xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น!โกงประชามติ-คาดพท.กลับลำแก้รายมาตรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นิด้าโพลเผยคนไทย เชื่อมีโกงประชามติ ชี้ งบ 2,000 ล้าน มากเกินไป ด้าน“ปู”ยังห่วงเสียงได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่ขอให้รอข้อสรุปก่อน “เฉลิม” เตรียม 9 ประเด็นแจงที่ประชุมพรรค ไม่ควรทำประชามติ โยนถามนายกฯกลับลำแก้รายมาตรา “มาร์ค” แนะรบ.ตั้งหลักใหม่เลิกรื้อทั้งฉบับ “ขุนค้อน"ฟันธง ได้ลงมติวาระ 3 ต้นเดือนสิงหาคม แต่เชื่อประชามติผ่านยาก!

วานนี้ (20 ธ.ค.55) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทั่วประเทศ เรื่องการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 66.37 คาดว่า จะไปลงมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองลงมา ร้อยละ 24.66 คาดว่า จะไม่ไปลงมติ โดยประชาชน ร้อยละ 46.32 ระบุว่า จะลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญรองลงมา ร้อยละ 28.23 จะลงมติไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียงร้อยละ 3.74 ที่จะลงมติโหวตโน ไม่ออกเสียง

ขณะเดียวกันประชาชน ร้อยละ 56.61 ไม่เห็นด้วยที่ รัฐบาลจะใช้งบ 2,000 ล้านบาท ทำประชามติ เพราะมากเกินไป ควรนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นๆ มากกว่า ขณะเดียวกัน ประชาชน ร้อยละ 54.52 ยังระบุว่า การทำประชามติจะไม่คุ้มค่า เพราะเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองมากกว่า และท้ายสุดประชาชน ร้อยละ 67.57 คาดว่า น่าจะมีการทุจริต หรือ ความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น

ส่วนความเห็นของฝ่ายรัฐบาล เวลา 07.00 น. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเยือนเมืองคยา กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ถึงความคืบหน้าในการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาหรือไม่ เนื่องจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ออกมาคัดค้านการทำประชามติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จริงๆแล้วทุกท่านก็แสดงความคิดเห็นได้ เพราะช่วงนี้ก็อย่างที่เรียนว่ามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังให้ไปศึกษาในรายละเอียดอยู่ เพราะในแต่ละวิธีการก็มีขั้นตอนรายละเอียดซึ่งต้องไปทำความเข้าใจ รวมถึงเรื่องของระยะเวลา และเรื่องของการทำงานด้วย ตรงนี้จึงยังไม่เป็นข้อสรุป แต่ก็จะมีหลายๆทางออก แต่อย่างที่เรียนว่า ทางออกอะไรที่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือทางออกที่สามารถจะลงตัวได้ ก็คงต้องรอผลจากคณะกรรมการก่อน

เมื่อถามว่า ห่วงเรื่องจำนวนเสียงหรือไม่หากมีการทำประชามติ นายกฯ กล่าวว่า เรามองว่าจำนวนเสียงเป็นส่วนหนึ่งของข้อห่วงใย แต่อย่างไรก็ตามเรื่องของจำนวนเสียงก็ต้องนำมาถึงข้อสรุปมากกว่า ซึ่งเรื่องของข้อสรุปนั้นก็ยังเป็นปัญหาอยู่ สมมุติว่าถ้าจะทำประชามติก็ต้องดูหัวข้อที่จะตั้งด้วย การถามและขั้นตอน ซึ่งต้องไปสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร์ด้วย เพราะในส่วนนี้เองรัฐบาลเป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยากจะเห็นทางออกของประเทศมากกว่า เพราะตามหลักการโหวตรัฐธรรมนูญและการแก้ไข เป็นเรื่องของทางรัฐสภาอยู่แล้ว หน้าที่รัฐบาลคือการบริหารประเทศ แต่การที่เรามาพูดคุยกันก็เพื่อต้องการที่จะเห็นทางออกมากกว่า ไม่ใช่เป็นการที่จะลงเอยข้อสรุปเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ต้องไปว่ากันที่รัฐสภาอีกที

เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม มีข้อคิดเห็นเรื่องการทำประชามติมาถึงนายกฯหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ก็มีหลายๆความเห็น ซึ่งก็ต้องแยก อย่างที่เรียนว่าเรื่องการมีส่วนร่วมก็เป็นหน้าที่รัฐบาล แต่ขั้นตอนในเรื่องของการโหวตเป็นเรื่องของรัฐสภาที่ต้องคุยกัน ว่าจะโหวตกันอย่างไร จะเดินหน้าต่อหรือโหวตรายมาตรา หรือเป็นวิธีไหน แต่ในส่วนของรัฐบาลจะทำหน้าที่ในการช่วยเสริมสนับสนุนว่า เราจะช่วยกันในการให้ประชานมีส่วนร่วมและแสดงออก ให้เป็นทางออกที่เป็นสันติและเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยมากกว่า

เมื่อถามว่า ที่ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่ายากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขารัฐบาลมองอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ค่ะ ก็แล้วแต่ เรียกว่าเป็นข้อเสนอและข้อคิดเห็น ก็คงต้องให้คณะกรรมการทำงานก่อน เมื่อถามว่าเรื่องการทำประชามติ ดูแนวโน้มแล้วน่าจะยืดระยะเวลาออกไปหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ที่จริงต้องบอกว่า เรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าวิธีไหนก็ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าเสร็จวันเดียว ก็ต้องเรียนอย่างนั้น

ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยทิศทางการเมืองไทยกับการทำงานของรัฐสภาในปี 2556 โดยยืนยันจะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้งมากกว่าส่วนตัว แม้จะถูกตำหนิจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยด้วยกัน จากกรณีไม่เดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ทันทีที่กระบวนการพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้น เนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้น ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ยังได้สนับสนุนแนวทางของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้มีการจัดทำประชามติและประชาเสวนาสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนก่อนมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องเสียงทำประชามติยากที่จะผ่านได้

เนื่องจากต้องใช้เสียงผู้มีสิทธิลงประชามติจำนวนมาก แต่ส่วนตัวเห็นว่า หากประชามติไม่ผ่าน ก็สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาใหม่ ก่อนแก้ไขเป็นรายมาตราได้ พร้อมเสนอแนะให้มีการทำประชามติก่อนลงมติวาระ 3 เพื่อไม่ให้เสียเวลา โดยคาดการณ์ว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลา 6 เดือน และสามารถลงมติวาระ 3 ได้ศุกร์แรกของเดือนส.ค. 2556

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเตรียมนำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้ง 9 ประเด็น เข้าหารือภายในพรรคเพื่อไทยเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราหรือทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญ แต่นายจตุพร พรหมพันธ์ก็เห็นด้วยให้มีการแก้รายมาตรา ขณะที่การทำประชามติต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน หากไม่ได้ตามนี้ก็จะเกิดปัญหากับรัฐบาล โดยให้เหตุผล 5 ข้อ ที่ไม่ควรทำประชามติ คือ 1.หากประชาชนไม่มาลงประชามติก็ไม่เสียสิทธิ์ 2.ไม่มีการวอร์นนิ่ง เพราะไม่ใช่การสมัครผู้แทน 3.เมื่อไม่มีการลงคะแนนล่วงหน้า คนที่อยู่กรุงเทพฯ จึงไม่ไปใช้สิทธิ์ 4.ไม่สามารถเทียบกับการเลือกตั้งได้ และประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้น จากทั้ง 5 ประเด็น 24 ล้านเสียงจึงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ การตัดสินใจว่าจะทำประชามติหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า วันจันทร์ ที่ 24 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมวิปรัฐบาล เพื่อเตรียมการไปสู่วันนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดแรก วันพุธ ที่ 26 ธ.ค. ทั้งนี้ในส่วนของการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะดำเนินการและคณะทำงานที่ตั้งขึ้นก็จะไปพิจารณารายละเอียด ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งต้องมีการหารือประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภาด้วย ซึ่งยังไม่มีแนวคิดเรื่องการแก้มาตรา 165 แต่ยอมรับว่า มีความกังวลเรื่องจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิ์

ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาพยาน หลักฐานเพื่อยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตีความกรณีนายอภิสิทธิ์ และสมาชิกพรรคเชิญชวนให้ประชาชนคว่ำประชามติโดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 309 มุ่งล้างผิดให้คนๆเดียว ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจได้ว่าหมายถึงพ.ต.ท.ทักษิณ พฤติการณ์เหล่านี้เป็นการให้ข้อมูลเท็จทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ชี้นำให้ประชาชนลงคะแนนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ เข้าข่ายความผิดพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาตรา 43 ซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้

ด้านฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าตนเรียนย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่รัฐบาลำอยู่จนเกิดความสับสนวุ่นวายเพราะไปผูกติดกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถ้าละตรงนี้แล้วตั้งหลักใหม่คุยกันระหว่างพรรคการเมือง ภาคประชาชนว่าจะปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อส่วนรวมอย่างไรตนว่าจะเดินได้ง่ายกว่า โดยเลิกแนวคิดเดิมที่จะรื้อทั้งฉบับก่อน ดังนั้นนายกเป็นผู้กำหนดได้จะโยนความรับผิดชอบให้สภาไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มคนเดียวกัน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มติพรรคจะไม่ทำอะไรให้เกิดความวุ่นวายในการทำประชามติอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะทำประชามติวันนี้หรือเมื่อไหร่พรรคพร้อมเข้าร่วมดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายกำหนด โดยจะเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนในกรอบของกฎหมาย ทั้งนี้เป็นสิทธิของพรรคที่จะแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายการแสดงประชามติปี 2552 ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

“พรรคมีความวิตกกังวลในเรื่องนี้ว่าจะมีการใช้อำนาจรัฐเข้าไปชี้นำการทำประชามติ ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพราะการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทยต้องทำด้วยความถูกต้อง ทั้งนี้การดำเนินการผ่านกระทรวงศึกษาธิการและมหาดไทยอย่างโปร่งใสไม่น่ามีผลกระทบแต่รัฐบาลมีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาล จึงต้องดูว่าจะดำเนินการในสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร”นายองอาจกล่าว.

ส่วนกรณีที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ออกมาระบุว่า การไม่ออกมาใช้สิทธิทำประชามติถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นขอชี้แจงว่า การจะใช้สิทธิหรือไม่ในการทำประชามติเป็นสิทธิของบุคคลนั้น ๆ และเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าการลงประชามติเป็นหน้าที่พลเมืองเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป จึงอยากให้นายจารุพงศ์เข้าใจประเด็นการปกครองใระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ป็นประมุขอย่างถ่องแท้ว่าประชาชนมีสิทธิอย่างไรตามกฎหมาย เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแค่ต้องดำเนินการตามที่พรรคเพื่อไทยต้องการเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามท่าทีของนายจารุพงศ์ ก่อนการทำประชามติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีการรณรงค์ ประชาเสวนา โดยในการประชุมข้าราชการฝ่ายปกครอง นายจารุพงศ์ ได้แสดงความเห็นและใช้คำพูดในลักษณะดูถูกประชาชน เช่น บอกว่าพวกที่โง่ไม่ต้องเอามาเข้าร่วม ตนคิดว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะรับรู้และเข้าไปแสดงความเห็นในวงเสวนาได้ คนเห็นต่างจากรัฐบาลไม่ใช่คนโง่ แต่เป็นจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันเท่านั้น อยากให้มองประชาชนว่ามีความเห็นต่างได้และมีสิทธิแสดงออกในความคิดของเขาแม้ความคิดจะไม่เหมือนกับรัฐบาลก็ตามต้องเคารพความเห็นของประชาชน

ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางการทำประชามติ เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะลดความขัดแย้งได้ ถ้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสามจะมีพรรคการเมืองหรือบางกลุ่มบุคคลออกมาคัดค้านและยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อีก ส่วนที่จะให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา ดูง่ายแต่ที่จริงมันยาก เพราะถ้าแก้ 1 มาตราพรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือ ส.ว.บางกลุ่มไม่เห็นด้วย หากรวมกันมี 180 คน แปรญัตติทุกคน ก็ใช้เวลายาวนานมาก ทางเดินมีแต่ขวากหนามทั้งนั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น