xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์คาดปี 56 ศก.ไทยโต 4.6% แนะรัฐบาลลดประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรุงเทพโพลล์ สำรวจนักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจไทยปี 56 โต 4.6% การส่งออกขยาย 6.8% เงินเฟ้ออยู่ที่ 3.4% คาดแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.50% ชี้เศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 พร้อมแนะรัฐบาลลดนโยบายประชานิยม จำนำข้าว เพื่อช่วยลดหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 35 แห่ง จำนวน 73 คน เรื่อง “คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2556” โดยเก็บข้อมูลระหว่าง วันที่ 6-13 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.3 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ราคาน้ำมันดิบ(WTI) จะอยู่ที่ 99.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 3.4

ในส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 31.5 เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2.75 ไปสู่ระดับร้อยละ 2.50 ภายในสิ้นปี 2556 ส่วนค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ 30.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 6.8 ด้านการเคลื่อนไหวค่าเฉลี่ยของ SET Index นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าอยู่ในระดับ ร้อยละ 45.2 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2555 และโดยจุดสูงสุดของปี 2556 จะอยู่ที่ 1,400 จุด

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2556 คือ อันดับ 1 คือ เศรษฐกิจโลกในภาพรวม (ร้อยละ 79.5) อันดับ 2 หนี้สาธารณะของประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มยูโรโซน (ร้อยละ 69.9) อันดับ 3 ปัญหาการเมือง/การชุมนุมประท้วง/เสถียรภาพของรัฐบาล (ร้อยละ 64.4)

สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาล/หน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจปี 2556 คือ 1. ลดการดำเนินนโยบายประชานิยม ลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการคลังมากขึ้น

2. เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในโครงการต่างๆ รวมถึงโครงการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ AEC มีการเบิกจ่ายเงินที่เป็นไปตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ มีการพัฒนาการศึกษา สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

3. มีการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่สอดประสานกัน โดยเห็นว่าควรดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ควรมีมาตรการควบคุมฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงควรมีแผนสำรองเพื่อรองรับวิกฤติ (shock) ที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น