xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มลทินของอธิการบดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปลายปีนี้ ความอื้อฉาวในมหาวิทยาลัยที่ดังที่สุดเห็นจะเป็น “การเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน”

ด้วยเหตุผลในเรื่องคุณภาพการสอนทั้งในระดับ ป.บัณฑิต ปริญญาตรี และปริญญาโท

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท ซึ่งทำให้มีนักศึกษาปริญญาโทมากถึง 4,000 คน

“หากจะจัดการศึกษาให้ได้คุณภาพจำเป็น จะต้องมีอาจารย์ระดับปริญญาเอก ประมาณ 250 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณในการทำงาน” รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) อธิบายเหตุผลความไม่มีคุณภาพของมหาวิทยาลัยอีสาน

นั่นคือ ผลทางกฎหมายของคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากปัญหาคุณภาพการศึกษาที่มีอย่างยาวนานพอสมควร จนทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปรับตัว ปัญหาในเชิงการบริหารผู้สอน ก็กลายเป็นประเด็นล่อแหลมวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน

“สังคมกำลังกังวลต่อความอิสระของมหาวิทยาลัยในหลายๆ ด้าน ทั้งความอิสระที่มากเกินไปทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง จนเกิดปัญหาต่างๆ ทั้งด้านการเงิน ด้านวิชาการ รวมถึงการบริหารงานบุคคล อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังพบว่ามีมหาวิทยาลัย 4-5 แห่ง ที่มีการปลดอธิการบดีออกจากตำแหน่ง จึงทำให้เห็นว่าขณะนี้อุดมศึกษากำลังมีปัญหาอย่างหนัก” ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ อธิบายภาพรวมของปัญหามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะการปลดอธิการบดี

เขาบอกว่า “แนวทางแก้ไขปัญหาต้องเร่งสร้างความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย รวมถึงทำให้สภามหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็ง”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกรรมการสภามหาวิทยาลัย รับหน้าที่เหมือนเป็นงานกิตติมศักดิ์ เพราะไม่มีเงินเดือน ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง มีแค่เบี้ยประชุม กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางคน จึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการมาช่วยบริหารจัดการมหาวิทยาลัย การทำงานจึงเป็นงานอดิเรกเท่านั้น

จึงทำให้การฟ้องร้อง “ผู้บริหารมหาวิทยาลัย” มีให้เห็นอยู่เสมอ โดยเฉพาะการฟ้องร้องผ่านศาลปกครองจำนวนมาก และยืดเยื้อ แม้อาจารย์บางคนเกษียณแล้ว ก็ยังไม่มีคำตัดสินออกมา

ตัวอย่างการฟ้องร้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) แสดงให้เห็นถึง “ปัญหาการบริหารบุคคล” พอสมควร โดยสำนักข่าวอิศรารายงานว่า

ทั้งนี้ นายสุรพล จรรยากูล ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ ระดับ 7 สังกัดภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ถูก ศ.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี (ในขณะนั้น) โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย สั่งให้ออกจากราชการ เพื่อรับบำเหน็จบำนาญทดแทน ตามมาตรา 57 (9) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ตามคำสั่ง มศว ที่ 2383/2553 ลงวันที่ 6 ก.ย.2553

เมื่อนายสุรพล รับทราบคำสั่ง ก็ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) โดยคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (อ.ก.พ.อ.) เกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ ทำหน้าที่แทน ก.พ.อ.พิจารณาเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2554 แล้วเห็นว่า กระบวนการสอบสวนนายสุรพล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการนำข้อกล่าวหาที่ยังไม่มีการสอบสวนมาเป็นส่วนหนึ่งในการสั่งให้นายสุรพลออกจากราชการ จึงมีมติให้ มศว. เพิกถอนคำสั่งที่ 2383/2553 และสั่งให้นายสุรพล กลับเข้ารับราชการเพื่อดำเนินการสอบสวนใหม่ โดย สกอ.ได้แจ้งมติของ อ.ก.พ.อ.ให้ มศว ทราบ

แต่ ศ.วิรุณ อธิการบดี (ในขณะนั้น) ได้มีหนังสือตอบกลับ โดยอ้างว่าการ สอบสวนวินัยสมบูรณ์แล้ว ส่วนข้อกล่าวหาที่ยังไม่มีการสอบสวน แต่กลับปรากฏในคำสั่งนั้น เป็นเพียงการหารือในสภามหาวิทยาลัย มิได้ประสงค์จะให้มีการสอบสวนในข้อกล่าวหาเหล่านั้นด้วย จึงขอให้ ก.พ.อ.พิจารณาให้ไปตามมติของ มศว. ด้วย

ในระหว่างการพิจารณาของ ก.พ.อ. ปรากฏว่า ศ.วิรุณ ได้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2554 โดยมีการสรรหาและโปรดเกล้าฯ ให้ ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.2554 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว มศว. ก็ยังไม่ดำเนินการตามมติของ อ.ก.พ.อ. แต่อย่างใด

จนกระทั่ง ก.พ.อ. มีมติเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2555 ยืนตามมติของ อ.ก.พ.อ. พร้อมกับแจ้งมติให้ มศว. ทราบในวันที่ 4 เม.ย.2555 ผศ.นพ.เฉลิมชัย จึงมีคำสั่งที่ 1250/2555 และคำสั่งที่ 1251/2555 ลงวันที่ 4 พ.ค.2555 เพิกถอนคำสั่งให้นายสุรพลออกจากราชการ และสั่งให้นายสุรพลกลับเข้ารับราชการ

ต่อมาเมื่อ นายสุรพล ได้รับทราบมติของ อ.ก.พ.อ.ซึ่งทำหน้าที่แทน ก.พ.อ. เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2554 ก็ได้กล่าวหาว่า ศ.วิรุณ และ ผศ.นพ. เฉลิมชัย กระทำผิดวินัยข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กรณีไม่ดำเนินการแก้ไขคำสั่งลงโทษให้เป็นไปตามมติของ อ.ก.พ.อ. ดังกล่าว

ทำให้ สกอ. เสนอเรื่องหารือมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา ใน 2 ประเด็น ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีความเห็น ดังนี้

ประการที่หนึ่ง การที่ ศ.วิรุณ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางวินัย คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็น เมื่อ ศ.วิรุณ ได้พ้นจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2554 จึงไม่สามารถดำเนินการทางวินัยกับ ศ.วิรุณ ได้ เพราะเกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่พ้นจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว

ประการสอง การที่ ผศ.นพ.เฉลิมชัย ปล่อยเวลาให้เนิ่นนานจนถึงวันที่ 4 พ.ค.2554 ถึงดำเนินการเพิกถอนคำสั่งให้นายสุรพล ออกจากราชการ ทั้งๆ ที่ อ.ก.พ.อ. มีมติตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.2554 จะเข้าข่ายเป็นความผิดทางวินัยหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อยู่ในฐานะที่จะพิจารณาให้ความเห็นได้

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

โดยเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับหนังสือจากผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 7 ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินโครงการก่อสร้างอาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ และการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) พบว่า นายศุภชัย มี สมัปปิโต พฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

ทั้งนี้มีการร้องเรียนกล่าวหาการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.07/2553 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ของ มมส.ในขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าร้อยละห้าสิบของสัญญาจ้าง มีพฤติการณ์ไม่ชอบด้วยระเบียบ กฎหมาย หรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการ และการร้องเรียนกล่าวหาการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษอธิการบดี โดยใช้เงินรายได้ให้แก่นายศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดี มมส.มีการเบิกจ่ายโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมายกำหนด

ทำให้ สกอ. ตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ศุภชัย

หนังสือจาก สตง. ระบุว่า จากการที่ มมส. ก่อสร้างอาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ ด้วยวงเงินงบประมาณ 88 ล้านบาท ได้ตรวจพบความผิดปกติหลายประการ นับตั้งแต่การอ้างใช้กิจการร่วมค้าที่อำพราง โดยมีผู้รับเหมาเป็นการร่วมค้าของ 2 บริษัทในสัดส่วน ร้อยละ 99 กับ 1 ซึ่งใช้ผลงานที่ประกอบการยื่นซองประกวดราคาเป็นของบริษัทที่มีสัดส่วนร้อยละ 1 แต่การดำเนินการจริง กลับเป็นของบริษัทที่มีสัดส่วนร้อยละ 99 อีกทั้ง มมส.ได้จ่ายเงินล่วงหน้า 15% ให้แก่ผู้รับเหมาเป็นเงิน 13 ล้านบาทเศษ ทั้งที่มีการทักท้วงจากเจ้าหน้าที่ การเงินว่ายังไม่สมควรจ่าย เนื่องจากการตรวจสอบหลักฐานประกอบสัญญายังไม่ครบถ้วน แต่ผู้บริหารและพวกยังจ่ายเงิน โดยเจ้าหน้าที่ ผู้มีหน้าที่โดยตรงไม่รับทราบ ถือเป็นการจ่ายโดยไม่มีอำนาจ และไม่เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ ยังตรวจพบว่า บริษัทผู้รับเหมาได้ใช้หนังสือค้ำประกันสัญญาของธนาคารที่เป็นเอกสารปลอม เป็นเหตุที่ มมส.ต้องแก้ไข เช่น การบอกเลิกสัญญา และเรียกเงินคืนพร้อมด้วยค่าเสียหาย แต่นายศุภชัย ไม่ได้ดำเนินการใดๆ จนเรื่องถึงสภา มมส. จึงได้บอกเลิกสัญญาในที่สุด แต่หลังจากนั้น มมส. ไม่ได้ฟ้องร้อง หรือเรียกเงินล่วงหน้า 13 ล้านบาท คืนพร้อมด้วยค่าเสียหาย รวมทั้ง สตง.ยังพบว่า นายศุภชัย ได้เบิกเงินค่าตอบแทนพิเศษในการทำหน้าที่อธิการบดี โดยนอกเหนือไปจากการอนุมัติของสภามหาวิทยาลัย แม้ได้รับการทักท้วงจากสภามหา วิทยาลัยแล้ว แทนที่จะยุติและคืนเงิน กลับเบิกต่อไป ประเมินเป็นเงินเบื้องต้น 2 ล้านบาทเศษ ถือเป็นการใช้สิทธิของตนโดยไม่สุจริต และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

นอกจากนี้ นายศุภชัย ยังถูกร้องเรียนกล่าวหาในประเด็นอื่นๆ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ สตง. เช่น การก่อสร้างศูนย์กีฬาที่ผู้รับเหมาทิ้งงาน และ มมส.ได้จ่ายเงินไปกว่า 40 ล้านบาท เป็นต้น

นั่นหมายความว่า นอกจากคุณภาพของการศึกษาแล้ว คุณภาพของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ยังเป็นเชื้อไฟรอวันปะทุอีกหลายดอก !!


 ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์
ศ.วิรุณ อธิการบดี
กำลังโหลดความคิดเห็น