xs
xsm
sm
md
lg

ต้นทุนของประชาชนในการเข้าถึงตลาดนโยบายสาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

กล่าวถึงที่สุดการเข้าถึงตลาดนโยบายสาธารณะ (Public Policy Market Access) ของประชาชนมี ‘ต้นทุน’ ที่ต้องจ่ายมากมายภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่แม้กระทั่งความสูญเสียของประชาชนถึงขั้นสิ้นอิสรภาพหรือเสียชีวิตก็ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้หากไม่ได้รับการเห็นพ้องจากชนชั้นนำ (Elites) ที่สังกัดสถาบันทางการต่างๆ ตั้งแต่การเมือง ราชการ วิชาการ และทหาร รวมถึงทุน เนื่องด้วยเสียง (Voice) ประชาชนถึงที่สุดแล้วมักไม่มีเสียง (Voiceless) ในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศแต่อย่างใดถึงรัฐธรรมนูญให้สิทธิอำนาจไว้ก็ตามที

ทั้งนี้ ถึงแม้ประชาชนส่วนหนึ่งจะหลอมรวมตนเองเข้ากับพรรคการเมืองที่ชื่นชอบจนเสี่ยงยอมเอาต้นทุนชีวิตเข้าร่วมขบวนบนท้องถนน และผนวกตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลหลังชนะเลือกตั้ง แต่ก็ใช่ว่าระหว่างทางของการใช้ชีวิตแบบฝูงชนบนท้องถนนและเป็นเสียงสนับสนุนหลังหย่อนบัตรเลือกตั้งนั้น จะสามารถผลักดันนโยบายสาธารณะที่ขจัดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมได้ดังฝันอย่างง่ายๆ ด้วยนโยบายของพรรคการเมืองไม่เพียงมีกลุ่มทุนเบื้องหลังสั่งการและเจรจาต่อรองผลประโยชน์กันเองในกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น ทว่ายังมักอ้างอิง ‘ผลประโยชน์ของประชาชน’ เพื่อลดการตรวจสอบกระบวนการกำหนดและดำเนินนโยบายที่มีแนวโน้มของการทุจริตคอร์รัปชันและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศด้วย

การเข้าถึงตลาดนโยบายสาธารณะเพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะที่จะขจัดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมผ่านการเคลื่อนขบวนกับพรรคการเมืองจึงมีข้อจำกัดมากกว่าเป็นโอกาส และเป็น ‘ต้นทุนปฏิบัติการ’ ที่ประชาชนต้องแบกรับภาระอย่างเดียวดายภายหลังพาพรรคการเมืองถึงฝั่งทั้งในรูปแบบที่ประชาชนหนุนให้ใช้กำลังยึดอำนาจรัฐและใช้อำนาจอธิปไตยไปในการเลือกตั้ง ด้วยเพราะความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงยามนี้เกิดมาจากการสูญเสียผลประโยชน์ของชนชั้นนำมากกว่าอุดมการณ์ที่ขัดกันในลักษณะคู่ตรงข้าม ‘ประชาธิปไตย-เผด็จการ’ แม้ทั้งสองฝั่งจะอ้างอิงความเป็นประชาธิปไตยเหมือนกันและผลักอีกข้างว่าเป็นเผด็จการเหมือนๆ กัน แต่กระนั้นเมื่อเป็นรัฐบาลทั้งคู่กลับปฏิบัติเหมือนกันด้านนโยบายสาธารณะคือไม่รับฟังความคิดเห็นและข้อเรียกร้องของประชาชน โดยเฉพาะคนสีเสื้อตรงข้ามซึ่งเป็นสถานะของความขัดแย้งเพียงชั่วคราวจนกระทั่งละเลยและละเมิดความเป็นประชาชนของพวกเขา

อนึ่ง ถึงแม้มีนโยบายสาธารณะส่วนหนึ่งซึ่งผลิตออกมาตรงตามความต้องการของประชาชนจากการที่รัฐบาลสามารถใช้เครื่องมือทางการตลาด (marketing tools) จับคู่กับความต้องการของประชาชนที่เป็นฐานคะแนนเสียงได้ แต่ในระยะยาวแล้วนโยบายเหล่านั้นมักกลืนกินตัวเองเนื่องจากขาดความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ กระทั่งอาจทำประเทศชาติล้มละลายจากการทุจริตและใช้จ่ายงบประมาณสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างความอยุติธรรมและเหลื่อมล้ำเลย แม้กระทั่งในกลุ่มประชาชนที่เป็นเป้าหมายของการดำเนินนโยบายประชานิยมที่ระยะยาวแล้วก็ยังจะคงข้นแค้นดังเดิม

ดังนั้น การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยในช่วงนโยบายประชานิยมเฟื่องฟูจึงไม่อาจทำได้แค่การเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะร่วมกับพรรคการเมืองหรือรัฐบาลเพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนซึ่งต้องมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าจะเข้าร่วมได้จุดไหน เมื่อใด และด้วยกระบวนการเช่นไร เท่านั้น แต่ต้องสร้าง ‘ตลาดนโยบายสาธารณะ’ (Public Policy Market) ของประชาชนที่ปลอดจากการกำกับ ควบคุม หรือแทรกแซงตลาดนโยบายสาธารณะอย่างเข้มงวดจนกระทั่งทำให้นโยบายสาธารณะที่มีความแตกต่างจากกระแสหลักหรือส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของชนชั้นนำไม่ถูกพูดถึงหรือพูดไม่ได้ด้วย ด้วยเพราะนโยบายสาธารณะที่เปลี่ยนประเทศไทยให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาคนั้นจะเกิดจากพลังของประชาชนมากกว่าชนชั้นนนำ โดยเฉาะกลุ่มกำหนดนโยบายแบบทางการ (Formal Policy Maker) ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ที่มักผลิตนโยบายสาธาณะเพื่อคงสถานภาพดั้งเดิม (Status Quo) ไว้

ในการออกแบบตลาดนโยบายสาธารณะจึงต้องดึงดูดประชาชนเข้าสู่ตลาดมากที่สุดโดยการยึดหลักการ ‘เสรีนิยม’ ที่ทุกคนทุกเสียงมีความเท่าเทียมกันในการเสนอแนะข้อคิดเห็นทัศนะอุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกันได้ไม่ต่างจากการเป็นตลาดทางความคิด (Marketplace of Ideas) ที่ให้ความหลากหลายทางความคิดความเชื่อได้แสดงออก เพราะการผูกขาดครอบงำตลาดหรือการกำกับควบคุมและแทรกแซงตลาดอย่างเข้มงวดจะผลักดันประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะออกไปจากตลาดนโยบายสาธารณะ ภายในเวลาเดียวกันก็กีดกันสกัดกั้นประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งอยู่นอกตลาดนโยบายสาธารณะให้ไม่ได้เข้ามาร่วมด้วย เพราะส่วนหนึ่งเห็นว่าข้อมูลที่มี ความคิดเห็นที่ยึดมั่น หรืออุดมการณ์ที่ศรัทธาต้องถูกขจัดออกไปจากตลาดแน่ๆ การเลือกจะไม่เข้าร่วมจึงดีกว่า ทั้งๆ ที่ประชาชนที่เปลี่ยนแปลงตนเองเป็นพลเมืองกระตือรือร้น (Active Citizen) ก็มีจำนวนน้อยมากอยู่แล้วในประเทศไทย

พลเมืองกระตือรือร้นเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดนโยบายสาธารณะของเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติที่ได้รับการออกแบบมาให้ดึงดูดประชาชนเข้าร่วมสูงสุดเพื่อจะผลิตข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีความเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้โดยตัว ‘มติสมัชชาปฏิรูป’ เองที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าก่อคุณประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนเสมอเหมือนกันทุกสีเสื้อจะทำให้สามารถ ‘ตอบโจทย์สังคมไทย’ ได้ในห้วงขณะที่การเข้าถึงตลาดนโยบายสาธารณะช่องทางอื่นๆ มีต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่ายสูงมากจากการเสี่ยงเสียชีวิตบนถนนเมื่อถูกชนชั้นนำดึงสู่สมรภูมิรบแตกหัก หรือถูกกำจัดเมื่อคัดค้านนโยบายที่ทำลายทรัพยากรชุมชน ตลอดจนเสี่ยงต่อความผิดหวังกับพรรคการเมืองที่ชื่นชอบจากการเดินหน้าแต่นโยบายประชานิยมโดยไม่แตะต้องโครงสร้างความอยุธรรมและเหลื่อมล้ำเลย

ด้วยเหตุปัจจัยเช่นนี้เองทำให้การจะบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยที่เป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาคจำเป็นต้องเร่งขจัดอุปสรรคและลดต้นทุนของประชาชนในการเข้าถึงตลาดนโยบายสาธารณะให้ได้มากที่สุด โดยต้องมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปการเมืองในฐานะกลไกเอื้ออำนวยให้ตลาดนโยบายสาธารณะดำเนินไปได้โดยอิสระ เพราะการเมืองที่คับแคบจักจำกัดการแลกเปลี่ยนประเด็นวิกฤตต่างๆ ด้วยการอ้างว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว (Sensitive) หรือไม่ก็ใช้วาทกรรมความมั่นคงของชาติ (National Security) มากดทับ และผลักอีกฝั่งที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐว่าเป็นปฏิปักษ์แม้จะแสดงเหตุผลข้อมูลมากมายมาตอบโต้ถึงความไม่สมเหตุสมผลของนโยบายสาธารณะที่รัฐกำลังทำอยู่ก็ตามที ที่สำคัญตลาดนโยบายสาธารณะต้องเปิดกว้าง ไม่ถูกผูกขาดครอบงำโดยกลุ่มชนชั้นนำ รวมทั้งยังต้องพัฒนาหรือสร้างกลไกกฎหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงตลาดนโยบายสาธารณะได้โดยง่าย ภายในขณะเดียวกันก็ต้องมีแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะโดยการลดภาระต้นทุนในการเข้าร่วมของประชาชนโดยการกระจายภาระต้นทุนปฏิบัติการและต้นทุนด้านอื่นๆ ให้ฝ่ายรัฐรับไป

เหนืออื่นใดตลาดนโยบายสาธารณะต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเสียงของตนเองสามารถสร้าง ‘ทางเลือกทางนโยบาย’ ที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นธรรมและเท่าเทียมได้ ด้วยการวางรากฐานการแข่งขันกันทางนโยบายที่มีความเสมอภาค ไม่มีอภิสิทธิชนกำหนดสิทธิพิเศษ

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องทำให้ตลาดนโยบายสาธารณะมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ (Perfect Competition) ด้วยการเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพทางอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชั้นนำกับประชาชน ให้กลับมาเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกันมากขึ้น เข็มทิศปฏิรูปประเทศไทยที่พุ่งไปยังการสร้างตลาดนโยบายสาธารณะจะส่งผล (Outcome) ให้ตลาดนโยบายสาธารณะมีประสิทธิภาพ (Market Efficiency) และมีปฏิบัติการ (Market Performance) ที่ดี ที่สำคัญการเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะนับแต่การริเริ่มประเด็นปัญหา การวิเคราะห์ทางเลือกทางนโยบาย ไปจนถึงการติดตามและประเมินผล ในท่ามกลางการแข่งขันกันของตลาดนโยบายสาธารณะที่มีหลายระดับทั้งท้องถิ่นและประเทศชาติ และมีด้วยกันหลายตลาด จะทำให้แก้วิกฤตต่างๆ ของสังคมไทยอันเนื่องมาจากรากเหง้าความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำที่ผลิตผลออกมาเป็นความยากจน การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ความยุติธรรมที่อยุติธรรม ไปจนถึงการแตกแยกทางการเมืองได้

โดยนัยนี้พิสูจน์ว่าพลังการแข่งขันในตลาดนโยบายสาธารณะจากการมีผู้เล่นจำนวนมากรายทั้งด้านซื้อและขายนโยบายซึ่งหมายถึงประชาชนที่เปลี่ยนแปลงตนเองเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นจำนวนหนึ่งจะทำให้ไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมถึงชนชั้นนำมีอำนาจเหนือตลาดนโยบายสาธารณะ ประกอบกับยุคโลกาภิวัตน์ที่การเคลื่อนย้ายข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างเสรีจะทำให้ประชาชนสามารถตัดผ่านเส้นแบ่งต่างๆ ทางภูมิศาสตร์หรือชนชั้นเพื่อขับเคลื่อนความปรารถนาของตนเองที่มีต่อประเทศไทยผ่านทางตลาดนโยบายสาธารณะที่มีต้นทุนปฏิบัติการและต้นทุนด้านอื่นๆ ต่ำได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ตลาดนโยบายสาธารณะยังคงเป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ (Public Sphere) ต่อไปได้ด้วยมีประชาชนเป็นกลจักรขับเคลื่อน

ยิ่งประชาชนเข้าถึงตลาดนโยบายสาธารณะได้มากจากการลดต้นทุนปฏิบัติการและต้นทุนอื่นๆ ก็ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณของนโยบายสาธารณะดังเช่นกระบวนการเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติที่มีต้นทุนต่ำสำหรับให้ประชาชนเข้าร่วมได้มากที่สุด ซึ่งละม้ายกับการค้าระหว่างประเทศที่ยิ่งเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากจากการลดอุปสรรคทางการค้าด้วยมาตรการด้านภาษี (Tariff Barriers) และมิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศ การสร้างตลาดนโยบายสาธารณะจึงต้องมุ่งเน้นขจัดอุปสรรคการเข้าถึงตลาดนโยบายสาธารณะ (Public Policy Market Access) ของประชาชน

กล่าวถึงที่สุดตลาดนโยบายสาธารณะจะใกล้เคียงความสมบูรณ์ได้ พรรคการเมืองต่างๆ ต้องแข่งขันกันนำเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนช่วงเลือกตั้งในการซื้อ-ขายนโยบายแลกคะแนนเสียง และต้องส่งเสริมการแข่งขันในตลาดนโยบายสาธารณะแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นนโยบายประชานิยม โดยใช้กลไกและมาตรการต่างๆ ที่มีความเหมาะสมมากำกับ ควบคุม ตรวจสอบ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายประชานิยมเหล่านั้น และที่สำคัญต้องเร่งขจัดอุปสรรคขวากหนามการเข้าสู่ตลาดนโยบายสาธารณะของประชาชนโดยการลดต้นทุนของประชาชนด้านต่างๆ ในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพราะต้นทุนปฏิบัติการและต้นทุนด้านอื่นๆ ที่ประชาชนต้องแบกรับมีส่วนสำคัญต่อความล้มเหลวหรือสำเร็จในการปฏิรูปประเทศไทยเพราะหมายถึงการตัดสินใจเลือกจะกระทำหรือไม่กระทำอะไรนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น