กรุงเทพโพลล์เผย ปชช.เกินครึ่งมองข้อมูลอภิปรายฝ่ายค้านไม่เด็ด ส่วนความน่าเชื่อถือยังสูสี ส่วนใหญ่ตามเป็นช่วงๆ ชี้ รมต.แจงไม่ชัด “เหลิม” แถสุด ติง “ปูนิ่ม” ควรแจงเอง ชม ปธ.สภาฯ ทำดีสุด ส่วนมากคิดว่าอภิปรายได้ประโยชน์ปานกลาง
วันนี้ (29 พ.ย.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,061 คน ในหัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไรต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล” พบว่า ประชาชนร้อยละ 55.7 เห็นว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านที่นำมาอภิปรายฯ ในครั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลเด็ดโดนใจ ขณะที่ร้อยละ 44.3 เห็นว่ามีข้อมูลเด็ดโดนใจ ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 41.8 คิดว่าข้อมูลของฝ่ายค้านที่นำมาอภิปรายฯ นั้นยังไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ขณะที่ร้อยละ 40.7 ระบุว่ามีความน่าเชื่อถือค่อนข้างมาก
ส่วนการติดตามรับชมรับฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า ประชาชนร้อยละ 52.2 ระบุว่าติดตามชมเป็นช่วงๆ เฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ ขณะที่ร้อยละ 40.7 ติดตามจากข่าวที่สื่อต่างๆ นำมาเสนอ และร้อยละ 7.1 ติดตามชมตลอดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
สำหรับความเห็นต่อการตอบข้อซักถามของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 3 คนที่ถูกอภิปรายฯ ในครั้งนี้ว่าสามารถชี้แจงได้ชัดเจน/ตรงประเด็นหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.1 มองว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงไม่ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 37.7 มองว่าชี้แจงชัดเจน ตรงประเด็น, ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 43.0 มองว่ายังชี้แจงไม่ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 34.8 มองว่าชี้แจงชัดเจน นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.3 มองว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กระทรวงกลาโหม ยังชี้แจงไม่ชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 26.5 มองว่าชี้แจงชัดเจนตรงประเด็น และประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 41.7 มองว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย ขณะที่ร้อยละ 22.0 มองว่าชี้แจงชัดเจนตรงประเด็น
นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 44.5 ยังมีความเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีควรจะตอบหรือชี้แจง และรับฟังการอภิปรายฯ ด้วยตนเองให้มากกว่านี้ ขณะที่ร้อยละ 39.2 เห็นว่าตอบหรือชี้แจงและรับฟังการอภิปรายฯ ได้ดีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ประชาชนได้ให้คะแนนการทำหน้าที่ของฝ่ายต่างๆ ในการอภิปรายฯ ครั้งนี้ โดยประชาชนให้คะแนนการทำหน้าที่ของฝ่ายประธานสภามากที่สุดคือได้ 6.14 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือการตอบและชี้แจงของฝ่ายรัฐบาลได้ 6.07 คะแนน และการอภิปรายของฝ่ายค้านได้ 5.67 คะแนน ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าฝ่ายค้านจะมีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูลและยังไม่มีข้อมูลเด็ดโดนใจที่เพียงพอ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็มีปัญหาที่ไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจนและตรงประเด็น
ขณะที่ประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมจะได้รับจากการอภิปรายฯ ในครั้งนี้ ร้อยละ 42.6 ระบุว่าได้รับประโยชน์ปานกลาง ร้อยละ 35.5 ระบุว่าได้รับประโยชน์มาก และร้อยละ 9.8 ได้รับประโยชน์มากที่สุด