xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบเหล้าชุมชนโคราชเดือดบุกสรรพสามิต โวยกีดกันไม่ขายแสตมป์-เอื้อยักษ์ใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชนจาก ต.พุดซา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กว่า 500 คน เดือดบุกสรรพสามิตภาค ที่ 3 หลังจนท.ไม่ยอมขายอากรแสตมป์ให้ โวยกีดกันเหล้าชุมชนเอื้อประโยชน์รับใช้ยักษ์ใหญ่ วันนี้ (12 ต.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ม็อบเหล้าชุมชนโคราช กว่า 500 คน เดือดบุกสรรพสามิตภาค 3 หลัง จนท.ไม่ยอมขายอากรแสตมป์ให้ อ้างเหล้าไม่ได้มาตรฐาน ต้องให้ จนท.ออกไปตรวจก่อน โวยกีดกันเหล้าชุมชนเอื้อประโยชน์รับใช้ยักษ์ใหญ่ ขณะ ผอ.สรรพสามิต เรียกตัวแทนหารือเครียดกว่า 2 ชม. ได้ข้อสรุปร่วมกันให้จำหน่ายแสตมป์ก่อน ส่วนรายใดไม่ได้มาตรฐานให้เร่งแก้ไข

วันนี้ (12 ต.ค.) ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 3 อ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชนจาก ต.พุดซา อ.เมือง จ.นครราชสีมา จำนวนกว่า 500 คน นำโดย นายประเสริฐ เชยพุดซา ผู้ใหญ่บ้านบ้านน้อย หมู่ 14 ต.พุดซา นางกรรณลิกา เชยพุดซา เจ้าของ หจก.บุญประเสริฐ และนายชัชวาล เพ็ญใหม่ เจ้าของ หจก.เพชรสีมาการสุรา เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรม ต่อ นางนันทา อินเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 3 หลังได้รับความเดือดร้อนจากกรณีเจ้าหน้าที่ไม่ยอมจำหน่ายอากรแสตมป์ให้แก่ผู้ประกอบการสุรากลั่นชุมชน โดยอ้างว่าต้องให้เจ้าหน้าที่ออกไปตรวจวัดมาตรฐานในน้ำสุราก่อน ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจ และทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนเพราะนำส่งลูกค้าไม่ทันตามเวลาที่กำหนด

โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ถือป้ายประท้วงระบุข้อความ เช่น “คนในกรมสรรพสามิตยังเหลือใครที่โรงใหญ่ซื้อไม่ได้ยกมือขึ้น” “กรมสรรพสามิตรับใช้ใคร” “ช่วยหนูด้วยแม่หนูกำลังตกงาน” และ “กรมสรรพสามิตส่งเสริม หรือฆ่าชุมชน” เป็นต้น พร้อมตะโกนว่า “พวกเราจะต่อสู้ให้ถึงที่สุดเพื่อให้ชุมชนมีที่ยืนในสังคม”

จากนั้น ผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงการณ์ระบุว่า เนื่องจากทางผู้ประกอบการสุรากลั่นชุมชุมใน ต.พุดซา อ.เมือง จ.นครราชสีมา จำนวนกว่า 50 ราย มีลูกจ้างกว่า 1,000 คน ผลิตสุราชุมชนส่งขายไปทั่วประเทศ ผลิตสุราออกจำหน่ายในแต่ละปีกว่า 1 ล้านขวด ทำรายได้ให้ชุมนุมมากกว่า 80 ล้านบาท ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังเจ้าหน้าที่ไม่ยอมขายอาการแสตมป์ให้ โดยอ้างว่าต้องให้เจ้าหน้าที่ออกไปวัดมาตรฐานในน้ำสุรา (ดีกรี) ก่อน จากเดิมเคยซื้อได้โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเพราะทุกปีจะมีเจ้าหน้าที่ออกไปสุ่มตรวจอยู่แล้ว และที่ผ่านมา ก็สามารถซื้ออากรแสตมป์ได้โดยไม่จำกัด รวมถึงการออกใบขนส่งสุราจากเดิมสามารถออกเองได้ แต่ปัจจุบันก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน

นางกรรณลิกา เชยพุดซา แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวว่า วันนี้ผู้ประกอบการสุรากลั่นในชุมชน ต.พุดซา ได้รวมตัวกันเพื่อขอความเป็นธรรม และขอความชัดเจนในการดำเนินการของสรรพสามิต ทั้งเรื่องการวัดมาตรฐานในน้ำเหล้า (ดีกรี) การบังคับกรณีใบขนส่งสุรา และการซื้ออากรแสตมป์ โดยเฉพาะการซื้ออากรแสตมป์นั้นพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมามีการบังคับให้ซื้อได้ไม่เกิน 60,000 ดวง แต่ในเขตพื้นที่อื่นสามารถซื้อได้ถึง 300,000 ดวง ตรงนี้เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติหรือไม่

อีกทั้งในช่วงแรกของการเปิดเสรี ได้มีการส่งเสริมประกอบกิจการสุรากลั่นชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีรายได้ แต่เมื่อผู้ประกอบการเริ่มมีการลงทุนในการทำสุรากลั่นชุมชนกลับมีการเลือกบังคับใช้กฎหมายเฉพาะในเขตพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา แต่ในเขตพื้นที่อื่นกลับไม่บังคับให้เป็นแนวทางเดียวกัน ฉะนั้น พวกเราจึงตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่หรือไม่ และต้องการทำลายกิจการชุมนุมให้ล้มหายไปในที่สุด

ต่อมา เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 3 ได้ประสานกับกลุ่มผู้ชุมนุมให้ส่งตัวแทนจำนวน 10 คน ขึ้นไปเจรจา ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์แต่อย่างใด

จากนั้น นางนันทา อินเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 3 ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการสุรากลั่นชุมชน เนื่องจากในวันนี้มีผู้ประกอบการในพื้นที่ ต.พุดซา มาขอซื้ออากรแสตมป์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่จำหน่ายให้เนื่องจากผู้ประกอบการดังกล่าวผลิตสุรากลั่นที่ไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ โดยจากการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ความรับผิดชอบ 8 จังหวัดอีสานตอนล่าง มีผู้ประกอบการสุรากลั่นชุมนุม ประมาณ 200 ราย และกว่า 100 ราย อยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ในจำนวนนี้ มีประมาณ 10 ราย ที่ผลิตสุรากลั่นไม่ได้มาตรฐาน ฉะนั้น ต้องให้เจ้าหน้าที่ออกไปทำการวัดมาตรฐานน้ำสุรา ซึ่งเรามีเครื่องวัดค่ามาตรฐานตัวใหม่ที่กรมฯ ส่งมาให้มีความแม่นยำสูง

ฉะนั้น เราจึงไม่สามารถจำหน่ายอากรแสตมป์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าออกมาไม่ได้มาตรฐาน เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการเอง และหากตรวจพบปลายทางก็จะต้องถูกดำเนินคดี เราจึงพยายามช่วยผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นความเข้าใจผิดว่าเราไม่จำหน่ายอากรแสตมป์ให้ผู้ประกอบการทุกราย

โดยผลการหารือครั้งนี้ ได้ข้อสรุปร่วมกันคือ ทางสรรพสามิตจะจำหน่ายอากรแสตมป์ให้ผู้ประกอบการตามเดิมก่อน และจะออกสุ่มตรวจวัดมาตรฐานของน้ำสุราในภายหลังเพื่อให้การประกอบกิจการเดินไปอย่างต่อเนื่อง และไม่เสียโอกาส

ส่วนผู้ประกอบการอีก 10 รายที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น ให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วน และจะมีการเรียกประชุมหารือเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกันทุก 2-3 เดือน ซึ่งสร้างความพอใจให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุมก่อนสลายการชุมนุมไปในที่สุด







นางนันทา  อินเงิน ผอ.สนง.สรรพสามิตภาคที่ 3
กำลังโหลดความคิดเห็น