง ดังนั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสินค้าเกษตรยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากต่อปี ถึงแม้ในปัจจุบันสินค้าอุตสาหกรรมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งออกแทนสินค้าเกษตรมากขึ้นทุกวันก็ตาม

ในปัจจุบันเกษตรกรไทยแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. ชาวนา อันได้แก่เกษตรกรที่ทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก และเกษตรกรกลุ่มนี้จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเนื่องจากมีพื้นที่ราบลุ่ม และมีแม่น้ำไหลผ่าน ส่วนในภาคอื่นๆ เช่น ภาคใต้มีการทำนาน้อยกว่าอาชีพอื่น

2. ชาวไร่ อันได้แก่เกษตรกรผู้ทำการเพาะปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด เป็นต้น เกษตรกรกลุ่มนี้กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ แม้กระทั่งบนดอยสูง

3. ชาวสวน อันได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผล เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ทุเรียน และพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ เป็นต้น มีมากที่สุดในภาคใต้ ภาคตะวันออก และในขณะนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เริ่มมีการทำสวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนยางพารา

4. ชาวประมง และผู้เลี้ยงปศุสัตว์ กลุ่มนี้มีอยู่ทั่วไป และมีทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายย่อยกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ถ้ามองในแง่การผลิตเพื่อเป็นสินค้าส่งออกก็จะมีเพียงการประมง และผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เช่น ไก่ และสุกร

เกษตรกรทั้ง 4 กลุ่มนี้จะมีปัญหาในการประกอบการคล้ายๆ กันอยู่ 2 ประการ คือ

1. ต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ปุ๋ย น้ำยาฆ่าศัตรูพืช และอาหารสัตว์ได้มีราคาแพงขึ้นเกือบทุกปีตามภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

2. ในขณะที่เกษตรกรเผชิญกับปัญหาปัจจัยการผลิตสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตมิได้แพงขึ้นตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ผลิตได้ และความต้องการบริโภค กล่าวคือ ถ้าในปีใดผลิตได้มากเกินกว่าความต้องการในประเทศ และต้องพึ่งการส่งออกเพื่อดึงราคาให้สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันในตลาดโลกมีสินค้าประเภทเดียวกันจากประเทศคู่แข่งขายในราคาต่ำกว่า ก็จะทำให้ราคาขายสินค้าเกษตรจากประเทศไทยต้องขายถูกลงไปด้วย เพราะถ้าจะขายแพงกว่าประเทศคู่แข่งในขณะที่คุณภาพสินค้ามิได้ดีกว่าเขา ก็ยากที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ ดังที่เกิดขึ้นกับสินค้าข้าวของไทยอยู่ในขณะนี้

จากปัญหาสองประการนี้เอง ทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาและชาวไร่ ซึ่งผลผลิตทั้งประเภทที่เป็นไปตามฤดูกาล และเก็บเกี่ยวพร้อมกันหรือไล่เลี่ยกันก็จะเดือดร้อนเมื่อราคาขายต่ำกว่าราคาทุน และทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหานี้ รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะใช้วิธีการเดิมๆ และประการเดียวคือ เข้าแทรกแซงราคาโดยการประกันราคา หรือจำนำ แต่การแก้ปัญหาในทำนองนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไปได้อย่างถาวร เมื่อเป็นเช่นนี้ ในทุกปีเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวมาถึงรัฐก็นำเงินจากงบประมาณอันเป็นรายได้จากการเก็บภาษีของคนทั้งประเทศเพื่อแก้ปัญหาให้คนกลุ่มเดียวคือเกษตรกร

และที่สำคัญ การแก้ปัญหาในทำนองนี้ เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์มากพอที่จะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากปัญหาได้อย่างถาวร อีกทั้งงบประมาณในส่วนนี้ได้ตกหล่น และสูญหายไปในกระบวนการแก้ปัญหาจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายค้าน และนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ อยู่ในขณะนี้

อะไรเป็นเหตุให้รัฐบาลชุดนี้ถูกมองว่าล้มเหลว และมีเลศนัยในการแก้ปัญหาราคาข้าว และจะมีวิธีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ถ้าไม่แทรกแซงราคา

เพื่อจะตอบประเด็นแห่งคำถามดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูที่มาของการจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาทของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็พอจะอนุมานเหตุปัจจัยที่รับจำนำข้าวในราคาดังกล่าวได้ดังนี้

1. ในการปราศรัยหาเสียงทางพรรคเพื่อไทยได้ประกาศเป็นนโยบาย และเมื่อเป็นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อผลทางการเมือง แต่ในทางด้านการเงินเป็นการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะให้แก่ประเทศ ดังนั้นนโยบายลักษณะนี้ถึงแม้จะประสบความสำเร็จด้านการเมือง แต่ก็ล้มเหลวในด้านการเงินการคลัง จึงน่าจะได้ทบทวนและดำเนินการให้รอบคอบกว่านี้

2. ชาวนาส่วนใหญ่ที่ต้องการผลตอบแทนจากนโยบายนี้ก็คือชาวนาซึ่งเป็นฐานทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่านโยบายนี้ยกเลิกไม่ได้ และความเสียหายแก่ประเทศโดยรวมจะต้องมีต่อไป

ยิ่งกว่านี้ ถ้ารัฐบาลยอมก่อหนี้เพื่อชาวนาได้ ต่อไปเกษตรกรทุกกลุ่มเมื่อเดือดร้อนเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ หรือต้นทุนสูงก็จะถือโอกาสเรียกร้องให้ช่วย และรัฐก็จะต้องก่อหนี้ต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าถ้ารัฐบาลมองปัญหาความเดือดร้อนของประเทศโดยรวมแล้วจะต้องทบทวนนโยบายช่วยชาวนาด้วยการก่อหนี้ เข้าทำนองแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหา แล้วหันมาศึกษาแนวทางแก้ปัญหาเกษตรกรอย่างถาวรทุกกลุ่ม ไม่เพียงแต่ชาวนากลุ่มเดียวเท่านั้น

ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวและถาวรน่าจะเริ่มด้วยการช่วยลดต้นทุน โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์การผลิตและขาย เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพของผลิตผล รวมไปถึงการต่อรองกับพ่อค้าทั้งในประเทศและพ่อค้าส่งออก

พร้อมกันนี้ ทางรัฐบาลจะต้องลงมาวางรูปแบบการทำเกษตรกรรม โดยกำหนดเป็นโซน และควบคุมการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและส่งออก โดยยึดราคาเป็นหลักไม่ปล่อยให้ต่างคนต่างผลิตจนล้นตลาด และคุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ก็จะช่วยให้ขายได้ราคาดีขึ้น โดยที่รัฐเข้าไปแทรกแซงน้อยที่สุด หรือไม่ต้องแทรกแซงเลยก็ได้

อีกประการหนึ่ง ในการดำเนินการแทรกแซงราคา ไม่ว่าด้วยมาตรการรับจำนำหรือประกันราคา จะต้องทำอย่างโปร่งใส ไม่มีเลศนัย และเปิดช่องให้มีการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบเกิดขึ้น ดังที่เป็นมาแล้วและกำลังเป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน

แต่การจะทำเช่นนี้ได้ชาวนาเองก็จะต้องเข้าใจ และรับรู้ปัญหาอันอาจเกิดขึ้นแก่ประเทศโดยรวม ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนทุกคนในประเทศจะต้องช่วยกันจับตามองการแก้ปัญหา และปรับทิศทางการทำเกษตรกรรมของตนเองให้เป็นไปในทิศทางที่ก่อปัญหาให้แก่รัฐบาลน้อยที่สุด มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยคงหนีไม่พ้นล้มละลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น