xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบไข่ไก่เชียงใหม่ชุมนุมร้องรัฐช่วยเหลือ โอดขายไข่ถูก-ต้นทุนพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่ชุมนุมหน้าศาลากลาง ร้องรัฐช่วยหลังเจอปัญหาราคาไข่ตกต่ำ โอดต้นทุน 2.60 บาทแต่ขายจริงไม่ถึง 2 บาท วอนรัฐเร่งแก้ปัญหาราคาอาหารสัตว์พร้อมช่วยอุดหนุนส่วนต่างราคา-หาเงินกู้ช่วยเหลือ ด้านตัวแทนผู้เลี้ยงไข่ไก่ชี้ผลพวงจากยุค “มาร์ค” ให้นำเข้าพันธุ์ไก่ไข่ทำไข่ล้นตลาด หวั่นระยะยาวรายเล็กอยู่ไม่ได้เหลือแต่รายใหญ่ครองตลาด

วันนี้ (9 ต.ค. 2555) กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์แม่แฝก และสมาชิกชมรมผู้เลี้ยงไก่เชียงใหม่-ลำพูน จำนวนประมาณ 50 คน เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณหน้าอาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาไข่ตกต่ำ และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว โดยมี น.ส.ปานจิตต์ พิศวง พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้รับเรื่อง

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนจากราคาไข่หน้าฟาร์มในปัจจุบันที่ต่ำกว่าราคาต้นทุน โดยราคาไข่คละขนาดที่ขายในปัจจุบันอยู่ที่ฟองละ 1.80-1.90 บาท แต่ต้นทุนของเกษตรกรนั้นสูงถึงฟองละ 2.60 บาท โดยต้นทุนที่สูงนี้มาจากราคาอาหารสัตว์และวัตถุดิบที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าไฟฟ้าในระบบฟาร์มปิด เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรได้ยื่นข้อเรียกร้องรวม ประกอบด้วย ขอให้รัฐออกมาตรการปรับขึ้นราคาไข่ไก่ ช่วยลดราคาอาหารสัตว์และวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ให้มีราคาถูกลง จัดมาตรการคิดค่าไฟฟ้าเป็นหน่วยพิเศษสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่รายเล็ก

นอกจากนี้ยังขอให้ภาครัฐพักชำระหนี้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่รายเล็ก สนับสนุนและจัดหาแหล่งเงินทุนระยะยาว และประกันราคาไข่คละหน้าฟาร์มหากสถานการณ์ราคาตกต่ำ รวมทั้งชดเชยการขาดทุนจากการขายไข่ไก่และการปลดไก่ยืนกรง โดยเกษตรกรระบุด้วยว่าราคาที่เห็นว่าเหมาะสมควรจะอยู่ที่ 2.50-2.80 บาทต่อฟอง

นายปรีชา สุขบุญพันธ์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงไก่เชียงใหม่-ลำพูน และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปัญหาคราคาไข่ตกต่ำเป็นผลต่อเนื่องจากการนำเข้าพันธุ์ไก่ที่รัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติไว้ ซึ่งทำให้ปริมาณไก่ไข่ในตลาดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้ปริมาณไข่ในท้องตลาดสูงจนราคาตกต่ำ แม้ว่าจะมีการส่งออกไปชายในต่างประเทศแต่ราคาที่ขายได้ก็ยังถูกกกว่าราคาต้นทุน

ดังนั้น กลุ่มเกษตรกรเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องเข้ามาให้การช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ทั้งในการควบคุมปริมาณพันธุ์ไก่ไข่ และการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น การลดราคาอาหารสัตว์หรือการชดเชยส่วนต่างราคาให้กับเกษตรกร เพราะหากไม่มีการช่วยเหลือแล้วในระยะยาวเกษตรกรรายย่อยจะไม่สามารถแข่งขันในท้องตลาดได้ และจะเหลือแต่เพียงผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น