xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาท่องเที่ยวที่ฝั่งอันดามัน / ประเสริฐ เฟื่องฟู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ เฟื่องฟู
 
ในปัจจุบัน รัฐบาลรู้ดีว่ารายได้หลักของประเทศส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว และมีการย้ำให้ผู้เกี่ยวข้องรักษาภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น และดูแลนักท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ ทั้งอำนวยความสะดวก เฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ถือเป็นวาระแห่งชาติ
 
แต่นโยบายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของรัฐบาลทุกสมัยที่มอบให้จังหวัด หรือท้องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำเนินการนั้นกลับดูเป็นเรื่องตลก มีแต่สั่ง แล้วก็สั่ง แค่ให้ไปดำเนินการตามนโยบายด้านบริการ การดูแลอำนวยความสะดวกเป็นหลัก ส่วนการแก้ปัญหาก็ให้ทำได้แค่ป้องปราม ผ่อนปรนเท่านั้น
 
ดูไปดูมา ปัญหาการท่องเที่ยวแทบทุกเรื่อง ทุกกรณีเหมือนกับรัฐบาลเองนั่นแหละ มีเจตนาก่อให้เกิดปัญหา สร้างปมสร้างเงื่อนไขขึ้นมา การแก้ต้องแก้ที่ตัวรัฐบาลเอง เพราะผู้กำหนดนโยบาย รวมทั้งผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับรัฐ และรัฐเป็นผู้จัดหา ดังนั้น ผู้ดูแลส่วนนี้ต้องมีการคัดเลือกผู้ที่อยู่ในวงการ รอบรู้ช่ำชองเรื่องท่องเที่ยวเป็นอย่างดี
 
ไม่ใช่เอาวัว เอาควายมาเป็นรัฐมนตรี มาคุมงานท่องเที่ยว เอาคางคกไปเป็นรัฐมนตรีเกษตร แทนวัวแทนควาย แล้วบอกว่า รัฐมนตรีเป็นเพียงผู้คุมนโยบาย กำหนดนโยบาย เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในกระทรวงเท่านั้น ใครๆ ก็มาเป็นรัฐมนตรีได้ และอย่างที่ผ่านๆ มา ก็เป็นการจัดให้ตามโควตาของพรรคร่วมรัฐบาล
 


 
ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รัฐบาล หรือรัฐมนตรีก็แค่คอยฟังแต่รายงานจากหน่วยงานสาขาหัวเมือง แล้วหันไปถามกุนซือที่ปรึกษา ซึ่งมีแต่เสือ สิงห์ กระทิง แรด สารพัดสัตว์เขี้ยวลากดิน คอยจ้องแต่จะเอาผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อตัวเอง หรือเพื่อนพ้อง ซึ่งเป็นตัวก่อปัญหาทั้งนั้น
 
ผู้ประกอบการต่างแหกปากผ่านสื่อ สารพัดสื่อ รวมทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ในพื้นที่ บางคนเป็นเจ้าของกิจการท่องเที่ยว หรือเกี่ยวเนื่อง พากันท้วงติง ชี้แนะก็ไม่ฟัง ดื้อหัวชนฝา กลัวเสียเหลี่ยมเสียเชิง เพราะเห็นเป็นพรรคฝ่ายค้าน ต้องเกี่ยง ต้องกันเอาไว้
 
สุดท้ายมันก็มีแต่ปัญหา สารพัดปัญหาหมักหมมอยู่ในพื้นที่ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แก้กันแล้วแก้กันอีก ก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม เพราะพื้นที่ทำได้แค่ขู่ ผ่อนปรน ป้องปรามเท่านั้น ไม่มีอำนาจจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ  แม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเอง ที่เปรียบเป็นพ่อเมืองก็เป็นแค่หุ่นเชิดเท่านั้น แต่อำนาจยังอยู่ที่ส่วนกลาง
 
ครั้นพอรัฐมนตรีลงพื้นที่ไปตรวจราชการแต่ละครั้ง ก็มีที่ปรึกษา หรือกุนซือคอยชี้แนะ จัดฉากวางแผนกันล่วงหน้า มีกำหนดการดูงานแจ้งล่วงหน้าเป็นอาทิตย์เป็นเดือนก่อนเดินทาง บางครั้งพกพาสื่อมวลชน หรือนักข่าวช่างภาพประจำตัวจากส่วนกลางพ่วงติดตัวไปด้วย
 

 
ส่วนในพื้นที่หน่วยงานสาขาในสังกัดก็มีหน้าที่ต้อนรับ แจ้งสื่อมวลชนในท้องถิ่นไปร่วมเพื่อเพิ่มความคึกคัก พร้อมจัดหาบุคลากรผู้ช่ำชองในเรื่องสอพลอร่างคำกล่าวรายงาน แต่บางครั้งผู้กล่าวรายงานดันแหกโผ ไม่อ่านตามรายงาน ทำเอาเจ้าหน้าที่มึนไปเหมือนกัน
 
เล่นเอาอึกอักพอสมควร แต่ระดับรัฐมนตรีสารพัดสัตว์เขี้ยวลากดินเหล่านั้น ก็ทันเกมไปตามน้ำได้สบายๆ ไม่มีจนตรอกง่ายๆ
 
ลองมาดูหน้าที่ที่แท้จริงของผู้ว่าราชการจังหวัด เอาที่เห็นด้วยตา และรับฟังมากับหูจากเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เกษียณไปแล้ว และรุ่นน้องรำพึงรำพัน ส่วนเรื่องที่มันเล่าจะโกหกมดเท็จ ตอแหลตีไข่ใส่สียังไงนั้น ไม่รู้ ไม่เคยเป็นขี้ข้ารัฐบาล ก็ให้ผู้อ่าน และขี้ข้ารัฐบาลวินิจฉัยเอาเอง
 
“บอกมึงตรงๆ หน้าที่กูเหมือนพ่อบ้าน หรือตำแหน่งแม่บ้านนั่นแหละ ค่อยทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือน ดูแลความเรียบร้อย มันก็คนใช้ดีๆ นี่เอง พอสิ้นปีงบประมาณ ก็ของบมาบูรณะซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด สึกหรอ หรือต่อเติมบ้านให้ดูสวยงาม ส่วนไหนที่นายไม่เห็นด้วย ก็ชวดไป อำนาจอย่างอื่นที่เป็นชิ้นเป็นอันไม่มี นอกจากสั่งย้ายข้าราชการเล็กๆ ภายในจังหวัดตามความเหมาะสม และต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาหน่วยงานนั้นๆ ด้วย”
 
นอกจากนั้น ก็เป็นเรื่องของการเซ็นรับทราบ หรือเสนอผ่านไปยังหน่วยงานอื่น หรือถ้าจะอนุมัติก็อยู่ในกรอบจำกัดตามคำสั่งรัฐบาล หรือรัฐมนตรีผู้เป็นนาย บางครั้งอนุมัติแล้ว ไม่มีผลก็มี ชาวบ้านร้องเรียนขอความช่วยเหลือ มีม็อบ หรือมีปัญหาขัดแย้งทำได้แค่เจรจา ออมชอม รับหนังสือ แล้วก็เตะส่งไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่งต่อไปให้รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เป็นหน่วยเหนือ หรือเจ้านายในส่วนกลาง หนังสือที่ยื่นไป ส่งไปถูกนำไปโยนทิ้งที่ไหน ผู้ว่าฯ ไม่มีสิทธิรู้
 
หน่วยงาน หรือส่วนราชการต่างๆ ที่มีอยู่ในจังหวัด ที่ดูเหมือนว่าอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หรืออยู่ในปกครอง แต่ความเป็นจริงก็ได้แค่ดูแล หรือที่ดูเหมือนว่าจะสั่งงานได้ เอาเข้าจริงก็เหมือน “สั่งขี้มูก” ท่าดีทีเหลว อย่างเช่นการสั่งงานตำรวจ เป็นต้น
 
นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้มีการรื้อฟื้นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือ อปพร.อย่างจริงจังในปี 2547 ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอ เป็นมือเป็นตีนของฝ่ายปกครองโดยตรง
 


 
เรื่องโฉนดที่ดินนั้นเซ็นออกให้ได้ ถ้าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเซ็นผ่านมาแล้ว แต่ก็มีสิทธิถูกเพิกถอนได้ ถ้าโฉนด หรือเอกสารสิทธินั้นมิชอบ นายทุน หรือนักล่าที่ดินในปัจจุบันเล่ห์เหลี่ยมมาก เงินหนา ตามกันไม่คอยทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดส่วนใหญ่ถูกสอบ ถูกกล่าวหามาแล้วทั้งนั้น บางคนถูกแจ็กพอร์ตตั้งแต่ยังเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดเสียด้วยซ้ำ
 
นั่นเป็นการบอกเล่าของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ตอนนี้ก็เกษียณไปกินบำเหน็จบำนาญ และประกอบธุรกิจส่วนตัวกับครอบครัว จะจริงแค่ไหนตอแหลแค่ไหน ก็ใช้ดุลพินิจเอาเอง
 
มาดูปัญหาการท่องเที่ยวที่เกิดในภูเก็ต เล่นเอาเถิดกับทางจังหวัดมาหลายยุคหลายสมัย ปัญหาเรือเจ็ตสกี สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้นักท่องเที่ยว ก่อมลพิษเสียงดัง เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนนักท่องเที่ยวขณะเล่นน้ำบาดเจ็บ เจ็ตสกีเสียหาย ก็เรียกร้องเกินความเป็นจริง
 
ทำให้เสียภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของจังหวัดมาหลายปี ผู้ว่าราชการคนแล้วคนเล่า แก้แล้วแก้อีก หลายมาตรการก็แก้ไม่สำเร็จ ทั้งๆ ที่ว่าจะใช้มาตรการเด็ดขาดอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ได้แค่ขู่ พอเอาเข้าจริงก็เหลวอีก ไม่รู้เด็ดขาดยังไง
 
ครั้งแรกจัดแบ่งโซนเจ็ตสกี โซนคนเล่นน้ำทะเล ก็ยังมีการร้องเรียนอีก นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการไม่รู้ เจ้าของเจ็ตสกีไม่ได้บอกรายละเอียดโซนไหนเล่นได้ โชนไหนเล่นไม่ได้ ก็แหกเข้าโซนเล่นน้ำ และเสียงเรือเจ็ตสกีก่อความรำคาญให้กลุ่มที่นอนพักผ่อนอาบแดดตามชายหาดที่ต้องการความสงบ
 
ต่อมา ก็งัดเอามาตรการคุมโควตาเจ็ตสกี ไม่ให้เพิ่มจำนวน พังแล้วพังเลย แต่ไม่ได้ผล ผู้ประกอบการพยายามซ่อม หรือหาเครื่องมาสวม เอาเรือใหม่มาแทน ใช้เล่ห์เหลี่ยมสารพัด จะ 10 ปีแล้ว จำนวนเจ็ตสกีก็ยังเท่าเดิม ไม่ผุพังไม่ร่อยหรอลดจำนวนลง
 


 
แล้วมาล่าสุด ปัญหาเกิดอุบัติเรียกค่าเสียหายเกินความเป็นจริง คือ เมื่อนักท่องเที่ยวเช่าออกไปเล่น เกิดไปเฉี่ยวชนกันเอง ชนหินโสโครก หรือเครื่องเสีย ก็เรียกค่าเสียหายมหาโหด มีปากเสียงกันจนต้องขึ้นโรงพักให้ตำรวจตัดสิน หรือไกล่เกลี่ย มันก็เข้าทาง เมื่อหมูเข้าปากหมา มันก็สบายแฮ
 
เรื่องนี้มีการร้องเรียนมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว โดยอดีตผู้ว่าราชการตั้งคณะทำงานขึ้นมาให้แก้ปัญหา มีผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ประกอบการเอง ซึ่งรวมตัวกันตั้งเป็นชมรมฯ ได้ประชุมหารือกัน ได้ข้อสรุปว่า ให้เรือเจ็ตสกีทำประกันภัย โดยมีบริษัทประกันภัยที่มีตัวแทนสาขาอยู่ในภูเก็ต สามสี่บริษัทหารือไปทางสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ขออนุมัติ กำหนดเงื่อนไขในการทำประกันภัยเจ็ตสกี ลักษณะเดียวกับทำประกันรถยนต์
 
ปีที่แล้วเป็นปีแรก ต่างก็ให้ความร่วมมือ ทยอยกันไปทำประกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดออกสื่อตีเกราะเคาะปี๊บจ้อก้องโลก เจ็ตสกีภูเก็ตมีประกันภัย ต่อไปนี้ไม่มีอีกแล้วเรื่องการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว เรียกค่าเสียหายเกินความเป็นจริง ผ่านไปไม่ทันถึงปีก็เข้าอีหรอบเดิมอีก พอเกิดเหตุ ไม่เรียกไม่เคลมประกัน ช้าไป ตกลงเรียกค่าเสียหายกันเองอีก มีการร้องเรียนมาเหมือนเดิม
 
มาปีนี้ พอหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัย ก็เริ่มงอแง ผู้ประกอบการบางรายโยกโย้ โอ้เอ้ไม่ยอมต่อประกัน จี้กันแล้วจี้กันอีก จนขณะนี้ก็เชื่อว่ามีบางรายเท่าที่รู้เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมาอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 5 รายที่ยังไม่ได้ต่อกรมธรรม์
 
ส่วนเรื่องแท็กซี่ป้ายดำ รถตู้เถื่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ของเมืองท่องเที่ยวทั่วไทย ทั้งที่ บขส. หรือสนามบิน แม้กระทั่งในกรุงเทพฯ ที่สนามบินดอนเมือง จนกระทั่งเลิกใช้สนามบิน ย้ายไปสุวรรณภูมิ แล้วกลับมาใช้กันใหม่ แท็กซี่ป้ายดำก็ยังมีเกลื่อน มีมาเฟียคุมวิน จะเป็นคนในเครื่องแบบ หรือนอกเครื่องแบบ มาเฟีย หรือไม่มาเฟีย ต้องถามเจ้าของท้องที่ 
 

 
นอกจากนั้น ตามโรงแรมใหญ่ติดดาวก็มีเกลื่อน จอดตามหน้าโรงแรม ทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองท่องเที่ยว ทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยเห็นชัดเจนที่เกาะสมุย สุราษฏร์ธานี ฝั่งอันดามันก็ที่ภูเก็ต กระบี่ จะนั่งรถเก่า หรือรถใหม่ยังไงให้บ๋อยโรงแรมเรียกให้ได้เลย ราคาหายห่วง แสบแน่ ต้องต่อรองกันเอง
 
มาว่ากันที่ภูเก็ตนี่แหละ แท็กซี่ป้ายดำเจ้าปัญหาก่อเรื่องไม่หยุด โดยเฉพาะการเรียกเก็บค่าโดยสารมหาโหด ไม่เฉพาะนักท่องเที่ยวเท่านั้น แม้คนท้องถิ่นเองยังโดน นอกจากนั้น ยังยื้อยุดฉุดลาก สร้างความรำคาญให้นักท่องเที่ยว และยังมีการข่มขู่ หลอกลวง จี้นักท่องเที่ยว พาเข้าที่เปลี่ยวไปข่มขืน เสียภาพลักษณ์ของประเทศ 
 
กลุ่มแท็กซี่ป้ายดำนี้ ว่ากันว่า มีมาเฟียคอยดูแลเก็บค่าคิวจัดวิน หาเงินส่งนาย ไม่รู้เหมือนกันว่า นายหมาตาเหลือง หรือนายหมาสีกรมท่า กรมเทาแถวสนามบิน
 
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาทะเลาะกันเองกับกลุ่มผู้ประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เรื่องแย่งผู้โดยสารถึงขั้นประท้วงปิดถนนบ้าง ปิดทางเข้าสนามบินบ้าง ทุกครั้งที่เกิดปัญหา สื่อทั้งหลายแหล่ก็ช่วยกันประโคมข่าวอึกทึกครึกโครมไปทั่วโลก
 
ทุกครั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเรียกผู้เกี่ยวข้อง ทั้งขนส่ง ตำรวจ การท่าอากาศยานฯ รวมทั้งรถลิมูซีน เจ้าของสัมปทานรับส่งผู้โดยสารประจำสนามบิน หรือรถป้ายเขียวคู่กรณีประชุมกัน ภายหลังได้ตั้งเป็นคณะกรรมการ หรือคณะทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาขึ้น ชื่ออะไรจำไม่ได้
 
ในที่สุด ก็ให้เพิ่มโควตารถลิมูซีนป้ายเขียว ก็ยังไม่จบอีก ป้ายดำขยายพันธุ์ออกไปอีก ให้ขนส่งเอาไปแก้ไข ส่งเรื่องเข้ากรุงเทพฯ ได้อนุมัติให้จดทะเบียนแท็กซี่มิเตอร์ ก็ยังไม่จบอีกแท็กซี่มิเตอร์กับลิมูซีนแย่งทำเลจอดรถ แย่งผู้โดยสารรบกันอีก ป้ายดำก็ยังมีอีก ส่วนรถป้ายดำหน้าโรงแรม ก็ให้ทางโรงแรมเคลียร์ ขึ้นกับทางโรงแรม มีทั้งรถตู้ และรถเก๋ง
 

 
ล่าสุด ก็ได้จัดระเบียบแท็กซี่ป้ายดำ และรถตู้เถื่อนอีกครั้ง โดยให้ติดสติกเกอร์ชื่อเจ้าของรถ และรหัสประจำรถ ส่วนรถนั้นมีหลากหลายยี่ห้อ หลายสี หลายรูปแบบ ทั้งเก๋ง แวนหรือตรวจการณ์ รูสึกจะเป็นกฎอยู่หน่อยว่าต้องเป็น 4 ประตู 16 แรงด้วยมั้ง ไม่แน่ใจ ส่วนป้ายยังคงให้ใช้ป้ายเดิมไปก่อน รอขนส่งปั๊มป้ายใหม่
 
และเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการประชุมผู้เกี่ยวของให้จัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือที่ภูเก็ตเรียกกันว่า รถเครื่องรับจ้างอีก เพราะมีการนำรถผิดประเภทมาใช้ รวมทั้งเรียกเก็บค่าโดยสารมหาโหดเช่นเดียวกัน เรื่องค่าโดยสารนี้ไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวเท่านั้นที่ถูกขูดรีด แม้คนในพื้นที่เองก็ยังโดนเรียกเก็บเจ็บแสบ เรื่องเห็นอกเห็นใจไม่มี ไม่ไปก็เดินเอา
 
จากผลการตรวจสอบ มีคิวรถประเภทนี้ในเขตอำเภอเมือง 129 คิว จำนวนรถทั้งหมด 1,037 คัน เขตอำเภอกะทู้ 165 คิว รวมแถวป่าตองด้วย เป็นของกลุ่มสหกรณ์ 93 คิว จำนวนรถ 416 คัน และกลุ่มออมทรัพย์ 72 คิว จำนวนรถ 655 คัน เขตอำเภอถลางมี 2 คิว จำนวนรถทั้งหมดแค่ 130 คัน รวมจำนวนรถจักรยานยนต์รับจ้างทั้งจังหวัดกว่า 2,000 คัน
 
รถเครื่องรับจ้างเหล่านี้ เคยมีการจัดระเบียบกันมาแล้ว ทั้งให้ไปขึ้นทะเบียน กำหนดจุดวิ่งรถ หรือจัดคิว รวมทั้งสีเสื้อกั๊ก แม้กระทั่งการขออนุญาตจดทะเบียนป้ายเหลืองเป็นรถสาธารณะกับทางขนส่งจังหวัด แต่อยู่มารถป้ายเหลืองก็หายไป รถที่ออกมาวิ่งรับจ้างเป็นรถสาธารณะ กลับเป็นรถส่วนบุคคล
 
ผู้ขับขี่ก็เป็นวัยรุ่นหน้าใหม่ แต่เป็นเสื้อกั๊กของร้านทองบ้าง ของร้านอาหาร ผับบาร์ หรือของรถทัวร์บ้าง หมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อกก็มีแค่ของตัวเอง ไม่มีหมวกนิรภัยสำรองให้ผู้โดยสาร ขับขี่กลางคืนไม่สวมหมวกกันน็อก
 
สรุปได้ว่า รถเครื่องรับจ้างที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตขณะนี้ 70-80% ไม่ถูกต้อง และเป็นคนหน้าใหม่ที่อพยพมาจากต่างจังหวัด รถที่นำออกมาวิ่งบริการรับส่งผู้โดยสารก็เป็นทะเบียนรถต่างจังหวัด ความปลอดภัยของผู้โดยสารจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือเป็นใครก็ตามอยู่ตรงไหน
 
แก้กันไปเถอะ แก้ยังไงก็แก้ไม่ได้ ทั้งเจ็ตสกีหาดป่าตอง รถตู้ แท็กซี่ป้ายดำ ป้ายขาว วันนี้แก้ จัดระเบียบเรียบร้อย พรุ่งนี้โผล่มาอีกแล้วทีละคันสองคัน แล้วก็เป็นสิบคัน เพ่งเล็งแต่ป้ายดำป้ายขาว
 
ซื้อป้ายทะเบียนคู่เหมือน เลขหาบ เลขคอนมาติดก็ได้ ไม่กี่บาท เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยสนใจ
 
เป็นที่น่าเห็นใจเหมือนกัน เพราะอะไรๆ ก็โยนให้ตำรวจหมด เป็นทั้งยาม ทั้งไล่จับผู้ร้าย ทั้ง รปภ.รับใช้เจ้านาย ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท บริการประชาชน นักท่องเที่ยว รับมือม็อบ และอีกสารพัดลงบนหัวตำรวจทั้งหมด ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่ากำลังตำรวจไม่พอที่จะไปเฝ้าตรวจจับแท็กซี่ป้ายดำ รถตู้เถื่อนน่าจะฟังขึ้น
 
เรื่องนี้ควรจะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ขนส่งโดยตรงที่จะต้องเข้มงวด อดีตเคยเห็นไปตั้งด่านตรวจ แต่ต่อมาก็หายเข้ากลีบเมฆไป ก็คงอ้างในเคสเดียวกันกับตำรวจอีกนั่นแหละ
 
กำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ!
 
ยังครับ ยังไม่จบ ยังมีการจัดระเบียบหาด ไกด์เถื่อน ไกด์ผี ซิตติ้งไกด์ แม้กระทั่งการบุกรุกที่อุทยานแห่งชาติ แก้ยังไงก็แก้ไม่ได้ ตราบใดที่กฎหมายเป็นแค่เสือกระดาษ ข้าราชการยังมีวิญญาณตัวอัปรีย์สิงสู่
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น