กรุงเทพโพลล์สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ พบส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าไม่ค่อยสดใส จะปรับตัวแย่ลงจากปัญหาการส่งออก
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 67 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 5-12 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 45.18 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 เป็นครั้งที่สี่ติดต่อกันนับจากการสำรวจในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะอ่อนแออย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี โดยสถานะเศรษฐกิจที่อ่อนแอดังกล่าวเป็นผลมาจากปัจจัยการส่งออกเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับเดือนปัจจุบันที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการส่งออกปรับตัวลดลงถึง 12.41 จุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า ค่าดัชนีรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อยเพียง 0.39 จุด ซึ่งได้รับผลดีจากการบริโภคภาคเอกชนจึงช่วยให้ดัชนีไม่ปรับตัวลดลงมาก
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 47.18 และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 48.80 หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวแย่ลงเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน โดยปัจจัยฉุดรั้งทางเศรษฐกิจที่สำคัญใน 3-6 เดือนข้างหน้าคือ การส่งออกสินค้า และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ปัจจัยการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 และมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ไม่ค่อยจะสดใส ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้