“เป้าหมายในการพัฒนาด้านท่องเที่ยวให้ยั่งยืน สถานประกอบการและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีจำนวนสถานประกอบการตัวอย่างด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจำนวนชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้อีกประมาณ 10% พร้อมกับจัดทำดัชนีชี้วัด “ชุมชนอยู่ดีมีสุข” เป็นตัววัดผลงาน”
พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวถึงการขับเคลื่อนท่องเที่ยวแนวใหม่ ในปีงบประมาณ 2556 ว่าอพท.จะดำเนินการโครงการพิเศษ สนับสนุนการท่องเที่ยวแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรือ Low Carbon Tourismซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ โดยจะมีการจัดเป็น 2 โครงการ คือ
1.โครงการพัฒนาและส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “DASTA?Low Carbon Routes” ในพื้นที่พิเศษจังหวัดเลย
2.โครงการแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ “Low Carbon Destination” ใน 7 พื้นที่พิเศษของ อพท.
นับเป็นการพัฒนางานท่องเที่ยวที่ดำเนินการต่อเนื่องในปี 2554 ซึ่งหันมาเน้นมิติสิ่งแวดล้อมรักษาสมดุล ยึดแนวคิดหลักการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน ภายใต้โครงการย่อยๆ กว่า 20 โครงการ มุ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชุมชนและนักท่องเที่ยว อย่างเช่น นักท่องเที่ยวที่เดินทางไกลมาเที่ยวจากอเมริกา มีการคำนวณปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากการเดินทาง และมีแพ็กเกจให้นักท่องเที่ยวเลือก เช่น ปลูกป่า หรือให้ไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ก็มีตัวเลขจากงานวิจัยออกมาว่า จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนหนึ่งมาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 5% เราก็ทำทางเลือกไว้ให้ ถ้านักท่องเที่ยวรู้สึกผิดก็มีทางเลือกให้แก้ไขได้
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2556 อพท.ได้รับงบประมาณจากทางรัฐบาลในวงเงิน 604.79 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2555 ประมาณ 8% จึงแบ่งการใช้งบประมาณเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย1.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 132.74ล้านบาท 2.ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 145.70 ล้านบาท และ 3.ค่าใช้จ่ายโครงการ 326.33 ล้านบาท โดยจะดำเนินงานใน 24โครงการ กระจายอยู่ 7 พื้นที่พิเศษของ อพท. รวมถึงการจัดกิจกรรมในส่วนกลางด้วย
สำหรับ ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ที่ อพท. วางไว้ คือ 1.การประสานการพัฒนาพื้นที่บริหารการพัฒนา ก็ได้ประสานงานอย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมมือกับมหา วิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาร่วมมือกัน ใช้ "ดัสต้าบอล" ที่เกาะช้างบำบัดน้ำทะเลเสียได้ 2.บทบาทในการพัฒนาสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวก
3.ส่งเสริมการตลาด และการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 5.สร้างเครือข่ายการพัฒนาทุกภาคส่วน และ6.ให้บริการองค์ความรู้ ซึ่งยึดถือตามแนวทางนี้เป็นหลัก
“หากชุมชนเห็นว่ายังขาดองค์ความรู้ อพท.ก็จะนำวิทยากรลงไปให้ โดยถามเขาว่าอยากได้หลักสูตรแบบไหน หลักสูตรบริหารจัดการ การจัดทำแผนท่องเที่ยว หรือ หลักสูตรง่ายๆ อย่างยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อมีความชัดเจนว่าแต่ละชุมชนกำหนดทิศทางแผนอย่างไร อพท.จะนำข้อสรุปไปรวมกับแผนของจังหวัด เพื่อบูรณาการท่องเที่ยวอีกชั้นหนึ่ง”
อพท.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรักษาสมดุลด้านพัฒนามิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้ขาเก้าอี้ท่องเที่ยวไทยต้องหักลงไปขาใดขาหนึ่ง จนล้มลง ส่วนในการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวสูง
พ.อ.นาฬิกอติภัค ยกตัวอย่าง การปรับภาพลักษณ์พื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ว่าตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554-30 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้รวมกว่า 96 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมจำนวน 533,541 คน ที่สำคัญพบว่าผู้เข้าใช้บริการมีความพึงพอใจ 90.20% อีกทั้งได้ทำการกำหนดตัวชี้วัดการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่เชื่อมโยงชุมชนรอบเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีจำนวน 3 ตำบล โดยจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากฐานข้อมูลรายได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งไม้กลึง รายได้เพิ่มขึ้น 24.90 % เครื่องปั้นดินเผา รายได้เพิ่มขึ้น 6.81% นวดแผนไทย รายได้เพิ่มขึ้น 8.67% ปุ๋ยมูลสัตว์ รายได้เพิ่มขึ้น 4.72% ผักปลอดสารพิษ รายได้เพิ่มขึ้น 67.51% และบริการขนส่งมวลชน รายได้เพิ่มขึ้น 5.57%