ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิชาการอาเซียนล้อมวงสนทนากระบวนการสร้างสันติภาพในบริบทของอาเซียน โดยมีจุดร่วมกันยุติการใช้ความรุนแรงเพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งใน 3 จชต. โดยมีการหยิบยก
“กระบวนการสันติภาพปาตานี” จึงเป็นโมเดลทางความคิดที่ต้องการเปิด “พื้นที่กลาง” ในการพูดคุยด้วยพหุวิธีการสื่อสาร ขณะที่องค์กรจากต่างประเทศพร้อมให้การสนับสนุนและช่วยเหลือโดยยึกหลักไม่แทรกแซง พบช่องทางให้ภาคประชาสังคมเป็นตัวแทนการขับเคลื่อน สะท้อนปัญหา และปลุกให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
วันนี้ (7 ก.ย.) การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน ดำเนินการมาถึงวาระสุดท้าย ซึ่งเป็นการล้อมวงสนทนา “กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน” ก่อนปิดฉากเวทีวิชาการนานาชาติอย่างเป็นทางการ และเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จะเป็นเวทีนานาชาติที่แลกเปลี่ยน เสนอแนวทางเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในฐานะผู้นำที่จะกำหนดนโยบายเพื่อนำไปสู่ภาคปฎิบัติ ทว่า กลับไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าร่วมแต่อย่างใด
ผศ..ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรีผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ความรุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นใน 3 จชต.นั้นได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 9 ปีแล้ว แต่ว่ายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงนี้จะจบลง การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งไม่ได้มุ่งที่จะหยุดความขัดแย้ง แต่มุ่งที่จะเปลี่ยนความขัดแย้ง (conflict transformation) จากความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงไปสู่การไม่ใช้ความรุนแรง
“การมีความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีด้วย เพราะความขัดแย้งสามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาของสังคม แต่ว่าประเด็นคือ จะต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น” ดร.ศรีสมภพอธิบาย
ดังนั้น “กระบวนการสันติภาพปาตานี” จึงเป็นโมเดลทางความคิดที่ต้องการเปิด “พื้นที่กลาง” ในการพูดคุยระหว่าง “คนใน” ซึ่งหมายถึงคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง (stakeholders) เพื่อที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ความขัดแย้ง และการเสนอแผนที่เดินทางไปสู่สันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการขับเคลื่อนในลักษณะที่เป็น “พหุวิถีการสื่อสาร” (Multi platform) โดยดึงเอาหลายๆ ภาคส่วนเข้ามาร่วม ทั้งองค์กรภาคประชาสังคม สื่อสารมวลชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และจะใช้การสื่อสารในหลายๆ ช่องทาง ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก และโซเชียลมีเดียในการขับเคลื่อน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเอาคู่ขัดแย้งมาคุยกันเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอสำหรับการแสวงหาทางออก
“กระบวนการสันติภาพในปาตานีเป็นกระบวนการที่ต้องเดินไปพร้อมกันหลายภาคส่วน ไม่เพียงแต่ปล่อยให้คู่กรณีหลักอย่างฝ่ายรัฐ และฝ่ายตรงข้ามรัฐมากำหนดแนวทางยุติความขัดแย้งฝ่ายเดียว แต่ยังต้องให้ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาที่อยู่ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม และที่สำคัญประชาชนต้องมีพื้นที่ในการเสนอทางออกสู่สันติภาพด้วย” ผศ. ดร.ศรีสมภพกล่าวต่อและว่า
นักวิชาการด้านสันติภาพที่ได้ศึกษาถึงความสำเร็จ และความล้มเหลวของการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ในโลกได้แบ่งกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็น 3 ระดับชั้น Track 1 คือ รัฐ กับ ขบวนการกบฏติดอาวุธ Track 2 ภาคประชาสังคม และ Track 3 คือ ประชาชนรากหญ้า
“ในภาคใต้นั้นที่ผ่านมา การพูดคุยจำกัดอยู่เฉพาะแค่ Track 1 กระบวนการเดินหน้าเพื่อหาสันติภาพของปัตตานีต้องไม่ผูกขาดโดยรัฐ หรือขบวนการอย่างเดียว ข้อเสนอต้องมาจากข้างล่าง การเดินไปในรูปแบบที่หลากหลาย และไปพร้อมๆ กัน จะทำให้เกิดความเข้มแข็ง และสร้างอำนาจต่อรองได้จริง”
สิ่งที่รัฐ และภาคประชาสังคมจะต้องร่วมกันผลักดัน คือ การเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อให้ทุกๆ ฝ่ายมาร่วมกันถกเถียง เปิดให้มีการพูดคุยถึงเรื่องรากเหง้าของปัญหา เช่น เรื่องความไม่เป็นธรรม ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ และจะต้องดึงฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเข้ามาเพื่อทำให้พวกเขาเข้าใจว่าเขาสามารถที่จะนำเสนอความคิดทางการเมืองได้อย่างสันติ
ผศ.ดร.ศรีสมภพได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยลดการใช้ความรุนแรงได้คือการสร้างอำนาจเพื่อถ่วงดุลจากพื้นที่กลางให้มากขึ้นเรื่อยๆ ข้อเสนอที่มีน้ำหนักจากฝ่ายที่ประกาศไม่ใช้ความรุนแรงจะมีพลังในการเรียกร้องมากกว่า ซึงไม่จำเป็นว่าจะต้องลดทอนข้อเสนอทางการเมืองของฝ่ายขบวนการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพยังชี้ว่า กระบวนการสันติภาพปาตานีนั้นจะต้องรวมถึงการปฏิรูปฝ่ายความมั่นคง (security sector reform) ด้วย การทำงานด้านความคิดกับกองทัพจะเป็นหัวใจสำคัญต่อความสำเร็จของกระบวนการนี้ ถ้ากองทัพจะยังมุ่งใช้กำลังในการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธฝ่ายตรงข้าม การแสวงหาทางออกร่วมกันก็คงจะดำเนินไปได้ยาก
ด้านนายนูรคอริส ฮิดายัต อดีตผู้อำนวยการสถาบันช่วยเหลือทางกฎหมาย ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยว่า หลายองค์กรและภาคประชาสังคมไทยได้รับตัวอย่างและการเรียนรู้จากความขัดแย้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริบทความขัดแย้งของอาเจะ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นความท้าทายว่าเมื่อมีความขัดแย้งแล้วความไว้วางใจอย่างไรเป็นเรื่องยาก สถานการณ์แห่งความเลวร้ายนั้นหลายฝ่ายถูกฆ่าตาย และยังไม่มีความยุติธรรมหรือการเยียวยาใดๆ ทั้งนักวิชาการ หรือนักหนังสือพิมพ์ ส่วนภาคประชาสังคมเองแตกแยกออกเป็นหลายฝ่าย ก่อนจะมีการรวมตัวกันในภายหลัง และสร้างพันธมิตรระหว่างกลุ่มที่มีความแตกต่างหลากหลาย
ในขณะที่แม้รัฐบาลจะมีทรัพยากรมากมาย ควบคุมข่าวสารข้อมูลแต่ก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจในความยากลำบากในการใช้ชีวิตในพื้นที่ของประชาชน บทบาทภาคประชาสังคมจึงเกิดขึ้นเพื่อเข้ามาเป็นปากเสียง และมีการเรียนรู้เปรียบเทียบกับสถานการณ์ของประเทศอื่นๆ นับเป็นบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาให้เกิดสันติภาพที่สำคัญ ทั้งการเป็นตัวแทนประชาชน ผู้เสียหาย ช่วยเหลือด้านกฎหมาย ติดตามสถานการณ์ปัจจุบัน
นายนูรคอริส กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า จะอย่างไรก็ตามสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ใน 3 จชต.อย่างแน่นอน แม้มีความซับซ้อนมากกว่ากรณีอาเจะ แต่ก็จำเป็นต้องมีการเรียนรู้เพื่อเลือกวิธีการสู่สันติที่เหมาะสม ซึ่งจากการสังเกตนั้นกระบวนการสันติภาพของปัตตานีเริ่มต้นรณรงค์แล้วในปัตตานี พบว่ามีบทบาทสำคัญที่ผลักดันรัฐบาลให้ทำงานร่วมกัน ซึ่งการไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มมุสลิมภาคใต้ แต่จะรวบรวมชุมชนให้สนับสนุนงานริเริ่มเพื่อการสันติภาพ
“เรามีบทเรียนจากอาเจะและจะเป็นความร่วมมือของเราในฐานะที่เป็นสมาชิกอาเซียน เราจึงมีความเต็มใจในจิตวิญญาณของนักมนุษยชนจึงมีความยินดีที่จะส่งเสริมสันติภาพ” นายนูรคอริสกล่าวย้ำ
ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง แต่ไม่ได้พูดว่า 3 จชต. ไม่มีเรื่องอื่นเลย ไม่ว่าจะอาชญากรรม ยาเสพติด หรือแม้แต่เหตุป่วนกว่าร้อยจุดล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่มีการติดธงชาติก็สะท้อนมาจากอัตลักษณ์ของคนที่ไม่พอใจอำนาจรัฐ และต้องการพื้นที่ทางการเมือง
“ตอนที่ผมไปอยู่ในไอร์แลนด์เหนือก็พบสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้หลายเรื่อง และนายกรัฐมนตรีอังกฤษพยายามอย่างจริงจังที่จะแก้ปัญหาที่มีมากว่า 30 ปี และทำได้ เพราะมีผู้นำที่เป็นผู้นำอย่างแท้จริง แม้จะพลาดไปสนับสนุนสหรัฐอเมริการบกับอิรักก็ตาม” ศ.ดร.ดันแคน ยกตัวอย่างประกอบ
แต่สำหรับประเทศไทยที่ยังไม่ก้าวไปไหน เพราะการแก้ปัญหาเป็นเพียงพูดทางออกแต่ก็เงียบไปภายหลังโดยปราศจากการปฎิบัติ หลายคนที่ติดตามนั้นรู้และเห็นว่าประเด็นหลักคืออะไร ไม่ใช่เรื่องยาเสพติด แต่เป็นเรื่องการไม่มีพื้นที่การมีส่วนร่วม ตนก็ไม่มีคำตอบให้กับทุกคำถาม ยกเว้นสำหรับประเทศไทยที่มียินดียื่นหนังสือให้ศึกษา และอยากสร้างแรงบันดาลใจเพื่อหาทางออกทางการเมืองได้
ด้านนายคอยริน อันวาร์ ผู้ประสานงานประจำภูมิภาคแห่งอาเซียน ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ถ้าเราเข้าใจบริบทของมาเลเซียกับปัตตานีแล้วจะมีความใกล้เคียงกันมากจากประวัติศาสตร์ เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ถูกโยงเข้าหากัน ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายเป็นไปในแนวทางเดียวกันการทำงานขององค์กรอิสระที่เข้ามาติดตามสถานการณ์ก็เป็นไปได้ยากที่จะร่วมมีส่วนช่วยยุติปัญหา ซึ่งตนยังไม่เห็นเลยว่าข้อนี้จะทำอย่างไร ณ ปัจจุบัน
ด้านมาโย นากายาม่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิสันติภาพซาซากาว่า ประเทศญี่ปุ่น กล่าวแบ่งปันประสบการณ์ทำงานว่า จากการได้ลงพื้นที่เกิดความขัดแย้งของไทยนั้น ตนคิดว่าจะสามารถเอาชนะปัญหานี้อย่างไร เพราะเราเป็นองค์กรที่ไม่ได้มีวิชาชีพในการไกล่เกลี่ยหรือเจรจา แต่ทำงานร่วมกับหุ้นส่วนกับองค์กรภายในประเทศ เช่น Deep South Watch และพร้อมที่จะสนับสนุนวาระที่องค์กรในพื้นที่ได้กำหนดขึ้นเองโดยปราศจากการแทรกแซง ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่สำคัญในฐานะที่เป็นองค์กรต่างประเทศควรจะกระทำ และไม่เป็นการแทรกแซงซ้ำเติมปัญหาใหม่เข้ามาอีก
อย่างไรก็ดี ตนรู้สึกประหลาดใจมากกับการทำงานของหลายภาคสวนของที่นี่ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเสวนา เปิดเวทีสาธารณะต่างๆ เพื่อการพูดคุย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ใน 3 ปีก่อน ตลอดจนภาคประชาสังคมที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง นับเป็นสัญญาณที่ดี และต้องมีการทำกิจกรรมต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อนจึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง รวมถึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการเผยแพร่ผลงาน แปลงานเขียนเพื่อไปสู่ระดับสากลด้วย
ส่วนนายอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า จากประสบการณ์เป็นนักวิชาการในรั้ว มอ.ปัตตานีมา 27 ปี เห็นความล้มลุกคลุกคลานและอ่อนแอของภาคประชาชน จึงคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง และกระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าคิดทางออกได้เพียงทางเดียว รัฐต้องเปิดใจให้กว้างกว่านี้ แม้สภาความมั่นคงจะให้เปิดพื้นที่การพูดคุยแต่ในทางปฎิบัติยังต้องรออีกนาน เพราะยังเกิดขึ้นจากทฤษฎีและยังอยู่บนกระดาษ ภาคประชาสังคมจึงต้องเร่งผลักดันพวกที่คิดใช้อำนาจให้ตกคูไปก่อน แล้วเร่งให้กระบวนการเปิดทางความคิดเกิดขึ้นโดยเร็วในทางปฎิบัติ
ขณะที่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธ๊ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า เรื่องมีผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จชต. เกี่ยวข้องกับ 4 คำ คือปัญหา, สมมุติฐาน, คำถาม และความรู้ ตอนนี้้รัฐเป็นโรคความบกพร่องทางความชอบธรรม เหมือนตาบอดไม่รู้ก็ใช้ความรุนแรงมาต่อสู้ ผลลัพธ์คือมากกว่าครึ่งหมื่นคนถูกฆ่าตาย
"สมติฐานของคนก่อเหตุจะนั้นไม่บ้าและวิปริตอย่างแน่นอน แต่เขาใช้ความรุนแรงเช่นกันเป็นเครื่องมือ สาเหตุอาจจะคิดว่าการใช้วิธีนี้คือความชอบธรรม และไม่ใช่เป็นกลุ่มเดียวแต่มีความหลากหลาย ซึ่งเกิดแบบนี้ทั่วโลก และการต่อสู้ของเขานั้นน่าจะได้รับอิทธิพลปัญหาของโลกที่เคยเกิดขึ้น จึงต้องเข้าใจในปัญหาระดับโลก"
คำถามคือจะสามารถช่วยเหลือผู้ก่อความไม่สงบอย่างไรเพื่อไม่ให้เขาใช้วิธีความรุนแรง เพราะนั่นคือการสะท้อนความรู้สึกว่าตนไร้อำนาจ ผลกระทบของการใช้ความรุนแรงนั้นสะเทือนไปยังระบอบการปกครองที่จะทำให้ประชาธิปไตยจะไม่ก้าวหน้าเลย และมีโอกาสเกิดสงครามกลางเมืองสูงอีกด้วย ตอนนี้มีความจำเป็นต้องค้นหาทางเลือกทางการเมือง เพราะนี่คือปัญหาทางการเมืองซึ่งต้องมาจากทุกฝ่าย ทุกคู่ความกรณีความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยลงต่อสังคมทั้งหมด
ทั้งนี้ เวทีวิชาการได้ปิดลงอย่างเป็นทางการโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ในเวลา 17.15 น.