“กรุงเทพโพลล์” สำรวจพบนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 57% ห่วงทุจริตการใช้งบประมาณ รองลงมากังวลกับการใช้เงินไปกับโครงการประชานิยม ขณะเดียวกัน 51% สนับสนุนให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้เงินงบณเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ มากกว่าการลดหนี้สาธารณะ
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556” ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯในวันที่ 15-17 ส.ค.นี้ พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 40.6 เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ประมาณการไว้ที่ จำนวน 2,197,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากปีก่อน ขณะที่ร้อยละ 39.1 เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้
ส่วนการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลจำนวน 300,000 ล้านบาทนั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 39.1 เห็นว่าน่าจะขาดดุลในจำนวนเงินที่ต่ำกว่านี้ ขณะที่ร้อยละ 35.9 เห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับงบลงทุนจำนวน 448,938.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของวงเงินงบประมาณ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 40.6 เห็นว่า สัดส่วนงบลงทุนต่อจีดีพีน่าจะสูงกว่านี้ โดยควรอยู่ที่ระดับร้อยละ 23.4 ของวงเงินงบประมาณรวม ขณะที่ร้อยละ 32.8 เห็นว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว
สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลมากที่สุดเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ คือ การทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 57.8 การใช้งบประมาณในโครงการประชานิยม ร้อยละ 20.3 และความไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เงินงบประมาณ ร้อยละ 12.5 สุดท้ายเมื่อถามว่าระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกับความจำเป็นในการใช้เงินงบประมาณ อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน ณ สถานการณ์และบริบทปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเห็นร้อยละ 51.6 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ มากกว่าการลดหนี้สาธารณะ
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังได้ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ไว้ดังนี้ อันดับ 1 รัฐบาลควรคำนึงถึงประสิทธิภาพของการใช้เงิน มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
อันดับ 2 รัฐบาลควรใช้งบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาการศึกษา มีการกระจายงบประมาณลงไปยังท้องถิ่นให้มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำรวมถึงช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุปสงค์ภายในประเทศด้วย อันดับ 3 รัฐบาลควรเร่งทำงบประมาณให้มีความสมดุล บริหารจัดการสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี รวมถึงไม่ควรก่อหนี้มาใช้ในโครงการประชานิยม แต่ควรก่อหนี้มาใช้ในโครงการลงทุน