xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” จี้ “ปู” ยึด ปชต.ต้องเข้าสภา คาดซักฟอก 26 พ.ย.-เตือนซ้ำรอยกรีซหากกู้ไม่ระวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“หัวหน้า ปชป.” ยันอภิปรายไร้ปัญหา ถกวิปรัฐฯ คาดเริ่ม 26 พ.ย. ลงมติ 28 พ.ย. สะกิดนายกฯ เป็นผู้นำประชาธิปไตยต้องรับผิดชอบงานสภา ดักไม่มาเสียหายทั้ง รบ. กระทบยันอนาคต ลั่นเดินหน้าเต็มที่พร้อมฟังเสียง ปชช.ประกอบการไม่ไว้วางใจ - บี้ รบ.ใส่ใจภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค หลังเงินนอกไหลเข้าเอเชีย-ไทยมากขึ้น กลัวเกิดฟองสบู่ และกระทบเศรษฐกิจภาครวม ขออย่าประมาทหากกู้ทำขาดดุลเพิ่ม ปลุกวินัยคลังไม่จำเป็นต้องกู้สุดเพดาน กังวลหนี้สาธารณะพุ่ง แถมเจอะนโยบายเหลว หวั่นเป็นแบบกรีซ


วันนี้ (26 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงอุปสรรคในเรื่องกรอบเวลาว่า ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะคณะกรรมการประสานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้หารือกับวิปรัฐบาลแล้ว คือไม่จำเป็นว่าต้องมีการอภิปรายในวันพุธหรือวันพฤหัสบดี ที่มีการประชุมสภาตามปกติ โดยเบื้องต้นอาจจะเป็นวันจันทร์ที่ 26 พ.ย.และวันอังคารที่ 27 พ.ย. ก่อนจะลงมติในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เพราะนายกฯ ไม่ได้ติดเดินทางไปไหน ทั้งนี้ ได้รับการประสานมาแล้วว่านายกฯ ควรจะต้องอยู่รับฟัง แม้จะมีแผนการเดินทางไปต่างประเทศเกือบทุกสัปดาห์ในเดือน พ.ย. ส่วนจะเป็นการจงใจในการจัดวาระงานเพื่อหลบเลี่ยงการอภิปรายหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบรายละเอียด แต่ถือว่าอย่างไรก็มีการอภิปราย และทางวิปรัฐบาลเองก็รับปากว่าไม่มีปัญหาในการที่จะจัดวันให้ได้ ทั้งนี้มองว่าผู้ที่เป็นนำในรอบประชาธิปไตยต้องมีความรับผิดชอบต่องานสภาตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องมารับฟังและหากถูกอภิปราย ก็ต้องมีหน้าที่ในการมาชี้แจง เพราะถือเป็นกระบวนการสำคัญในการทำงานตามวิถีทางประชาธิปไตย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากนายกฯ ไม่มาฟังการอภิปรายก็คงจะเสียหายทั้งรัฐบาล และจะเสียหายต่อระบบต่อไปในอนาคต ขณะนี้ตนก็ให้เกียรติ วิปรัฐบาล เพราะประธานวิปรัฐบาลเองก็มาคุยกับตน 2 ครั้งแล้ว ยืนยันว่าไม่มีปัญหา ส่วนความพร้อมของพรรคในเรื่องการอภิปรายนั้น ตนยืนยันเป้าหมายเดิมคือ พร้อมตั้งแต่การยื่นญัตติ และระหว่างที่เหลือเวลาอีก 4-5 วันฝ่ายค้านก็ทำงานอยู่

เมื่อถามว่า กรุงเทพโพลล์ออกมารระบุว่าอยากเห็นฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องรับจำนำข้าวกับของแพง ตรงนี้มีข้อมูลเพียงพอหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทางเราก็มีข้อมูล แต่ประเด็นที่จะหยิบมาอภิปรายเราต้องจัดลำดับความสำคัญ เสียงที่ชาวบ้านเรียกร้องมาก็พร้อมที่จะฟังเสียงทุกเสียงว่าความคาดหวังคืออะไร แต่การอภิปรายก็อยู่บนพื้นที่ข้องมูลที่มี ทั้งนี้พร้อมจะรวบรวมข้อมูลเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาน

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรยังกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารโลกเตือนว่าเงินนอกจะไหลเข้าเอเชียมากขึ้นรวมทั้งไทยด้วยหลังจากไหลเข้าฮ่องกงจนเกิดปัญหาว่า สิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน ตัดสินใจลดดอกเบี้ย ก็เท่ากับว่าได้มีการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินในการแก้ปัญหาแล้ว ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลต้องติดตามใกล้ชิดว่าเงินนอกที่ไหลเข้ามาในไทยไปที่ไหนอย่างไร จะทำให้เกิดฟองสบู่หรือไม่ ถ้าเกิดก็ต้องแก้ปัญหา และในขณะนี้มีหลายปัจจัยในโลกที่มีความผันผวนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ตนถึงพยายามเรียกร้องรัฐบาลว่าต้องใส่ใจภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคมากกว่านี้ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการส่งออกก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว และยังมีผลกระทบจากนโยบายภายในประเทศอีกหลายอย่างที่จะกระทบต่อหนี้สาธารณะ ต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เวลาเกิดความผันผวนที่อื่นจะส่งผลต่อไทยด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีความแตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 แต่ก็ไม่ควรประมาทและคิดว่าแบงก์ชาติได้เรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2540 แล้วก็ต้องดูแล ทั้งนี้ สภาพปัญหาในปี 2540 เกิดขึ้นกับภาคเอกชนใช้จ่ายเกินตัว กู้เงินแล้วไม่สามารถสร้างรายได้ได้ ปัญหานี้เป็นหน้าที่ของทั้งแบงก์ชาติ และหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจไม่ให้เป็นอย่างนั้นอีก แต่ในวันนี้ความน่ากังวลของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่ภาคเอกชน แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากภาครัฐที่มีความตั้งใจขาดดุล กู้หนี้ยืมสินมาก และยังประกาศแผนกู้เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ขาดดุลเพิ่มเติมอีก หากเกิดปัญหาจริงจะหนักกว่าในปี 40 เพราะเป็นปัญหาคนละแบบ ถ้าไม่ระมัดระวังจะรุนแรงจึงเรียกร้องให้รัฐบาลมีวินัยในเรื่องการเงินการคลัง และยืนยันว่าแนวความคิดที่ว่ากู้ยังไม่ถึงเพดาน 60% ก็ต้องเอาให้ถึงที่สุด โดยไม่สนใจว่าเงินที่ได้มาจะใช้จ่ายแล้วสามารถก่อให้เกิดรายได้หรือไม่ มีการรั่วไหลหรือไม่ ถ้าทำแบบนี้อันตราย

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่หนี้สาธารณะพุ่งถึง 44.89% ในขณะที่ไอเอ็มเอฟเตือนว่าหากจะให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งหนี้สาธารณะไม่ควรเกิน 45% ว่า ระดับหนี้สาธารณะ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ยังอยู่ในวิสัยที่จัดการได้ แต่ปัญหาคือรัฐบาลแสดงเจตนาว่าในขณะที่หนี้สาธารณะใกล้แตะ 45% ก็ยังมีความคิดออกกฎหมายกู้เงินพิเศษ 2 ล้านล้าน ซึ่งจะกระทบมากถ้ากู้จริงก็จะทำให้หนี้สาธารณะเกิน 50% ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น เพราะยังมีหนี้ที่ไม่อยู่ในบัญชีจากนโยบายของรัฐบาล เช่น การให้ธนาคารของรัฐออกเงินไปก่อน รวมทั้งการขาดทุนจาการจำนำข้าว ในขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็แทบจะไม่มีบทบาทชี้ภาพเศรษฐกิจโดยรวมเลยว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ดังนั้นหากไม่ระมัดระวังประเทศไทยก็กำลังเดินตามรอยประเทศกรีซ แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ถึงจุดนั้นแต่รัฐบาลไม่ควรประมาท รัฐบาลต้องอธิบายให้ชัดว่าทำไมถึงมีแนวความคิดเพิ่มการกู้เงิน

กำลังโหลดความคิดเห็น