ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เมื่อต้นสัปดาห์ “พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) เป็นประธานประชุมสัมมนาโครงการเครือข่ายภาคประชาชนระดับจังหวัด ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เรื่อ “พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม” และ “พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย”
ระบุว่าขณะนี้พบว่ามีธนาคารรายงานธุรกรรมต้องสงสัยรับจ้างเปิดบัญชีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่ออาชญากรรมทางการเงินให้มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยพบว่าพื้นที่ภาคเหนือมีการรับจ้างเปิดบัญชีมากที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่
คาดว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หลังจากออกกฎหมาย จะเชิญสถาบันการเงินเข้าร่วมประชุมทำความเข้าใจเพื่อให้ทันการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน หรือ เอฟเอทีเอฟ
ล่าสุดพบว่า มีธนาคารรายงานการทำธุรกรรมต้องสงสัยเข้ามายังป.ป.ง.อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธนาคารใหญ่สามารถตรวจสอบพบ 2,000-3,000บัญชี
อีกด้าน“กลุ่มรณรงค์สร้างความโปร่งใสทางการเงิน” ที่ชื่อว่า โกลบัล ไฟแนเชียล อินทิกริตี้ (จีเอฟไอ) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน เปิดเผยในรายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ ที่17 ธ.ค.
จีเอฟไอ มองว่า ปัญหาธุรกรรมการเงินที่ผิดกฎหมายและหลบเลี่ยงกฎหมายทำให้ประเทศพัฒนาสูญเสียรายได้เป็นมูลค่าถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 180 ล้านล้านบาท เฉพาะจีนประเทศเดียวมีส่วนพัวพันนำเงินไปซุกซ่อนฝากไว้ตามธนาคารชาติตะวันตก และหลบเลี่ยงภาษีเป็นจำนวนกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ จากจำนวนทั้งหมด 858.8 แสนล้านดอลลาร์ที่ไหลไปฝากอยู่ตามสถาบันการเงินต่างๆ ในปี 2554
จากรายชื่อทั้งหมด 143 ประเทศ ไทยติดอยู่อันดับไม่น้อยหน้าใครในเรื่องฉาว คืออันดับที่ 13 ด้วยมูลค่าเงินฉาวสะสม 10 ปีสูงถึง 6,426 ล้านดอลลาร์ แต่ไทยยังมีปัญหาน้อยกว่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันที่ติด 10 อันดับประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่น และแอบขนเงินไปซุกต่างประเทศเพื่อหลบเลี่ยงภาษี
ส่วนท็อปเทนประเทศที่เหลือได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย ไนจีเรีย อินเดีย และสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์
จีไอเอฟ ยังเรียกร้องผู้นำทั่วโลกให้เร่งดำเนินการเร่งสกัดเงินนอกกฎหมาย โดยจำกัดการเปิดบัญชีลับของธนาคาร และการถือหุ้นผ่านนอมินี การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอากร และกฎระเบียบด้านการค้า เพื่อป้องกันไม่ให้นำเงินผิดกฎหมายไปฟอกโดยใช้โอนชำระพื่อนำเข้าสินค้าและส่งออก กำหนดให้บริษัทข้ามชาติรายงานผลประกอบการแยกเป็นรายประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษี และบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินอย่างเข้มงวด
เรื่องนี้ทำเอา พ.ต.อ.สีหนาท ในฐานะ เลขาธิการป.ป.ง. ต้องอกมาสวนทันควัน ระบุว่าในส่วนของป.ป.ง.เอง มีการทำรายงานประเมินความเสี่ยงในประเทศไทย เรื่องการฟอกเงิน ซึ่งจะเสร็จในเร็วๆนี้
ยังไม่พบตัวเลขจำนวนเงินที่เสี่ยงฟอกเงินมากถึงขนาด 6,400 ล้านดอลล่าร์
โดยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐ พบเฉลี่ยเพียง ร้อยละ 1 บวกลบจีดีพีของประเทศ
เลขาธิการปปง.ไทย ย้ำว่า ข้อมูลจีเอฟไอไม่มีที่มา ไม่พบว่า ใช้ข้อมูลใดมาวิเคราะห์จัดลำดับ เพราะในส่วนของปปง.ไทย จะยึดข้อมูลการฟอกเงินตามความผิดมูลฐานกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งมี 7 มูลฐาน ขณะที่ สากลจะมองความผิดฟอกเงิน ตามความผิดอาญาทุกประเภท จึงทำให้มีมูลค่าการฟอกเงินสูง
ดังนั้น เชื่อว่าการถูกจัดลำดับที่ 13 ประเทศเสี่ยงฟอกเงินสูง จะไม่กระทบกับความพยายามของป.ป.ง.ไทย ที่ขอให้คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ถอนชื่อออกจากบัญชีประเทศเสี่ยงฟอกเงิน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดการฟอกเงิน โดยเฉพาะเงินสนับสนุนการก่อการร้าย เพราะ FATF ต้องการให้ไทยมีการแก้กฎหมาย ป้องกันการปราบปรามและการฟอกเงิน และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
ก่อนหน้านั้น ป.ป.ง.เปิดข้อมูลการทำงานร่วมกันระหว่าง ป.ป.ง.กับกรมศุลกากรที่ตรวจสอบการขนเงินเข้า-และออกผ่านด่านศุลกากรทั่วประเทศ ตามกฏหมายที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ผ่านด่านเข้าออกประเทศพกเงินสดติดตัวได้ไม่เกิน 20,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐนั้น พบว่าช่วงปี2551-ปัจจุบัน เป็นรายการขนเงินทั้งเข้าและออกรวมกัน 14,470 ครั้ง โดยแยกเป็นยอดขนเงินเข้ารวม 193,327 ล้านบาท ยอดขนเงินออกรวม 345,437 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ขนออกมากกว่าขนเข้าประมาณครึ่งหนึ่ง
เรื่องนี้ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตอกย้ำถึงปัญหานี้ว่า จาก กรณีที่นายเรย์มอนด์ เบเกอร์ ประธานองค์การเพื่อความซื่อสัตย์ มั่นคงทางการเงินแห่งโลก (จีเอฟไอ) ยืนยันว่าได้มีเงินสกปรกไหลออกจากประเทศต่างๆ ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วรวมถึง เกาะต่างๆ ที่เป็นสวรรค์แห่งการฟอกเงิน
ซึ่ง 1 ในเกาะที่อยู่ในรายงานของจีเอฟไอคือ หมู่เกาะที่เคยมีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าไปเกี่ยวข้อง พร้อมระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 13 โดยเงินที่ไหลออกมาจากการก่ออาชญากรรม การเลี่ยงภาษี และการทุจริตคอรัปชัน โดยรายงานตั้งแต่ปี 2543-2553 เงินสกปรกเหล่านี้ ไหลออกปีละ 199,206 ล้านบาท รวม 10 ปี เป็นจำนวน 1,992 ล้านล้านบาท
เขาเห็นว่า ทั้งนี้ เงินสกปรกจะดำเนินการโดยใครก็ตาม แต่เงินที่ทุจริตของนักการเมืองต้องยอมรับว่า เกิดจากนักการเมืองที่เลวร่วมมือกับข้าราชการที่มีโอกาสโกงกินกอบโกยไปแล้ว ก็จะนำกลับประเทศเพื่อยึดอำนาจกลับมาสู่มือตัวเองได้ภายหลัง จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีให้เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตใน 3 เรื่อง คือ
1.นายกฯและรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในครม. ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในความซื่อสัตย์สุจริต
2.หากพบว่ามีการทุจริตหรือส่อทุจริตก็ต้องจัดการกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่าง หากเป็นคนในรัฐบาล แม้ทางกฎหมายจะเอาผิดในทางกฎหมายไม่ได้ นายกฯก็ต้องจัดการในเชิงบริหาร
3.ขจัดเงื่อนไขและอุปสรรคในการป้องกันและปราบปราบการทุจริตคอรัปชัน โดยนายกฯ จะต้องมองว่าเป็นปัญหาที่ประเทศจะต้องแก้ไข.
ประเด็นนี้กลับไปดูนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ประกาศเอาไว้เมื่อ เดือนพฤษภาคม 2555 นายกฯทำการ “เปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น”
กรกฎาคม พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
ในสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ และสำนักงานปลัดกระทรวงทุกกระทรวง และให้รองปลัดสำนักนายกฯ และรองปลัดกระทรวงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นอีกตำแหน่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตในส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง โดยให้รองหัวหน้าส่วนราชการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอรัปชันอีกตำแหน่งหนึ่ง
ปีหน้า 2556 หวังว่า “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น”ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในทุกกระทรวง จะเห็นผล