ก๊วน 40 ส.ว.นำทีมล่าชื่อ 81 สมาชิกยื่นประธานวุฒิสภา ขอเปิดอภิปรายไม่ลงมติ ให้ ครม.แจงจำนำข้าว “ส.ว.ไพบูลย์” หวั่นทำหนี้สาธารณะสูงกระทบเศรษฐกิจโดยรวม ด้าน ส.ว.เพชรบุรี จวกรัฐเมินเสียงท้วงติง ขณะที่ “นิคม” คาดได้ซักเดือนนี้วันจันทร์ ทางฝั่ง ปธ.กมธ.ศก.วุฒิฯ แนะช่วยชาวนาที่มีไร่น้อย
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.15 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำ 40 ส.ว. พร้อมด้วยเพื่อน ส.ว.ได้รวบรวมรายชื่อ ส.ว.จำนวน 81 คนเข้ายื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอเสนอญัตติให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ในคราวประชุมสมัยสามัญทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหากรณีการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดด้วย งบประมาณ 4.05 แสนล้านบาท โดยนายไพบูลย์กล่าวว่า ตามที่ ครม.เห็นชอบมาตรการโครงการรับจำนำข้าว ปี 2555-2556 โดยใช้งบประมาณ 4.05 แสนล้านบาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ต.ค. รัฐบาลอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กู้เงินเพิ่มจาก 105,910 เป็น 120,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับภาระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมด ขณะที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กลับมองว่าจะเป็นการเพิ่มตัวเลขหนี้สาธารณะของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 43 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีแล้ว และหากการที่รัฐบาลมีแผนเตรียมกู้เงินอีก 2.7 ล้านล้านบาท อาจจะยิ่งเพิ่มตัวเลขหนี้ระดับเพดานสูง ซึ่งหากไม่เร่งแก้ปัญหาในเวลาอันรวดเร็วอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทาง ส.ว.จึงต้องการให้มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ว.ร่วมแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะแก่คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ทันในสมัยประชุมนี้
น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ส่งผลกระทบต่อหลายเรื่อง ทั้งเป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ตลาดข้าว ที่ร้ายไปกว่านั้นรัฐบาลไม่ยอมรับฟังเสียงทักท้วงของผู้ที่ออกมาท้วงติง ทั้งกลุ่มคณาจารย์สถาบันบัณฑิตย์พัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และฝ่ายต่างๆ รวมถึงพวกเราไม่ได้คัดค้านเรื่องนี้ เพียงแต่อยากขอให้รัฐบาลทบทวน เพื่อให้เกิดความรอบคอบและถูกต้อง แต่รัฐบาลก็ไม่ฟังจะเดินหน้าอย่างเดียว เราไม่ได้เป็นศัตรูกับชาวนา เราไม่ได้ไปขัดขวางไม่ให้ชาวนามีรายได้มากขึ้น แต่รัฐบาลเองกลับจะให้เราไปชนกับชาวนา
ด้าน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า จากนี้จะได้มีการประสานกับเลขาธิการวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดวันอภิปรายทั่วไป ซึ่งคาดว่าน่าจะภายในเดือน ต.ค.นี้ ส่วนจะมีการอภิปรายกี่วันนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกที่จะขออภิปรายด้วย หากผู้ขออภิปรายมีจำนวนมากจะใช้เวลา 2 วัน แต่ถ้ามีผู้อภิปรายจำนวนน้อยจะใช้เวลาเพียง 1 วัน โดยคาดว่าน่าจะประชุมเป็นวันจันทร์ หลีกเลี่ยงวันประชุม ครม. เพื่อที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้มารับฟังและชี้แจงได้อย่างเต็มที่
ขณะที่ นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น ในฐานะประธานกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลดำเนินการมาครบ 1 ปีแล้ว ถึงแม้จะเป็นโครงการที่ดี ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา และราคาข้าวไทย แต่ที่ผ่านมายังมีข้อบกพร่องที่คิดว่ารัฐบาลควรต้องปรับปรุงเพื่อปิดช่องทางการทุจริต เนื่องจากใกล้เข้าสู่โครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลใหม่ปี 2556 แล้ว จึงอยากเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการสวมสิทธิ์ การบริหารสต๊อกข้าว รวมถึงกำหนดวิธีการช่วยชานาที่ยากจนจริงๆ เท่านั้น เช่น การกำหนดให้ชาวนาที่มีที่นาไม่เกิน 6-20 ไร่ จึงจะสามารถจำนำข้าวได้ตามเปอร์เซ็นต์ของราคาประกัน เหมือนกับที่ห้างร้านสรรพสินค้าจำกัดจำนวนการซื้อน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้เพราะคุณภาพข้าวไทยยังดีกว่าของเวียดนาม อินเดีย ฯลฯ จึงควรขายได้ราคาสูงกว่า และเมื่อราคาข้าวตลาดโลกสูงขึ้นก็จะเกิดประโยชน์ต่อชาวนาด้วยที่สามารถไถ่ถอนข้าวคืนเพื่อไปขายในราคาสูง ทำให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้น ไม่ต้องถูกกดขี่จากพ่อค้าคนกลางอีก
“การแก้ปัญหารับจำนำข้าวล็อตใหม่ รัฐบาลต้องจัดการเรื่องควบคุมคุณภาพข้าว โดยเมื่อรับจำนำมาแล้วให้รีบนำไปอบแห้ง ลดความชื้นของข้าวตามมาตรฐานทันที เพื่อป้องกันการเสื่อมคุณภาพข้าว และการใส่บรรจุภัณฑ์ ติดบาร์โค้ดด้วยระบบ 2D ก็จะช่วยในการคัดแยกข้าว ป้องกันข้าวใหม่ผสมข้าวเก่า และสะดวกต่อการบริหารสต็อกข้าวที่ง่ายขึ้น รวมถึงควรส่งเสริมชาวนาใช้ปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ แทนปุ๋ยเคมี เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มอัตราการขยายตัวตลาดเกษตรอินทรีย์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 10-15 ต่อปี ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มฐานตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและเน้นสุขภาพให้กับข้าวไทย” นายประเสริฐกล่าว