xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กู้คู่กับโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กู้ (หนี้)จนได้รับฉายาว่ารัฐบาล"เลดี้ กูกู้"

และขณะนี้รัฐบาลก็กำลังจะออก พ.ร.บ.กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 2 ล้านล้านบาท ตามที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง เป็นผู้ชงเรื่อง หลังจากที่บริหารการเงิน การคลังมาปีเศษ ได้ก่อหนี้ใหม่ ไปแล้ว 1.76 ล้านล้านบาท จำนวนนี้ไม่เกี่ยวกับหนี้ที่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อไว้แล้ว 1.23 ล้านบาท

เรื่องนี้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้ทำการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 67 คน จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง ว่าจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องออก พ.ร.บ. กู้เงินอีก 2 ล้านล้านเพื่อมาลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน

ปรากฏว่า ความเห็นส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่าง คือ ร้อยละ 58.2 เห็นว่า ประเทศไทยมีความจำเป็น ที่จะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมาร้อยละ 35.8 เห็นว่าค่อนข้าง จำเป็น และมีเพียงร้อยละ 6.0 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นเลย

ต่อคำถามที่ว่า งบลงทุนที่รัฐบาลใช้ในปัจจุบัน มีเพียงพอกับความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่ ร้อยละ 46.3 เห็นว่า มีไม่เพียงพอ ขณะที่ ร้อยละ 35.8 เห็นว่ามีเพียงพอแล้ว

แต่เมื่อถามว่า โครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีความพร้อมแค่ไหน กับการขอใช้เงินที่จะกู็ครั้งนี้ ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 79.1 เห็นว่า โครงการต่างๆที่จะดำเนินการ ส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม มีแค่ ร้อยละ 10.4 เท่านั้น ที่เห็นว่าโครงการต่างๆ มีความพร้อม

สำหรับความรู้สึกกังวลในปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากการออกพ.ร.บ. ฉบับนี้ ปรากฏว่า ร้อยละ 68.6 บอกว่า กังวลมากถึงมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 28.4 บอกว่า กังวลน้อย ถึงน้อยที่สุด

คราวนี้เมื่อให้เปรียบเทียบปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ โดยใช้เงินจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้กับ ความจำเป็นในการออกพ.ร.บ. เพื่อนำเงินกู้มาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ปรากฏว่า นักเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 44.8 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการทุจริตคอร์รัปชันมากกว่า จึงไม่ควรออกกฏหมายฉบับนี้ ขณะที่ ร้อยละ 41.8 เห็นว่าควรให้ความสำคัญ กับการกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า จึงควรออกกฏหมายฉบับนี้

ผลสำรวจครั้งนี้พอจะสรุปได้ว่า โดยหลักการแล้วนักเศรษฐศาสตร์ เห็นว่าเราควรมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

แต่เมื่อดูลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว เห็นว่ายังไม่มีหน่วยงานไหนที่มีความพร้อมที่จะใช้เงินกู้จำนวนนี้ เข้าลักษณะยังไม่มีแผนการใช้เงินว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ก็ขอกู้ไว้ก่อน

ปัญหาที่อยู่คู่กับการใช้เงินงบประมาณคือการทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ เชื่อว่าจะต้องมีการคอร์รัปชันแน่ๆ จึงสะท้อนความเห็นออกมาว่า เป็นห่วงเรื่องการโกงกินมากกว่า การกู้มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

นี่แหละรัฐบาลประเทศไทย ที่ชอบอ้างประชาธิไตย แต่ไม่ยอมรับการตรวจสอบ ความเห็นจากผลสำรวจที่ออกมา คนส่วนใหญ่เขาจึงกลัวเรื่องโกงกิน!!


กำลังโหลดความคิดเห็น