xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจ ‘ประชาชน VS ชนชั้นนำ’ความเหลื่อมล้ำในการกำหนดทิศทางปฏิรูปประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

นอกเหนือจากความแตกแยกของชนชั้นนำ (elites) อันเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองจักนำความสูญเสียมหาศาลสู่ประเทศไทยจนขยับเข้าใกล้สภาวะรัฐที่ล้มเหลว (failed state) เพราะไม่เพียงกลไกในการบริหารจัดการภาครัฐจะมีประสิทธิภาพลดลงเพราะขาดเสถียรภาพทางเมืองและการบริหารจัดการนโยบายเท่านั้น ทว่าทิศทางประเทศไทยยังถูกกำหนดอย่างคับแคบจากความต้องการของกลุ่มชนชั้นนำทั้งที่สังกัดพรรคการเมือง กลุ่มทุน ทหาร และแกนนำขบวนการทางสังคมที่ยึดโยงกับพรรคการเมืองคอยกุมทิศทางความคิดของสังคมไทยว่าควรไปในทิศทางใดด้วย ด้วยที่สุดแล้ว ‘ความคิด’ ของชนชั้นนำเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการสร้างสถาบันในสังคม กำหนดและกำกับกฎกติกาในสังคม ตลอดจนกลายมาเป็นบรรทัดฐานสำหรับการอ้างอิงและตีความปรากฏการณ์สังคมต่างๆ ทั้งที่มีสถานะวิกฤตและไม่วิกฤต

ทั้งๆ ความคิดของชนชั้นนำมีทั้งถูกและผิด ทั้งสอดคล้องและไม่สอดคล้องกับบริบทประเทศไทยไม่ต่างจากความคิดของประชาชนทั่วไป แต่ทว่าเหตุปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา มักถูกผูกขาดในกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ ที่สำคัญผลกระทบอันเกิดจากความคิดของกลุ่มชนชั้นนำส่วนหนึ่งที่เป็นทั้งผู้นำการเปลี่ยนแปลงและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างยังทำลายกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างลึกซึ้งถึงระดับของการคิดด้วย เพราะชนชั้นนำจำนวนมากเหล่านี้มีสถานะนำทางความคิดจึงยึดถือความคิดตนเองเท่านั้นว่าถูกต้องเหมาะสม วิพากษ์อย่างอคติและบ่อยครั้งดิสเครดิตทุกแนวความคิดที่ต่างไปจากตน โดยเฉพาะแนวคิดประชาชนและขั้วตรงข้ามกับตำราที่ตนเองสวมกอดว่าเพ้อฝันหรืออันตราย พร้อมๆ กับผลักดันให้ความคิดของตนเองที่ก่อเกิดจากชุดค่านิยม ทัศนะ อุดมการณ์ และประสบการณ์หนึ่งๆ ถูกแปลงเป็นปฏิบัติการทางกฎหมายและนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทิศทางที่ตนต้องการและเห็นควร แม้ว่าแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยต้องการการถกเถียงทางความคิดและร่วมลงมือปฏิบัติการของประชาชนจำนวนมากก็ตามที

ทั้งนี้ ด้านหนึ่งถึงชนชั้นนำจะมีคุณูปการต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจกลุ่มตนเองและแสวงหาประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ในท้ายสุดความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจึงมักลิดรอนละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง การบรรลุเป้าหมายปฏิรูปประเทศไทยในความหมายของชนชั้นนำจึงไม่เกี่ยวกับการปรับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ แต่อย่างใด โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองที่ถูกมองว่าหมายถึงการสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมือง

เหตุนี้การปฏิรูปประเทศไทยที่พึงปรารถนาจึงต้องออกแบบรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจการบริหารชาติบ้านเมืองแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเหมาะสมโดยมีกฎกติกาสำหรับการตรวจสอบและถ่วงดุลที่พอเหมาะ และมีดุลยภาพกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงสร้างเครื่องมือและกำหนดกลไกให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางนโยบายในระดับต่างๆ ตั้งแต่การนิยามประเด็นปัญหา การกำหนดแนวทาง การวิเคราะห์ทางเลือก การกำหนดมาตรการทางกฎหมายและนโยบาย ไปจนถึงการนำไปปฏิบัติและประเมินผลนโยบาย ร่วมกับชนชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเปิดพื้นที่สาธารณะ (public sphere) เพื่อสร้าง ‘ทางเลือกในการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม’ ร่วมกัน เพราะจะทำให้ประเทศไทยในอนาคตไม่ถูกถั่งโถมจากความเหลื่อมล้ำจนกลายสภาพเป็นรัฐที่ล้มเหลวอันเนื่องมาจากการพัฒนาที่มีรากฐานแนวคิดในการมองอนาคตที่แตกต่างกันกระทั่งถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์กันโดยไม่มีเวทีใดๆ ให้ได้แสดงออก นอกไปจากการเลือกตั้งที่กว่าจะเวียนมาก็ต้องสี่ปีครั้ง นอกเหนือไปจากรากปัญหาความแตกแยกของชนชั้นนำที่สร้างวิกฤตสังคมไทยในช่วงทศวรรษนี้

ความเชื่อถือศรัทธาระหว่างกันทั้งในหมู่ประชาชนและกลุ่มชนชั้นนำที่ถูกทำลายลงอันเป็นผลมาจากการแบ่งขั้วทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำที่ดึงชนชั้นอื่นๆ เข้ามาร่วม รวมถึงจุดยืนทางศีลธรรมที่สั่นคลอนของผู้คนทั้งยากดีมีจนทำให้ประเทศไทยไม่อาจเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้เสียที ที่เลวร้ายกว่านั้นคือนโยบายและกฎหมายมากมายต่างก็ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะแก่เครือข่ายอำนาจที่มีความสัมพันธ์กันแนบแน่นในกลุ่มแคบๆ และยึดโยงผลประโยชน์ระหว่างกันด้วยวิธีการต่อรองอำนาจและจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในทิศทางที่เครือข่ายชนชั้นนำได้เข้าถึงและครอบครอง จนทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรสังคม ทรัพยากรเศรษฐกิจ และทรัพยากรการเมือง ไม่ได้ถูกจัดสรรและกระจายออกไปอย่างเป็นธรรมเพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

อนึ่ง ถึงผลประโยชน์ประชาชนหรือผลประโยชน์สาธารณะ (public interest) จะหาข้อยุติที่ทุกคนยอมรับได้ยากมากจากการที่มีลักษณะพลวัต (dynamic) และขึ้นกับบริบทสังคม (context) เป็นสำคัญ หากแต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องวางอยู่บนแนวคิดการต่อต้านคอร์รัปชันที่การกระทำหรือไม่กระทำทางนโยบายของผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นนำไม่ทำความเสียหายต่อผลประโยชน์ประชาชนแม้ว่าการทำให้ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์จะทำได้เพียงในทางทฤษฎีหรือโลกอุดมคติ แต่ทว่าการพยายามทำให้นโยบายที่กำหนดโดยกลุ่มโครงสร้างส่วนบนของพีระมิดอำนาจไม่เบียดเบียนประชาชนที่เป็นฐานล่างพีระมิดอำนาจก็อเนกอนันต์ต่อสังคมไทยที่ถั่งโถมด้วยความอยุติธรรมและเหลื่อมล้ำแล้ว

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสังคมส่วนรวมควรได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปประเทศไทย โดยในทางปฏิบัตินั้นประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายและนโยบายสาธารณะต่างๆ อันจะเป็นทั้งเครื่องมือและกลไกในการสร้างสังคมไทยที่เป็นธรรมหลังจากปล่อยให้ฝ่ายชนชั้นนำครอบงำและยึดกุมอำนาจในการกำหนดทิศทางประเทศไทยตามผลผลิตที่เป็น ‘ชุดความคิด’ ของพวกเขาเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการติดตามตรวจสอบการดำเนินนโยบายรัฐบาลและการสร้างมาตรการรับผิดต่อประชาชนภายหลังได้คะแนนเสียงประชาชนไปในระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก (majority) ที่มีประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งกลายเป็นเสียงส่วนน้อย (minority) คอยเวลาของการเลือกตั้งครั้งต่อไปเพื่อจะใช้สิทธิเสียงเลือกนโยบายที่แตกต่างออกไปตามที่ตนเองเห็นควรว่าเป็นอนาคตของปรระเทศไทยที่ควรมุ่งไป

ทว่าถึงที่สุดแล้วการจะหาฉันทามติ (consensus) ของประชาชนทุกคนต่อประเด็นปัญหาการปฏิรูปประเทศไทยไม่อาจทำได้ ด้วยประชาชนมีความแตกต่างทางความคิดความเชื่อและมีความหวังความปรารถนาต่ออนาคตของประเทศไทยไม่เหมือนกัน ดังนั้นโดยทั่วไปการกำหนดอนาคตประเทศจึงกระทำผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นสำคัญอันมีจุดหมายหนึ่งคือการให้ได้มาซึ่งเสียงข้างมากในการบริหารประเทศที่ต้องเคารพเสียงข้างน้อย โดยในกระบวนการหาเสียงข้างมากนอกจากจะเผชิญอุปสรรคสำคัญของการไม่เห็นพ้องต้องกันของประชาชนในแนวนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอแล้ว เอาเข้าจริงประชาชนก็ทำได้เพียงเลือกนโยบายที่ถูกกำหนดมาแล้วจากพรรคการเมืองที่ถูกกำหนดขึ้นมาจากความคิดของนักการเมือง เทคโนแครต ข้าราชการ และกลุ่มทุนเบื้องหลังพรรคการเมืองมากกว่าจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมคิดร่วมสร้างนโยบายต่างๆ

ถึงแม้จะมีกระบวนการศึกษาวิจัยถึงความต้องการของประชาชนมาบ้าง แต่ก็ยากมากที่จะครอบคลุมทุกเสียงทุกความต้องการของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนคับแค้น จึงเป็นเหตุให้พรรคการเมืองช่วงหาเสียงมุ่งแต่ผลิตนโยบายเอาใจฐานคะแนนเท่านั้น ชนชั้นนำจึงสัมพันธ์ทางลบกับการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม


ดังนั้น แนวทางการปฏิรูปประเทศไทยที่พึงปรารถนาของประชาชนนอกเหนือจากการกำกับพรรคการเมืองที่ชื่นชอบให้ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ของตนเองแล้ว ยังต้องเข้าร่วมเวทีสาธารณะต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทยที่มีความเป็นธรรมและเท่าเทียมโดยไม่ถูกครอบงำความคิดจากชนชั้นนำอีกต่อไปด้วย ดังเวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่พยายามสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันของทุกภาคส่วนสังคม เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่เพียงนโยบายซึ่งคิดและผลิตโดยกลุ่มชนชั้นนำมักจะเอารัดเอาเปรียบคนชนชั้นอื่น หากแต่ความไม่ยุติธรรมในการวางแผนงบประมาณและกำหนดนโยบายโดยกีดกันกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนยังเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จนผลักให้คนไทยจำนวนมากมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน (poverty line) ด้วย

ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงควรใช้อำนาจอธิปไตยในการเลือกตัวแทนโดยคำนึงถึงความสำคัญของนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ แข่งขันกันนำเสนอถึงแม้ว่านโยบายในช่วงรณรงค์หาเสียงจะไม่มีพันธสัญญากับประชาชนว่าต้องทำ เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วไม่ทำก็ไม่มีกฎหมายใดๆ ลงโทษทัณฑ์ได้ในฐานที่ละเมิดสัญญาประชาชนเนื่องจากไม่มีกลไกในการทำให้รัฐบาลต้องรับผิดต่อประชาชนกรณีผิดสัญญา ทว่าการผิดหวังการเมืองในสภาหรือการผิดสัญญาของรัฐบาลแล้วเลือกเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางสังคมโดยไม่เท่าทันความคิดของแกนนำก็จะทำให้เพลี่ยงพล้ำตกเป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจได้ ไม่เท่านั้นความคิดแกนนำบางส่วนยังอาจพาประเทศไทยไปในทิศทางตรงข้ามกับการปฏิรูปประเทศไทยที่ตนเองปรารถนาด้วย เนื่องจากแฝงเร้นไปด้วยผลประโยชน์ส่วนบุคคลและการคงรักษาไว้ซึ่งสถานภาพเดิม (status quo)

นอกจากนั้นประชาชนยังต้องขับเคลื่อนความปรารถนาผ่านการเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกับพรรคการเมือง การเคลื่อนพลบนท้องถนนหรือชุมนุมสาธารณะกับแกนนำขบวนการทางสังคมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมเวทีสาธารณะที่เปิดกว้างให้ได้แสดงทัศนะและเสนอข้อคิดเห็นต่อประเด็นวิกฤตของสังคมไทยโดยใช้กระบวนการแสวงหาฉันทามติในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะทำให้ได้ผลลัพธ์ (outcome) เป็นแนวทางการแก้ไขที่พรรคการเมืองต่างๆ ไม่หาญกล้าทำได้ ในขณะเดียวกันก็ลดการถกเถียงโดยใช้อคติได้ในระดับหนึ่ง ดังกรณีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะหลังการออกมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 ก็มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องของประชาชนในพื้นที่พิพาทร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเจรจาต่อรองกับรัฐบาลให้ชะลอการจับกุมในพื้นที่ที่มีการพิพาทเรื่องบุกรุกที่ดินรัฐ และผลักดันโครงการโฉนดชุมชนที่ปัจจุบันมีหลายร้อยชุมชนเข้าร่วมแข็งขัน

อำนาจกำหนดนโยบายของประชาชนจึงไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง แต่ไหลเวียนอย่างมีพลวัตอยู่ทุกที่ทุกแห่งเพราะอำนาจประชาชนแผ่ซ่านไปทุกองคาพยพ ดำรงและเคลื่อนไหวในทุกที่ทุกเวลา

ทว่าการจะทลายเครือข่ายอำนาจชนชั้นนำที่กอปรด้วยกลุ่มการเมืองและทุน รวมถึงทหารนั้นประชาชนก็ต้องเปลี่ยนตนเองโดยการกระตือรือร้นเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะมากขึ้นตั้งแต่ต้นธารการนิยามปัญหาไปจนถึงการตรวจสอบและประเมินผลนโยบาย ซึ่งภายใต้สังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้นการฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองว่าจะเสนอนโยบายเพื่อปรับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างชนชั้นต่างๆ คงไม่อาจทำได้ ด้วยมักคิดเก็บเกี่ยวอำนาจไว้เฉพาะกลุ่มจึงเสนอแต่นโยบายประชานิยม (populism) เพื่อดึงดูดประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งได้ประโยชน์ให้สนับสนุนและปกป้องการวิพากษ์วิจารณ์

ทั้งๆ ที่นโยบายที่ผลิตขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยไม่ได้ผลิบานมาจาก ‘ความคิด’ โดยลำพังของชนชั้นนำ แต่อวดอ้างว่าผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์มาอย่างถี่ถ้วนนั้นควรจะทำให้คนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์ แม้ไม่เท่ากัน แต่ก็ต้องไม่ทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสียประโยชน์ทั้งหมด และเหนืออื่นใดกลุ่มเดือดร้อนจากการดำเนินนโยบายประชานิยมนั้นๆ ก็ควรมีสิทธิเสียงแสดงความคิดเห็นคัดค้านหรือต่อต้าน เพราะผลประโยชน์ของประชาชนนั้นต้องการการถกเถียงถึงจุดลงตัวเพราะที่สุดแล้วประชาชนไม่ได้มีเอกภาพหนึ่งเดียวด้านความคิดและผลประโยชน์ แม้ว่าระหว่างนั้นรัฐจะใช้ ‘ผลประโยชน์ประชาชน’ เป็นเหตุผลสร้างความชอบธรรมทางการเมือง และประชาชนใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านนโยบายรัฐก็ตามที

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวมา ประชาชนจึงควรเข้าร่วมเวทีสาธารณะต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทยที่ปรารถนาจะเห็นและยินดีเป็น ‘กลจักรขับเคลื่อนความปรารถนา’ นั้นตามข้อยุติเชิงนโยบายที่ร่วมกันคิดสร้างเพื่อสถาปนาความเป็นธรรมและเท่าเทียมขึ้นในสังคมไทยเพื่อเป็นพลังหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลง (change) แก่ประเทศไทย ซึ่งการจะทำให้อนาคตที่พึงปรารถนามาถึงได้นั้น ก็ต่อเมื่อสามารถออกแบบพื้นที่หรือเวทีสาธารณะที่ดึงดูดประชาชนเข้ามาร่วมใน ‘ตลาดนโยบายสาธารณะ’ ได้มากที่สุดโดยไม่อคติกับสีเสื้อที่สวมใส่ต่างกันหรือชุดอุดมการณ์และผลประโยชน์ต่างกัน เพื่อท้ายสุดแล้วจะลดทอนความเหลื่อมล้ำในการกำหนดทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยที่ถูกครอบงำโดยชนชั้นนำมาช้านานลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น