xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปประเทศไทยด้วยการปฏิวัติความปรารถนาประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

หนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำประเทศไทยไม่เปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นธรรมและเท่าเทียมในสังคมคือการไม่เชื่อมั่นในศักยภาพตนเองของประชาชน และไม่ร่วมมือกันขับเคลื่อนความปรารถนาทางสังคมร่วมกัน

การดำรงอยู่อย่างไม่มีความหวังของประชาชนว่าจะสามารถพังทลายความอยุติธรรมและเหลื่อมล้ำในสังคมคือขวากหนามอุปสรรคของการเปลี่ยนประเทศไทยตามความปรารถนาที่วาดหวังไว้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเชื่อมั่นยึดถืออุดมการณ์ชุดใดความหวังก็ยังคงสำคัญเพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตปัจจุบัน

ทว่าความหวังที่จะเห็นประเทศไทยมีความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาคนั้นกลับกลายเป็นแค่ ‘ความหวังลมๆ แล้งๆ’ และมีสถานะเป็นเพียง ‘ยาเสพติด’ ที่คอยปลอบประโลมจิตใจให้คลายเศร้าโศก หลอกหลอนและระงับความรวดร้าวขื่นคาวจากการเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมเหลื่อมล้ำทั้งในระดับปรากฏการณ์และโครงสร้างที่ลำพังพลังปัจเจกชนไม่สามารถสั่นคลอนได้ถ้าไม่ร่วมกันขับเคลื่อน เนื่องจากโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อยุติธรรมและเหลื่อมล้ำสุดขั้วของไทยที่ทวีคูณความเข้มข้นขึ้นทุกวันนั้นได้จำกัดศักยภาพ กำจัดเสรีภาพ และขจัดจินตนาการของประชาชนในการร่วมกันก้าวสู่เป้าหมาย

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าความปรารถนาของประชาชนที่มีต่ออนาคตของประเทศไทยไม่ได้จำกัดคับแคบแบบเดียว แต่เปิดกว้างตามความคิดความเชื่อและมุมมองของแต่ละกลุ่มก้อน ตลอดจนประเพณีที่สังกัดและสำนักคิดที่สมาทาน ความปราถนาต่อประเทศไทยในอนาคตจึงคลุมเครือไม่ชัดเจนและไม่เป็นหนึ่งเดียวดังกลุ่มกุมอำนาจรัฐปรารถนาจะสร้างขึ้นภายใต้นามความสมานฉันท์เป็นปึกแผ่น (solidarity)

ประเทศไทยในอนาคตจึงแตกต่างกันไปตามทัศนะและอุดมการณ์ของแต่ละบุคคล จนอาจกล่าวได้ว่าถึงที่สุดแล้วไม่มีแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทยที่ดีหรือเลวกว่ากัน ผิดหรือถูกกว่ากัน ถ้าแนวคิดเหล่านั้นไม่สุดโต่ง (extreme) กระทั่งทำให้สิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งใช้ความรุนแรงไปในนามของสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรองรับหรือฉวยใช้วาทกรรมประชาธิปไตยไปละเมิดสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในอีกด้านของเหรียญเดียวกันก็ต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) การบริหารชาติบ้านเมืองของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายประชานิยมและการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางต่อสุขภาวะประชาชน สังคม สิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากยังมักมาคู่กับการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล ขูดรีด หรือกดขี่บีฑาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคลของนักการเมืองด้วย

การปรารถนาจะควบคุม ‘ความปรารถนาของประชาชนที่หลากหลาย’ ให้มีหนึ่งเดียวจึงเป็นไปไม่ได้ ในทำนองเดียวกันกับการพยายามจะควบคุมความคิดของประชาชนที่มีต่อสถาบันทางสังคมหรือประเด็นสาธารณะหนึ่งๆ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน แต่กระนั้นก็มีความพยายามออกแบบแกมบังคับประเทศไทยให้ไม่มีความหลากหลายทางความคิดความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันทางสังคม รวมถึงลดทอนการถกเถียงด้วยเหตุผลโดยการผลักให้อีกฝักฝ่ายเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง และทำลายพื้นที่ที่ทัศนะความเชื่อและชุดอุดมการณ์ที่แตกต่างเหล่านั้นจะได้แสดงออกด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศ (national security)

ทั้งนี้ที่สุดแล้วถ้าปรารถนาสร้างประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นจำเป็นที่สุดที่จะต้องสร้างกระบวนการที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ (public policy) นับแต่การกำหนดประเด็นปัญหา การวิเคราะห์ทางเลือก การนำไปปฏิบัติ การติดตามตรวจสอบ การประเมินผลกระทบ จนถึงการสืบต่อหรือยุตินโยบายต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนนี้จะต้องเข้ามาอุดช่องว่างของกระบวนการประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ให้สิทธิเลือกตั้งกับประชาชนในการเลือกผู้แทน แต่มักไม่ได้ตัวแทน (representative) ที่แท้จริงของตนเองกลับมาเพราะว่าส่วนมากนักการเมืองมักใช้อำนาจอธิปไตยที่ประชาชนมอบให้ไปใช้เอื้อประโยชน์ตนเอง

กล่าวอีกนัยหนึ่งเป้าหมายที่พึงปรารถนาของการปฏิรูปประเทศไทยควรกำหนดแนวทางกว้างๆ ไว้ที่การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยนอกเหนือจากการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะผ่านการเลือกพรรคการเมืองที่ผลิตและนำเสนอนโยบายมากมายในช่วงหาเสียงเลือกตั้งแล้ว นอกช่วงเวลาหาเสียงก็ต้องเร่งรังสรรค์พื้นที่สาธารณะว่าด้วยการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมควบคู่กับสร้างความเป็นธรรมในระดับปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรการเมือง ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม และทรัพยากรธรรมชาติ บนฐานคิดสำคัญว่าประชาชนทุกคนมีคุณค่าเสมอกัน

ทั้งนี้ เนื่องด้วยเวทีหรือพื้นที่สาธารณะ (public space) ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานแห่งความเกลียดชังกันอันเนื่องมาจากการสวมเสื้อสีต่างกันเพราะมีชุดประสบการณ์และจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันหรือกระทั่งมองไม่เห็นคนเป็นมนุษย์เสมอเหมือนกันอันเนื่องมาจากไม่เชื่อถือศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของคนที่ถูกประทับตราเป็นปรปักษ์นั้นนอกเหนือจากจะผลิตข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มตนเองออกมาแล้ว กระบวนการคัดสรรคนเข้าร่วมยังเป็นไปแบบสังกัดพรรคพวกหรือเป็นคนพิเศษที่ถูกเลือกเข้ามามากกว่าจะเป็นใครคนใดก็ได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามจะไม่มีทางเข้ามาร่วมแต่อย่างใด

นัยสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาคที่จะได้รับการขานรับจากสังคมในห้วงยามที่นักการเมืองที่มีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรของชาติไม่ใคร่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูประดับโครงสร้างสังคมคือการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่กระทำภายใต้ฉันทามติ (consensus) ของกลุ่มต่างๆ ที่นอกจากต้องระดมการคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางทั้งเชิงประเด็นและเนื้อหาสาระแล้ว ยังต้องพยายามดึงกลุ่มคนเข้ามาร่วมสูงสุดด้วย ที่ถึงจะทำไม่ได้ครบถ้วนแต่ก็ต้องค่อนข้างครอบคลุมทุกกลุ่มได้เสีย (stakeholder) เนื่องจากจะทำให้ฉันทามติที่ดำเนินการไปในนามของกลุ่มนั้นๆ มีอำนาจในทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากได้รับการยอมรับจากสังคมว่าจะสามารถแก้ไขคลี่คลายวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ ในขณะเดียวกันก็มีอำนาจมากพอจะผลักดันให้นโยบายที่กำหนดโดยเครือข่ายอำนาจที่เป็นกลุ่มทางการ (official policy maker) คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น เป็นไปในทางสร้างเสริมความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาค มากกว่าจะสมประโยชน์กันเพื่อครอบครองอำนาจและควบคุมทรัพยากรของชาติกันต่อไป

อนึ่ง ถึงแม้กระบวนการฉันทามติ (consensus process) จะมีหลากหลายรูปแบบและวิธี ที่สำคัญยังมีช่องว่างจุดอ่อนหลายประการด้วยกันโดยเฉพาะข้อวิพากษ์ว่ามุ่งกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ กระนั้นกระบวนการแสวงหาฉันทามติก็ทำให้ได้ข้อสรุปร่วมกันระดับหนึ่งถึงทิศทางที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูญเสียทั้งหมด ขณะที่อีกฝ่ายได้ทุกอย่างไปครอบครอง ยิ่งออกแบบกระบวนการรัดกุมยิ่งส่งเสริมประสิทธิภาพของข้อเสนอแนะและการตื่นตัวมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย เหมือนในกระบวนการแสวงหาฉันทามติของการประชุมสมัชชาสุขภาพและการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติทั้งสองครั้งที่ผ่านมาที่พยายามผสานภาคส่วนสังคมต่างๆ เข้ามาเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อนำไปพิจารณากำหนดแนวทางการปฏิรูปสังคมไทยให้มีความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ทวีความหนักหน่วงเข้มข้นขึ้นทุกวัน

การเข้ามามีส่วนร่วมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายของภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาชนและชุมชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาครัฐ บนกระบวนการออกแบบที่ยึดหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ 1) หลักการเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ที่สมาชิกสมัชชาปฏิรูปจักต้องเรียนรู้การรับฟังความคิดเห็นระหว่างกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยไม่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์บุคคล องค์กร หน่วยงาน หรือเครือข่ายใดๆ หรือมีลักษณะของการเถียงกัน 2) หลักความเป็นระบบที่จะกำหนดหลักเกณฑ์การประชุมไว้ชัดเจน โดยผู้เข้าร่วมประชุม ผู้ดำเนินการประชุมและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

3) หลักการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันที่สมาชิกสมัชชาปฏิรูปจากแต่ละกลุ่มเครือข่ายมีสิทธิในการเสนอความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนนโยบาย/ร่างมติอย่างเท่าเทียมกัน และ 4) หลักการสร้างฉันทามติหรือความเห็นร่วมที่สมาชิกจะแสวงหาข้อยุติที่เห็นพ้องต้องกันต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย/ร่างมติ

เวทีที่มุ่งสร้างฉันทามติปฏิรูปประเทศไทยดังสมัชชาปฏิรูประดับชาติที่เปรียบเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะจึงต้องเป็นพื้นที่ที่พร้อมจะขยายตัวออกไปได้เสมออันเป็นคุณลักษณะสำคัญของการผลักดัน ‘ความปรารถนาของประชาชนที่มีต่ออนาคตประเทศไทย’ ที่แตกต่างหลากหลายกันได้โลดแล่น รวมถึงต้องออกแบบกระบวนการบนฐานคติที่เชื่อถือศรัทธาประชาชนเพื่อให้สามารถดึงดูดพลเมืองดีเข้าสู่เวที ที่สำคัญเวทีสมัชชาปฏิรูปต้องเป็น ‘กลจักรขับเคลื่อนความปรารถนาของประชาชน’ ด้วยการเป็นพื้นที่ที่ทำให้ความเป็นการเมืองเรื่องนโยบายสาธารณะขยายอาณาเขตออกไปนอกเหนือจากในช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้งสี่ปีหนึ่งครั้งที่ประชาชนส่วนหนึ่งจะเลือกพรรคการเมืองจากนโยบายหาเสียง ซึ่งถึงที่สุดก็มีแต่นโยบายประชานิยมที่ไม่ได้แตะต้องโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำและอยุติธรรมของประเทศไทยแต่อย่างใด

ในสภาวการณ์เช่นนั้นความปรารถนาของประชาชนที่มีต่ออนาคตประเทศไทยที่เท่าเทียม เสมอภาค และมีความเป็นธรรม อันเป็นความหวังจากการเลือกพรรคการเมืองและเข้าร่วมต่อสู้บนท้องถนนก็มีอันต้องจบสิ้นลง และเหลือไว้แต่ความหวังที่รวดร้าวและหลอกหลอนจิตวิญญาณการต่อสู้ที่สูญเสียเพื่อนมิตรเพื่อนฝูงครอบครัวรวมถึงอุดมการณ์ที่เคยเชื่อมั่นศรัทธา เพราะการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมย่อมกระทบต่อกลุ่มคนส่วนบนที่ยึดกุมอำนาจและทรัพยากรของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจะให้กลุ่มกุมอำนาจที่รวมถึงแต่ก่อนเป็นประชาชนทั่วไปได้คายอำนาจออกมาเพื่อสร้างความเท่าเทียมเสมอภาคกันของประชาชนทุกคนบนการสูญเสียอำนาจที่เคยครอบครองของตนเองจึงเป็นไปไม่ได้

ในข้อจำกัดดังกล่าวเช่นนี้ประชาชนทั้งผู้กระทำการ (actor) ปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจและเป็นปัจจัยเงื่อนไข (condition) ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพราะอย่างน้อยสุดประชาชนก็สามารถรวมตัวกันสั่นคลอนโครงสร้างสังคมไทยที่เหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมได้ด้วยการรื้อฐานคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเองซึ่งเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้ยอมจำนนต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะการถูกผูกขาดในกระบวนการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ โดยกลุ่มกุมอำนาจรัฐและทุนที่สวมเสื้อคลุมนักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ และเทคโนแครต

กลไกในการผลักดันความปรารถนาของประชาชนที่จะเห็นประเทศไทยในอนาคตมีความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาคนั้นที่สุดแล้วจึงเป็นของประชาชนเอง เป็นทั้งภาระหน้าที่และเป้าหมายของประชาชนที่จะต้องไปให้ถึง ซึ่งจะไปถึงได้ก็ต้องผนึกพลังกันปฏิรูปหรือถึงขั้นปฏิวัติกฎหมาย นโยบาย สถาบันทางสังคม ตลอดจนคุณค่า ค่านิยม ประวัติศาสตร์กระแสหลัก วัฒนธรรม จารีตประเพณี ที่ปิดกั้นความปรารถนาของประชาชนที่มีหลากหลายและแตกต่างกันไป ในกรณีนี้ยังรวมถึงการสร้างความปรารถนาแบบอื่น โดยเฉพาะของชนชั้นนำขึ้นมากดทับหรือทดแทนความปรารถนาของประชาชนด้วย

ด้วยเหตุนี้ในการปฏิรูปประเทศไทยให้สมความปรารถนานั้น นอกเหนือจากจะต้องกำกับและตรวจสอบรัฐบาลให้กำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ เพื่อยังประโยชน์ประชาชนสูงสุดแล้ว การสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับความปรารถนาของประชาชนที่มีต่ออนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานของความเชื่อถือศรัทธาในประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดเพราะจะทำให้ได้ ‘ฉันทามติปฏิรูปประเทศไทย’ ที่นำไปปฏิบัติการขับเคลื่อนได้จริง ยิ่งกว่านั้นยังทำให้สังคมไทยที่ประชาชนแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองและไม่เชื่อถือศรัทธากันกลับมาสมานฉันท์กันได้บ้างอันเนื่องมาจากกลุ่มคนที่เข้าร่วมในเวทีต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นหัวขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมที่พร้อมจะระดมพลพรรคออกมาบนถนนได้ทุกเวลา

ทว่าที่สำคัญกว่าก็คือการเรียนรู้ของประชาชนที่จะ ‘ปฏิวัติความปรารถนาของประชาชน’ เอง ด้วยการขับเคลื่อนความปรารถนาของตนแองในการที่จะเห็นประเทศไทยมีความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาค เข้ามาแทนที่ประเทศไทยที่เหลื่อมล้ำ สูงต่ำ และอยุติธรรมอันเป็นความปรารถนาที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อแทนที่ความปรารถนาของประชาชนโดยกลุ่มชนชั้นนำผ่านปฏิบัติการต่างๆ ทางสังคม ซึ่งถึงที่สุดแล้วความปรารถนาของประชาชนที่หลุดพ้นพันธนาการของการครอบงำกดทับปิดกั้นมาอย่างยาวนานจะสามารถสลายรื้อโครงสร้างสังคมไทยได้ เพราะความปรารถนาของประชาชนที่ผลิตขึ้นมานี้จะเป็นเงื่อนไขในการเปลี่ยนประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น