“ยิ่งลักษณ์” ปล่อย จารุพงศ์-ชัจจ์ ยุติศึกรถไฟสายสีแดง ไม่ก้าวก่าย ย้ำอย่าทุจริต “เสงี่ยม” ลั่นขนแดงเชียร์ “ชัจจ์” หนุนทบทวนสายสีแดง ขู่ “จารุพงศ์” ดื้อเดินหน้าแจ้งความผิด ม. 157 อัดสายสีแดงเส้นหัวลำโพง-บางซื่อ ยุคมาร์ค-โสภณ ปัญหาอื้อ ย้ำต้องรางกว้าง 1.43 ม.รองรับไฮสปีดเทรน บางฝ่ายติงไม่ควรตามจีน แม้ออกเงินทุนให้ก่อนผ่อนทีหลัง หวั่นเข้าทางจีนไหลสินค้ามาตามรางทุ่มตลาดไทย-อาเซียนเจ๊งกันระนาว
วันนี้ (10 ก.ย.) พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เตรียมนำมวลชนคนเสื้อแดงมาสนับสนุน พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม ที่เสนอให้ทบทวนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต เพื่อให้นำระบบรางกว้าง 1.435 เมตร มาใช้ในโครงการดังกล่าวที่สามารถเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าทางไกล หรือไฮสปีดเทรน 4 เส้นทาง มูลค่า 1.76 แสนล้านบาทได้ในอนาคต
ทั้งนี้ หากนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม ยังดึงดันเดินหน้าโครงการฯ จะแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 157 เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ที่ผ่านความเห็นชอบสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายโสภณ ซารัมย์ อดีต รมว.คมนาคม งบประมาณ 8.7 พันล้านบาท เกิดข้อผิดพลาดในทางวิศวกรรมหลายประการแต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา หรือใช้การไม่ได้ ทำให้รัฐบาลสูญเสียเงินค่าปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยแต่ละเดือนนับร้อยล้านบาท
พ.ต.ต.เสงี่ยมกล่าวว่า รมว.คมนาคมควรทบทวนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต โดยเฉพาะระบบรางกว้าง 1 เมตร เป็น 1.43 เมตร เพื่อสามารถเชื่อมต่อกับโครงการไฮสปีดเทรนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และหากยังคงเดินหน้าระบบราง 1 เมตรเดิม จะผิดสนธิสัญญากรุงเวียนาว่าด้วยการสร้างโครงข่ายการขนส่งทางรางรถไฟของประเทศในเอเชียและแปซิฟิก ที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ฉบับที่ 1และ 2 ที่รัฐบาลได้ลงนามไว้ ซึ่งหากผิดสนธิสัญญาอาจถูกฟ้องต่อศาลโลกได้ว่ากระทรวงคมนาคมผิดสนธิสัญญาสากลในการขัดขวางไม่ให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งระหว่างประเทศ
แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า ขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่เข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว เพราะต้องการให้รัฐมนตรีทั้งสองยุติปัญหาภายในกระทรวงเอง และไม่ต้องการก้าวก่ายการทำงาน
อย่างไรก็ตาม นโยบายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเห็นว่าการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐควรพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ทั้งนี้ ข้อเสนอการใช้ระบบราง 1.43 เมตรที่เป็นรางมาตรฐานมีทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือ ข้อดี คือการใช้ขนาดราง 1.43 เมตรดังกล่าวทางรัฐบาลจีนสนับสนุนการลงทุนให้รัฐบาลไทยทั้งหมด ค่าก่อสร้างทาง ราง สถานี และหัวรถจักร โดยให้ผ่อนชำระในภายหลัง 10 ปีในรูปบาเตอร์เทรด หรือเป็นตัวเงิน แต่ข้อเสียคือไทยจะเสียเปรียบทางการค้าเนื่องจากจีนสามารถยึดเศรษฐกิจอาเซียนด้วยระบบรางจากการขนส่งสินค้ามาขายได้อย่างสะดวก
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอย่างมาก จึงกำชับให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญต่อการจัดทำรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง ผนวกกับการป้องกันเพื่อนำไปสู่การทุจริตให้ลดน้อยลงและเป็นประโยชน์ต่อชาติ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าทางรัฐบาลเคร่งครัดและให้ความสำคัญต่อการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะการประกาศราคากลางอย่างเปิดเผยและโปร่งใสผ่านสื่อออนไลน์ และการจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2535 ยกเว้นบางกรณีที่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างพิเศษ โดยต้องผ่าน กวพ. และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ด้วย พร้อมกับได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทำงานร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะไปสู่การป้องกันการทุจริตอีกด้วย
ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 55 มีมติอนุมัติวงเงินสัญญาก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง สัญญาที่ 1 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต วงเงิน 29,836 ล้านบาท โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ในฐานะผู้ให้เงินกู้สนับสนุน โดยมี 5 บริษัทที่ปรึกษาที่ได้สัมปทานในการก่อสร้าง คือ 1. กิจการร่วมค้า ยูนิค-ชุนวู 2. กลุ่ม STCC จอยท์เวนเจอร์ 3.บมจ. ซันเท็ค คอนสตรักซั่น (Syntec) 4. บ.ซุนโว คอนสตรัคชั่น แอนด์ เอนจิเนียริ่ง และ 5. บ.เอเอส แอสโซซิแอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด