xs
xsm
sm
md
lg

เหตุผลที่คู่ควรแก่การไว้วางใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การที่บุคคลได้รับการรับรู้และยกย่องในฐานะเป็นบุคคลที่ “คู่ควรแก่ความไว้วางใจ” อาจมีรากฐานจากปัจจัยที่แตกต่างกันหลายประการ แต่ปัจจัยที่มีความสำคัญสี่ประการ คือ พฤติกรรมในอดีต แรงจูงใจ สัญลักษณ์ และสัญญาณ

บ่อยครั้งเรารู้หรือเชื่อว่า เรารู้จากการสังเกตพฤติกรรมบุคคลอื่นว่า พวกเขาเป็นผู้ที่รักษาสัญญาหรือไม่ สิ่งที่พวกเขาพูดกับสิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ เป็นบุคคลที่มีการพูดโกหกหรือไม่ ใช้ทรัพย์สิน อุปกรณ์ สิ่งของที่ไม่ใช่ของตนเองอย่างระมัดระวังหรือไม่

ประชาชนผู้ติดตามรับข้อมูลข่าวสาร ย่อมสามารถสังเกตได้ว่า นักการเมืองคนใดเป็นคนที่โกหกหรือไม่ โดยดูจากสิ่งที่เขาพูดและกระทำ เช่น นักการเมืองบางคนพูดในที่สาธารณะว่ายอมรับการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ครั้นเมื่อตนเองถูกดำเนินคดี และศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก นักการเมืองผู้นั้นกลับหนีไปต่างประเทศ และวิจารณ์ศาลอย่างรุนแรงว่า คำพิพากษาของศาลไม่ยุติธรรม นักการเมืองแบบนี้ย่อมไม่คู่ควรแก่การได้รับการเชื่อถือไว้วางใจ

อย่างไรก็ตาม มีผู้คนอีกจำนวนมาก แม้จะสังเกตเห็นว่า นักการเมืองหรือบุคคลบางคนมีพฤติกรรมอย่างไร แต่ก็ยังเชื่อถือไว้วางใจต่อบุคคลเหล่านั้น

ทำไมผู้คนจำนวนหนึ่งยังมีความเชื่อเช่นนั้นอยู่

คำตอบก็คือ เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ผลความสอดคล้องที่ผิดพลาด” (false consensus effect) ซึ่งหมายถึง การที่บุคคลหนึ่งสำนึกรู้ว่าตนเองเป็นคนที่ไม่คู่ควรแก่การได้รับความไว้วางใจ บุคคลนี้ก็มักจะทึกทักและมีแนวโน้มเชื่อว่า บุคคลอื่นๆ ก็เป็นคนที่ไม่คู่ควรแก่การไว้วางใจเช่นเดียวกัน ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงมีแนวโน้ม “ไม่ไว้วางใจผู้อื่น”หรือ “คนไม่ซื่อ เชื่ออย่างง่ายดายว่า คนอื่นจะเลวเหมือนตนเอง”

ลองพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกลไกความเชื่อดังกล่าวที่สะท้อนในสังคม เช่น นายแดง เชื่อถือศรัทธา นายแม้ว เพราะเขารู้ว่า นายสงค์ ซึ่งเป็นคนที่นายแดงเชื่อถือ มีความเชื่อถือไว้วางใจ นายแม้ว การอนุมานของนายแดงในลักษณะเช่นนี้อาจไม่ถูกต้องเพราะว่า ความเชื่อถือไว้วางใจที่นายสงค์ มีต่อ นายแม้ว อาจเกิดจาก “ผลความสอดคล้องที่ผิดพลาด”

มนุษย์มักจะ “เชื่อถือไว้วางใจ” หรือ “ไม่เชื่อถือไว้วางใจ” ด้วยเหตุผลที่แย่ๆอยู่เสมอ เรามักจะเชื่อว่า เราเหมือนคนอื่น หรือ คนอื่นเหมือนเรา เกินเลยจากข้อเท็จจริงอยู่บ่อยครั้ง และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกผิดหวัง เมื่อวันหนึ่งเราเริ่มตระหนักรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร

บางที เราไว้วางใจผู้อื่นเพราะว่าเรารับรู้พวกเขาว่าเป็นคนที่เอาใจใส่ดูแลตนเองหรือครอบครัวเป็นอย่างดี ความไว้วางใจแบบนี้มีจากความเชื่อที่ว่า หากบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่สนใจแม้กระทั่งการดูแลตนเองหรือของครัวตนเองแล้ว จะไปดูแลชุมชนหรือสังคมอย่างไร และพัฒนาไปสู่ความเชื่อที่ว่า “คนรวยแล้วไม่โกง” หรือ “รวยแล้วอยากช่วยเหลือประเทศชาติ”

นักการเมืองของหลายประเทศจึงมักสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองเป็นคนที่รักครอบครัวและดูแลครอบครัวของตนเองเป็นอย่างดี รวมทั้งแสดงต่อประชาชนว่าตนเองมีฐานะทางการเมืองดีเพียงพอแล้ว เพื่อทำให้ประชาชนเชื่อว่าเขาจะเป็นผู้บริหารประเทศที่ดีและไม่ทุจริต

ปัญหาก็คือว่า นักการเมืองที่เป็นนักต้มตุ๋นและนักหลอกลวงมักทำให้เหยื่อของพวกเขาเชื่อว่าพวกเขาเป็นคนที่สนใจดูแลตนเองและครอบครัวเป็นอย่างดี ทั้งที่สิ่งที่พวกเขาทำคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาแสดงออกมา

กรณีทั่วไปที่พบเห็นได้เสมอคือ นักต้มตุ๋น ไปหลอกบุคคลอื่นๆว่า ให้ลงทุนในสิ่งโน้นสิ่งนี้ แล้วจะได้รับผลตอบแทนที่ดี หรือ นักขายเลข ขายหวย เที่ยวไปบอกคนโน้น คนนี้ว่า เลขนี้เป็นเลขเด็ด หากซื้อต้องถูกหวยแน่ เมื่อถูกถามว่า หากการลงทุนหรือเลขนั้นดี ทำไมคนบอกไม่ไปลงทุนเองหรือเก็บเลขไว้ซื้อหวยเอง บรรดานักต้มตุ๋น ก็จะอ้างว่าต้องการช่วยเหลือเหยื่อของตนเองเพื่อเป็นทำให้ตนเองได้บุญบ้าง หรือ บางครั้งก็อ้างตนเองได้เลขมาจากอำนาจศักสิทธิ์ ทำให้ซื้อด้วยตนเองไม่ได้

การอ้างการกระทำที่มีแรงจูงใจจากการต้องการช่วยเหลือผู้อื่นหรือช่วยเหลือสังคม โดยที่ไม่เคยมีประวัติมาก่อนว่าเคยกระทำอย่างนั้นติดต่อกันมาอย่างยาวนาน จึงเป็นสิ่งที่เชื่อถือหรือไว้วางใจไม่ได้

ในการเลือกตั้งของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2554 มีผู้สมัครคนหนึ่ง อ้างว่าสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีแรงจูงใจที่จะเข้ามาปราบการทุจริต ทั้งที่บุคคลดังกล่าวไม่เคยมีประวัติในเรื่องการต่อสู้กับการทุจริตมาก่อน แต่ในการหาเสียงใช้สัญลักษณ์หน้าตาที่ดุดันจริงจัง จนทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งตกเป็นเหยื่อ และเลือกพรรคของบุคคลนี้เป็นจำนวนมาก

สัญลักษณ์ คือรูปลักษณะของบุคคล กลุ่ม หรือ สถาบัน ที่ผู้คนในสังคมคิดว่า “คู่ควรแก่ความไว้วางใจ” กระนั้นก็ตามความคิดนี้อาจถูกหรือผิดก็ได้ จากการศึกษาในกลุ่มคนขับรถแท็กซี่เกี่ยวกับความไว้วางใจต่อผู้โดยสารว่าผู้โดยสารจะจี้หรือปล้นเขาหรือไม่ พบว่า ผู้หญิงได้รับความไว้วางใจจากคนขับรถแท็กซี่มากกว่าผู้ชาย

จากการสำรวจหลายครั้งของสำนักโพลต่างๆในประเทศพบในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า นักการเมืองเป็นอาชีพที่เป็นสัญลักษณ์ของการทุจริตมากที่สุด รองลงมาคือข้าราชการ

สำหรับการศึกษาทางด้านความไว้วางใจต่อสถาบันและองค์การทางสังคมและการเมืองในสังคมไทยพบว่า ศาลยุติธรรมได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด ขณะที่พรรคการเมืองได้รับความไว้วางใจน้อยที่สุด

ในส่วนที่นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันปรากฏว่า นโยบายจำนำข้าวเป็นสัญลักษณ์ของการทุจริตมากที่สุด

ด้านสัญญาณเป็นพฤติกรรมที่ระบุถึงหลักฐานที่คู่ควรแก่ความไว้วางใจ ซึ่งรวมทั้งสัญญาณที่เราจงใจสร้างขึ้นมาเอง หรือ ลอกเลียนผู้อื่นมา แต่ละสังคมมีสัญญาณและตีความสัญญาณของความไว้วางใจแตกต่างกันออกไป

การสวมเสื้อสูท เป็นสัญญาณที่ได้รับความไว้วางใจมากกว่าการสวมเสื้อยืด หรือ การพูดโดยการมองตาผู้อื่น เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความจริงใจมากกว่าการพูดที่กลอกตาไปมา หรือ การใส่ชุดในเครื่องแบบราชการในบางพื้นที่ อาจเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ไว้วางใจในกลุ่มชาวบ้าน หรือ การใส่ชุดตามหลักศาสนาใดศาสนาหนึ่ง อาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ที่นับถือศาสนาอื่น เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป บุคคลหรือองค์การที่คู่ควรแก่ความไว้วางใจ จะต้องมีพฤติกรรมในอดีตที่พิสูจน์ได้ชัดว่า สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำต้องเป็นสิ่งเดียวกัน มีแรงจูงใจที่สร้างประโยชน์แก่ส่วนร่วม เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งถึงคุณธรรมความดีงาม และแสดงสัญญาณอันเป็นหลักฐานที่สามารถสร้างความไว้วางใจได้


กำลังโหลดความคิดเห็น