บุรีรัมย์ - นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคอีสาน ร้องรัฐบาลหยุดแทรกแซงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ควรปล่อยตามกลไกตลาด เชื่อผู้บริโภค-เกษตรกรอยู่ได้ เผยเกษตรกรเลี้ยงหมูขาดทุนเดือดร้อนหนัก หลังราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำเหลือ กก.ละ 45-50 บาท ขาดทุนตัวละ 1,200-1,400 บาท เหตุปัจจัยการผลิตพุ่งสูง เจ๊งปิดฟาร์มแล้วกว่า 3,000 ราย จากผู้เลี้ยง 12,000 ราย พร้อมขู่หากรัฐเมินไม่เร่งช่วยเหลือ ขนหมูไปปล่อยประท้วงหน้าทำเนียบ
วันนี้ (19 ต.ค.) นายชูศักดิ์ รัตนวนิชย์โรจน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกผู้เลี้ยงสุกรในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย ที่มีอยู่กว่า 12,000 ราย กำลังประสบปัญหาราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มตกต่ำ เหลือเพียงกิโลกรัมละ 45-50 บาท ซึ่งแตกต่างจากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปีที่ผ่านมา ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 80 บาท ทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องประสบปัญหาขาดทุน
ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องแบกรับภาระปัจจัยการผลิต ทั้งวัตถุดิบที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 20-40 เปอร์เซ็นต์ เช่น กากถั่ว จากเดิมที่เคยซื้อเพียงกิโลกรัมละ 14-15 บาท ปัจจุบัน พุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 21-22 บาท ข้าวโพด จากเดิมซื้อเพียงกิโลกรัมละ 8-9 บาท ปัจจุบัน สูงถึงกิโลกรัมละ 11-12 บาท รำ จากเดิมซื้อเพียงกิโลกรัมละ 8-9 บาท ปัจจุบัน สูงถึงกิโลกรัมละ 11 บาท ปลายข้าว จากเดิมซื้อกิโลกรัมละ 9-10 บาท ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ14-15 บาท หรือแม้แต่ปลาป่น จากเดิมที่เคยซื้อเพียงกิโลกรัมละ 26-28 บาท ปัจจุบัน พุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 36-38 บาท อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระค่าจ้างแรงงาน และค่าขนส่งที่สูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ไม่อยู่ในจุดคุ้มทุน
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาหมูของรัฐบาลในขณะนี้ เพียงเพื่อต้องการช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้บริโภคเนื้อหมูในราคาต่ำ แต่กลับมองข้ามผลกระทบ และการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดเข้ามาแทรกแซงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันเป็นไปตามกลไกของตลาด เชื่อว่ากลุ่มเกษตรกร และผู้บริโภคจะสามารถอยู่ได้
ขณะนี้ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งรายกลาง และรายย่อยในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำ ได้ทยอยปิดฟาร์มเลิกเลี้ยงไปแล้วกว่าร้อยละ 30 หรือกว่า 3,000 ราย ส่วนผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรรายใหญ่ได้ชะลอการเลี้ยงสุกรออกไป เนื่องจากผู้เลี้ยงประสบปัญหาขาดทุนเฉลี่ยตัวละ 1,200-1,400 บาทต่อน้ำหนักหมูตัวละ 100 กิโลกรัม
“เห็นด้วยที่รัฐบาลกำหนดราคาแนะนำเนื้อหมูชำแหละให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 110-120 บาท แต่ต้องมองถึงผลกระทบ และเข้ามาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูด้วย เพราะปัจจุบัน มีต้นทุนในการเลี้ยงหมูอยู่ที่กิโลกรัมละ 58-63 บาท หากจะให้เกษตรกรผู้เลี้ยงอยู่ได้ หมูเป็นหน้าฟาร์มจะต้องอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-80 บาท ทั้งนี้ เชื่อว่าหากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วยเหลือ หรือไม่หยุดแทรกแซงราคาหมู ผู้เลี้ยงหมูก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้” นายชูศักดิ์กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยที่ทำให้ภาวะราคาหมูตกต่ำนั้น เป็นผลพวงมาจากที่รัฐบาลได้ยกเลิกการส่งออกหมูไปยังต่างประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งใหญ่ เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ทั้งที่ทางสมาคมได้ช่วยกันผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อให้มีการส่งออก เพราะการที่จะเจรจาให้มีการส่งออกได้นั้นต้องใช้เวลานาน 5-8 ปี แต่รัฐบาลกลับยกเลิกภายในเวลาเพียง 1-2 ปี ซึ่งการตัดสินใจของรัฐบาลในระยะเวลาสั้นๆ กลับส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และเกษตรกรในระยะยาวได้
“หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหาตามที่กลุ่มผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรภาคอีสานเรียกร้อง ทางกลุ่มผู้ประกอบการ และผู้เลี้ยงสุกรก็จะพากันนำหมูเป็นไปปล่อยประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล และเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องขอความช่วยเหลือ และให้ความเป็นธรรมต่อไป” นายชูศักดิ์กล่าว