กรุงเทพโพลล์ ถามคนทั่วไทย พบ 42.3% อยากเห็นฝ่ายค้านซักฟอกจำนำข้าวมากสุด 47.4% เชื่อไร้ข้อมูลเด็ด 61.4%คาดเสร็จศึกรัฐก็เหมือนเดิม 20.9% ไม่อยากเห็นพวกจ้อหยาบ 41.8% รอดูในทีวีเป็นระยะ
วันนี้ (26 ต.ค.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพลล์ สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,182 คน ในหัวข้อ ประชาชนคิดอย่างไรกับการยื่นเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล พบว่า เรื่องที่ประชาชนต้องการให้ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากที่สุด ร้อยละ 42.3 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ร้อยละ 41.1 สินค้าราคาแพง ร้อยละ 30.4 การบริหารจัดการน้ำ ร้อยละ 30.3 การไซฟ่อนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาทที่เกาะฮ่องกง ร้อยละ 28.7 โครงการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ร้อยละ 28.3 ชายชุดดำที่ปรากฏตัวในการชุมนุมทางการเมือง 53 ร้อยละ 26.7 ภาระหนี้สินของประเทศ ร้อยละ 22.7 โครงการแจกแท็บเล็ตพีซีเด็ก ป.1 และร้อยละ 19.8 โครงการรถยนต์คันแรก
แต่เมื่อถามว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นนี้ ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลเด็ดมาซักฟอกรัฐบาลหรือไม่ ร้อยละ 47.4 คิดว่าไม่มีข้อมูลเด็ด ข้อมูลที่จะอภิปรายคงเป็นเรื่องเดิมที่รู้กันอยู่แล้ว และเชื่อว่าแม้ไม่มีข้อมูลเด็ดแต่ฝ่ายค้านอาจมีข้อมูลดีๆ มาอภิปราย ร้อยละ 19.5 คิดว่ามีข้อมูลเด็ดๆ แน่นอน และ ร้อยละ 33.1 ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ เมื่อถามว่า รัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานหรือไม่ หากข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายฯ ซักฟอกมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ร้อยละ 61.4 คงจะไม่มีการปรับเปลี่ยน เพราะเชื่อมั่นว่านโยบายที่ทำอยู่ ดีอยู่แล้ว ต้องทำตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน กลัวเสียผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง กลัวกระทบกับฐานเสียงทางการเมือง กลัวเสียหน้าเสียชั้นเชิงทางการเมืองแก่ฝ่ายค้าน ขณะที่ ร้อยละ 38.6 คงจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายให้รอบคอบและรัดกุมขึ้น
เมื่อถามถึง เรื่องที่ประชาชนไม่อยากให้เกิดขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้มากที่สุด ร้อยละ 20.9 การพูดจาส่อเสียด หยาบคาย ร้อยละ 19.8 การพูดนอกเรื่อง เลี่ยงไม่ตอบข้อเท็จจริง ร้อยละ 14.4 การไม่เคารพ ไม่ให้เกียรติผู้ทำหน้าที่ประธาน ร้อยละ 12.4 การประท้วงโดยเดินออกจากที่ประชุมสภาฯ (walk out) และ ร้อยละ 12.0 การยกมือประท้วงที่มากเกินไป และเมื่อถามความเห็นต่อการติดตามรับชมการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน ที่คาดว่าจะมีในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ร้อยละ 41.8 จะติดตามชมเป็นช่วงๆ เฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ ร้อยละ 30.6 จะติดตามจากข่าวที่สื่อต่างๆ นำมาเสนอ ร้อยละ 10.2 จะติดตามชมตลอดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยละ 17.4 คงไม่ติดตาม ไม่อยากดู