“ปั้นน้ำเป็นทุน” เผย 6 บริษัทร่วมประมูล 10 โครงการ แก้อุทุกภัย 3 แสนล้าน มีบริษัทย่อยไทย 19 จาก 31 เชื่อคนไทยได้แน่ คุย รบ.ให้ความสำคัญบริษัทไทย ลั่นการเมืองงดจุ้น โว 6 เดือนคืบ ไม่เกิน 5 ปีเสร็จ รอประมูล 2 สัปดาห์ มี “ธงทอง” ดูแล พร้อม คกก. เล็งเซ็นเมษาฯ เผย “ปู” บี้เร่งดำเนินการ
วันนี้ (5 ก.พ.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก กรอบแนวคิด เพื่อออกแบบ และก่อสร้าง ระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ประกาศรายชื่อบริษัท และกลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้ารอบ 2 กลุ่มบริษัทที่เสนอกรอบแนวคิด โครงการก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย มูลค่า 3 แสนล้านบาท ใน 10 โครงการ ประกอบด้วย 1. บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์เปอร์เรชั่น (เค วอเตอร์) 2. กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย 3. ITD-POWERCHAINA JV 4. กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ 5. กลุ่มบริษัทร่วมค้า ล็อกซเลย์ 6. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที โดยในกลุ่ม 6 บริษัทนี้จะประกอบไปด้วย บริษัทย่อย 31 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ 19 บริษัทเป็นของคนไทย ที่เหลือเป็นของต่างชาติ ยืนยันบริษัทที่มารับบริหารจัดการน้ำต้องเป็นบริษัทของไทยอย่างแน่นอน ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็จะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่และจะไม่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างแน่นอน ส่วนเงื่อนไขเวลาของบริษัทที่ผ่านการยื่นข้อเสนอ จะมีเวลา 3 เดือนในการออกแบบและนำเสนอต่อคณะกรรมการ
พร้อมกันนี้ นายปลอดประสพกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ตนเองรับผิดชอบโครงการตั้งแต่เริ่มต้นพอใจในการดำเนินงาน คาดระยะเวลา 6 เดือนจะเห็นความคืบหน้า โดยเมื่อสามารถเดินหน้าได้ก็ต้องกำหนดกรอบเวลาดำเนินการทุกอย่างให้เสร็จสิ้นไม่เกิน 5 ปี
นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า ผลการคัดเลือกครั้งนี้สะท้อนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับบริษัทไทย อีกทั้งยังสามารถประหยัดงบประมาณด้านการออกแบบ และลดเวลาดำเนินงานไปได้มาก พร้อมระบุว่าขั้นตอนหลังจากนี้จะออกหลักเกณฑ์สำหรับการก่อสร้าง โดยแบ่งเป็นซองประกวดประมูล 3 ซอง ได้แก่ ซองเทคนิค ราคา และระยะเวลา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์ โดยจะไม่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะมอบหมายเป็นหน้าที่ของนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณามอบหมายงาน และแต่งตั้งอนุกรรมการอีกอย่างน้อย 10 ชุด เพื่อพิจารณาการออกแบบต่อไป คาดว่าจะเริ่มเซ็นสัญญาและเบิกจ่ายเงินตาม พ.ร.ก.ภายในเดือนเมษายนนี้
นอกจากนี้ นายปลอดประสพระบุว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม