xs
xsm
sm
md
lg

สบอช.เผย 7 บริษัทผ่านคุณสมบัติเตรียมร่วมทุนโครงการป้องน้ำ 3.5 แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม(แฟ้มภาพ)
รมช.คมนาคม ร่วมเลขาฯ สบอช.แถลง 7 บริษัท ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น โครงการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน วงเงิน 3.5 แสนล้าน ส่งกรอบแนวคิด 24 ก.ย. ยันยึดแนวทางพระราชดำริ พร้อมให้คมนาคมคุม

วันนี้ (20 ก.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม และนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) แถลงผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นโครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยนายชัชชาติชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวเป็นการออกแบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 8 ลุ่มน้ำย่อย และพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นอีก 17 ลุ่มน้ำย่อย แบ่งเป็น 2 แพกเก็จ คือ แพกเกจ A-6 โมดูล และแพกเกจ B-4 โมดูล โดยยึดตามกรอบแนวทางตามพระราชดำริ พร้อมยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมที่รับผิดชอบเป็นอนุกรรมการด้านการพิจารณาคุณสมบัติ ที่มีนายสุพจน์เป็นประธาน นั้นจะทำงานอย่างละเอียดรอบคอบและโปร่งใสที่สุด

ด้าน นายสุพจน์กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มายื่นคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อพิจารณาคัดเลือกเข้าเสนอกรอบแนวคิดที่ได้ประกาศรายชื่อไปเมื่อวันที่ 14 ก.ย. มีจำนวน 34 ราย ในรูปแบบยื่นเดี่ยว ยื่นค้าร่วม (Consortium) และยื่นร่วมค้า (Joint Venture) ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติได้พิจารณาแล้วพบว่า มีผู้ผ่านการยื่นคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท วอเตอร์ รีซอสเสส คอร์ปอรเรชัน (เค-วอเตอร์) ประเทศเกาหลีใต้ ผลงาน 682,840 ล้านบาท ยื่นทั้ง 2 แพกเกจ / 2. ITD - POWERCHINA JV ยื่นร่วมค้าไทย-จีน ผลงาน 395,957 ล้านบาท ยื่นทั้ง 2 แพกเกจ 3. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ประเทศไทย ผลงาน 25,000 ล้านบาท ยื่นโมดูล A1, A4, A6, B1, B2, B3, B4 4. กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ ประเทศไทย ผลงาน 67,141 ล้านบาท ยื่นทั้ง 2 แพกเกจ 5. China CAMC Engineering Co.LTD. ประเทศจีน ผลงาน 19,749 ล้านบาท ยื่นโมดูล A6 (ฟลัดเวย์) 6. กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย ยื่นร่วมค้าไทย-ญี่ปุ่น ผลงาน 1,147,501 ล้านบาท ยื่นทั้ง 2 แพกเกจ และ 7.Consortium TKC Global ยื่นค้าร่วม ไทย-เกาหลี ผลงาน 43,350 ล้านบาท ยื่นทั้ง 2 แพกเกจ

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทของไทย 2 บริษัท จีนร่วมทุนกับไทย 1 บริษัท และจากจีนโดยตรง 1 บริษัท ญี่ปุ่นร่วมกับไทย 1 และเกาหลี 2 บริษัท ซึ่งถือว่าเป็นคุณภาพที่มีผลงานคุณภาพ โดยมั่นใจว่าจะสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศได้ ส่วนบริษัทที่ไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาได้ที่ทำเนียบรัฐบาลภายใน 1-2 วันนี้ แต่ไม่สามารถส่งเอกสารเพิ่มเติมได้ แต่หากคำตัดสินของคณะอนุกรรมการผิดพลาดก็สามารถเพิ่มเติมได้มากกว่า 7 กลุ่มบริษัท ทั้งนี้ พบว่าบริษัทที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกนั้น เนื่องจากไม่มีเอกสารรับรองนิติบุคคลจากสถานทูต

อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ 24 ก.ย.นี้ ทุกบริษัทที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจะได้ยื่นกรอบแนวความคิด หรือคอนเซปชวลแพลน ก่อนทำแผนอย่างละเอียดภายใน 2 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น