กรุงเทพโพลล์สำรวจพบคนกรุงเทพฯ 88% เห็นว่าความรุนแรงของการคอร์รัปชันในรัฐบาล “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เช่นเดียวกับ 64% เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุจริตค่อนข้างน้อย ขยาดประชานิยมของรัฐบาล 79% ระบุไม่ต้องการหากมาพร้อมกับกับการคอร์รัปชัน ขณะที่ “นายกฯ ปู” มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์มากสุด ตามมาด้วย “ชวน-มาร์ค”
จากการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับการมีภาพลักษณ์ความโปร่งใสขององค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล หรือ Transparency International ประจำปี 2012 อยู่อันดับที่ 88 จากการสำรวจทั้งหมด 176 ประเทศทั่วโลก และเนื่องในวันที่ 9 ธันวาคมที่จะถึงนี้เป็นวันต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันสากล ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความเห็นของคนกรุงต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,039 คน พบว่า
คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 88.0 เห็นว่าระดับความรุนแรงของการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย อยู่ในระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 12.0 เห็นว่าอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด โดยเมื่อถามต่อว่า ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมไทยมีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในปัจจุบัน ร้อยละ 62.9 ระบุว่า คือนักการเมืองระดับชาติ (ส.ส., ส.ว.) รองลงมาร้อยละ 57.5 ระบุว่านักการเมืองท้องถิ่น (อบต., อบจ., ส.ก., ส.ข.) และร้อยละ 50.1 ระบุว่าตัวกฎหมายมีช่องโหว่ล้าสมัย
ส่วนความเห็นต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 64.2 เห็นว่าให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 35.8 ให้ความสำคัญค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าพอใจต่อการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลชุดปัจจุบันมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 69.9 พอใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 30.1 พอใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
เมื่อถามว่า “หากการมีนโยบายประชานิยมของรัฐบาลต้องมาพร้อมกับการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ยังต้องการนโยบายดังกล่าวหรือไม่” คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 79.1 ระบุว่าไม่ต้องการ ขณะที่ร้อยละ 20.9 ระบุว่าต้องการ โดยเมื่อถามต่อว่าโครงการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดอันดับแรกคือ โครงการรับจำนำข้าว (ร้อยละ 51.8) รองลงมา คือ โครงการฟื้นฟูภัยพิบัติและบริหารจัดการน้ำ (ร้อยละ 19.3) และโครงการแท็บเล็ต ป.1 (ร้อยละ 8.9)
สุดท้ายเมื่อถามว่า “หากประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ จะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างประเทศมากน้อยเพียงใดหากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 83.7 เห็นว่าค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 16.3 เห็นว่าค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
ส่วนนักการเมืองไทยในปัจจุบันที่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์สุจริตมากที่สุดอันดับแรกคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ร้อยละ 35.0) รองลงมา คือ นายชวน หลีกภัย (ร้อยละ 32.3) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ร้อยละ 14.6)