xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รวม“วัฒนธรรม-ท่องเที่ยว” ถาม“ชาติไทยพัฒนา”หรือยัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สนธยา คุณปลื้ม
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลังจากปี 2544 กว่า 12 ปี ที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ออกพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2544 มีการเสนอควบรวมกระทรวง ทบวง กรม หลายแห่งมาจนถึงปัจจุบัน

หลายสัปดาห์ก่อนนี้มี มติคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.....(โอนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปรวมกับกรมป่าไม้) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

เรื่องนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรหรือวิปรัฐบาลกำลังพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบ

เรื่องนี้ ไม่ต้องผ่านความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

อีกเรื่อง ครม.ชุดเดียวกัน เห็นชอบให้มีการควบรวมและโอนกิจการโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน(องค์การมหาชน) อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ จากสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาอยู่ด้วยกันเพื่อบริหารจัดการร่วมกัน

กำหนด “ร่างพ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)พ.ศ. .....” จัดตั้ง “สำนักงานพัฒนาพิงคนคร” โดยจะมีคนในพื้นที่ดูแล เงินเดือนสูงกว่า4 แสนบาท และจะมีการเปิดตัวในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ที่จ.เชียงใหม่

2 มติครม.ถือเป็น การเดินหน้า “ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม”เป็นเรื่องแรกๆของรัฐบาลชุดนี้

วันก่อน “นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า ตลอดการบริหารงานของรัฐบาล 1 ปีที่ผ่านมา มีหลายส่วน “กระทรวง ทบวง กรม” ที่ต้องปรับปรุง

รัฐบาลกำลังมีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้างภาพรวมทั้งหมด ซึ่งต้องสอบถามความคิดเห็นจากทุกกระทรวงก่อน สำหรับการปรับโครงสร้าง นายกรัฐมนตรี ต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตามความเหมาะสม และค่อยเป็นค่อยไป

คาดว่าในปี 2556 จะนำเรื่องการปรับโครงสร้างมาหารือกับนายกรัฐมนตรี

เรื่องนี้มีการหยิบยกถึงกรณีที่ “นายสนธยา คุณปลื้ม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จากพรรคพลังชล

ที่โฆษกบนเวทีมวยไทยไฟว์ ประกาศว่าเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา”คนที่1

ออกมาเสนอแนวคิดปรับโครงสร้างรวมกระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดตั้งเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

เขา ระบุว่า จากการที่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม ได้เสนอแนวคิดในการปรับโครงสร้างระบบราชการ ในส่วนของ วธ. เนื่องจากดำเนินงานมาถึง 10 ปี แล้ว เห็นปัญหาหลายด้านของการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

โดยตนเห็นว่า น่าจะมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยรวม วธ. เข้ากับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เนื่องจากภารกิจของงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวควรจะไปด้วยกัน โดยเสนอให้จัดตั้งเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

ส่วนเรื่องกีฬา ก็ควรมีการปรับแยกเป็นอีกกระทรวงหนึ่ง เพื่อให้มีการบริหารงานที่คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

คิดว่างานวัฒนธรรมและท่องเที่ยวต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ทั้งมิติทางด้านสืบสาน อนุรักษ์ การสร้างสรรค์ และสร้างเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว จึงเห็นว่าควรน่าจะอยู่รวมกันแบบถูกฝาถูกตัว เพราะงานท่องเที่ยวที่ประเทศไทยนำไปทำการตลาดในปัจจุบัน ล้วนมีแต่ใช้มิติวัฒนธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าอยู่ในที่เดียวกัน การกำหนดเป้าหมาย การกำหนดตลาด และสัดส่วนของการท่องเที่ยว ก็จะอยู่รวมกันที่เดียวกัน ไม่ต้องแยกส่วน สำหรับภารกิจด้านกีฬา เยาวชน และกิจกรรมต่างๆ ทางด้านกีฬา ก็ควรแยกออกไปต่างหาก เพื่อให้เกิดการทำงานที่ส่งเสริมเฉพาะด้าน

“ผมได้เสนอในแนวคิดหลักการเบื้องต้นแล้วและผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ก็ยอมรับว่า มิติการท่องเที่ยวต้องไปด้วยกันกับวัฒนธรรม ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานของ 2 กระทรวงเข้าด้วยกัน เหมือนกับการที่การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ก็จะต้องมีหน่วยงานบริหารงานโดยตรง เพื่อให้ภารกิจเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รมว.วัฒนธรรม กล่าว.

ส่วน “นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เห็นว่าหากมีการยุบรวมวัฒนธรรมกับท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน คนวัฒนธรรมจะดีใจมาก กระทรวงท่องเที่ยวฯจะได้ทำงานที่กว้างขวางขึ้น

เหมือนกับต่างประเทศที่มีการนำเนื้องานวัฒนธรรมกับท่องเที่ยวเอาไว้ด้วยกัน เช่น มาเลเซีย เกาหลี และเห็นว่า การยุบรวมระหว่าง 2 กระทรวงนี้คงไม่มีข้อเสียอะไร เพราะวัฒนธรรมมีทั้งเรื่องการอนุรักษ์ ถ่ายทอด และเผยแพร่ งานท่องเที่ยวคืองานเผยแพร่ ส่งเสริมเป็นส่วนหนึ่งของงานวัฒนธรรม ช่วยให้มีผลิตภัณฑ์สินค้าขายมีรายได้ ชุมชนก็อยู่ได้ ไม่ใช่การลดบทบาทวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมด้วยซ้ำ” นางปริศนา กล่าว

ขณะที่ภาคเอกชน “นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตตา) ก็มีความเห็นสอดคล้องกับแนวคิดของนายสนธยา เพราะมีลักษณะงานที่ส่งเสริมการขายร่วมกันได้ทั้งโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของไทย

เมื่อมีคนเห็นด้วย “นายนิวัฒน์ธำรง” ที่กำกับดูแล กพร. ก็ส่งเรื่องไปยัง นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เพื่อศึกษาเรื่องนี้แล้ว!

แถมยอดความตัวเห็นว่า ทั้งสองกระทรวงได้ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่เรื่องการท่องเที่ยวไทย ไม่ได้มีเพียงด้านวัฒนธรรม และศาสนาเท่านั้น ยังมีเรื่องธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องศึกษาความเป็นไปได้อย่างละเอียด

เมื่อมีคนเห็นด้วยก็ย่อมต้องมีคนออกมาคัดค้าน

“นายวัชระ กรรณิการ์” โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พ่วงโฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาตอบโต้เรื่องนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องรวมและแยกงานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากับกระทรวงวัฒนธรรม เพราะที่ผ่านมามองว่าผลงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำผลงานโดดเด่นติดอันดับต้นๆ อยู่แล้ว สามารถใช้การกีฬากระตุ้นการท่องเที่ยวได้มาก ที่สำคัญมองว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ส่วนกระทรวงวัฒนธรรม เป็นงานด้านสังคมแทบจะรวมกันไม่ได้เลย

ทั้งนี้ มองว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีภารกิจสำคัญเป็นแกนหลักผลักดันรายได้ท่องเที่ยว 2ล้านล้านบาทตามนโยบายของรัฐบาล และที่ผ่านมาหากงานด้านใดต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ได้มีการทำงานอย่างบูรณาการอยู่แล้ว ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม หากมีงานด้านใดเกี่ยวกับด้านท่องเที่ยวจะให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ช่วยเหลือ สามารถบอกได้ ในขณะเดียวกันหากกระทรวงการท่องเที่ยวมีภารกิจที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ขอให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมมือด้วย น่าจะเป็นสิ่งจำเป็นกว่าการควบรวม และอยากฝากไปถึงทุกกระทรวงว่า หากมีปัญหาใดๆ ที่ต้องแก้ไขร่วมกัน ก็ขอให้เจ้ากระทรวงฯ กรุณาให้ความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ด้วย

“10ปีที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่มีอะไรเลยที่เป็นอุปสรรคใหญ่มากจนไม่สามารถแก้ไขได้ หรือไปหยุดการเติบโต เข้าใจว่ารมว.วัฒนธรรม อาจยังรักในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถือเป็นพระคุณอย่างยิ่ง อยากฝากให้รมว.วัฒนธรรม ไปดูแลเรื่องละครประโลมโลก ไปเต็มที่กับงานด้านวัฒนธรรมดีกว่า”

ล่าสุดประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นการเมือง พรรคการเมืองหวงอำนาจ หวงเก้าอี้กันเสียแล้ว แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ตัวจริง “นายชุมพล ศิลปอาชา” กำลังป่วยอยู่ แต่ระดับแกนนำพรรคหรือจะยอม

“นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่า อยากให้กลับไปดูแนวคิดเริ่มต้นของการตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมัยปรับปรุงพ.ร.บ.กระทรวง ทบวง กรม และนายสนธยาเป็นรมว.วิทยาศาสตร์ฯ เมื่อมีการตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสร็จ นายสนธยาเป็นรมต.ว่าการคนแรก ตนเข้าใจหลักการดีการเอากีฬามารวมท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเป็นผลพลอยได้ทำให้เห็นคุณค่าวัฒนธรรม การท่องเที่ยวมีหลายมิติ ไม่ได้ผูกพันกับมิติใดมิติเดียว และการกีฬาเป็นหนึ่งในการสนับสนุนการท่องเที่ยว เช่น โอลิมปิก เวิลด์เอ๊กซ์โป

ถ้าวันนี้มีแนวคิดเอากระทรวงวัฒนธรรมฯรวมกระทรวงท่องเที่ยวฯจริง ควรมองย้อนอดีตไปดูด้วยว่าแนวคิดแรกที่ตั้งกระทรวงนั้นเป็นอย่างไร คิดถึงประโยชน์ประเทศชาติให้มากกว่า นายสนธยาเป็นรมว.ท่องเที่ยวฯมาก่อน ทำไมเพิ่งมาคิดได้ในวันนี้

แม้ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคฯจะออกค้านเต็มตัว แต่ยังไม่มีเสียงดังๆ จากประธานที่ปรึกษาพรรคตัวจริงเสียงจริง อย่าง “นายบรรหาร ศิลปอาชา”เพราะขนาด พรรคเพื่อไทย โดยนายใหญ่ ช่วงเป็นรจนาเสี่ยงพ่วงมาลัย สั่งขี้ข้า ออกมาประกาศว่า อยากจะดึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับมาบริหารเอง ก็ถูกประธานที่ปรึกษาฯคนนี้ตะหวาดกลับไป เชื่อเถอะอีกไม่นาน “พลังชล”เจอแน่!

แต่หาก “กลุ่มพลังชล”ย้ายมาอยู่ “เพื่อไทย”เสียงดังๆอาจอ่อนลงซะมั้ง


บรรหาร ศิลปอาชา
กำลังโหลดความคิดเห็น