xs
xsm
sm
md
lg

“9 ปีความรุนแรงภาคใต้” ถกหาแสวงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

สัมมนาไฟใต้ผลักการพูดคุย กระจายอำนาจ ปฏิรูปการศึกษา กระบวนการยุติธรรม เพื่อดับไฟใต้ ย้ำรัฐต้องมีเอกภาพในการดำเนินนโยบาย ดึงการมีส่วนร่วมของประชาชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะเรื่อง “9 ปีความรุนแรงภาคใต้ : อัศจรรย์ความรู้ในแดนเนรมิต?” เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2555 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

ในการอภิปรายในหัวข้อเรื่อง “ทางเลือกสำหรับทางรอดของภาคใต้” นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา 101 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.2547 ถึง พ.ค.2555 มีเหตุการณ์กว่า 11,700 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 1.4 หมื่นคน แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 5 พันคน บาดเจ็บอีก 9 พันคน โดยช่วงแรกมีเหตุการณ์เกิดขึ้นสูงมาก แต่หลังจากปี 2550 เหมือนเหตุการณ์จะลดลง แต่ยังคงที่เดือนละ 60-100 ครั้ง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์แต่ละเดือน พบว่า ความสูญเสียไม่เด่นชัดเท่ากับจำนวนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สรุปได้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงลดลง แต่ความตาย ความบาดเจ็บยังคงที่ ซึ่งเรามองว่าเหมือนเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งคล้ายกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปมปัญหาภายในที่แก้ไม่ตก คล้ายกับว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งขึ้นไปสู่ที่ราบสูงที่ยาวมาก แต่กลับไม่มีทางลง

ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐที่ลงไปในพื้นที่ 9 ปีที่ผ่านมา มีงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แต่งบประมาณที่ลงไปต่อปีถือว่าช่วยพยุงให้ภาวะเศรษฐกิจอยู่ได้ แต่การกระจายรายได้ยังไม่ตกไปถึงคนส่วนใหญ่ เนื่องจากมีปัญหาความไม่โปร่งใส และนโยบายมีการใช้เรื่องการทหารมาก มีกำลัง 1.5 แสนคน ทั้งทหาร ตำรวจอาชีพ อาสาสมัคร เป็นต้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีไม่สูง จึงต้องดูว่าทางรอดจะมีอย่างไรบ้าง โดยมีข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจแบบพิเศษ 6 โมเดล เช่น มี ศอ.บต. มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรง หรือมหานครปัตตานี ซึ่งโมเดลทั้งหมดก็ยังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอพูดคุยกับผู้ใช้ความรุนแรงในการเจรจาฝ่ายตรงข้ามกับรัฐเพื่อหาทางออกด้วย

นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า การร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งตนได้มีส่วนร่วมนั้น ใช้เวลาดำเนินการกว่าหนึ่งปี และได้ไปพูดคุยกับคนหลากหลายภาคส่วน ซึ่งหลายฝ่ายก็มองปัญหาไม่ตรงกันเลย นอกจากนี้ ปัญหาที่ท้าทายอีกอย่างคือ เจ้าหน้าที่นั้นไม่ได้นำนโยบายไปปฏิบัติ โดยมี 3 ประเภทคือ หนึ่ง-ไม่เข้าใจจึงไม่นำไปปฏิบัติ สอง-เข้าใจแต่ไม่เห็นด้วยจึงไม่ปฏิบัติ และ สาม-เข้าใจ ไม่เห็นด้วยและปฏิบัติสวนทาง

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำภายใน 3 ปี เพื่อเป็นทางออกของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมี 5 ข้อคือ 1.ต้องใช้พื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา 2.ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงได้ ควรใช้แนวทางสันติวิธี 3.ความสมดุลในเรื่องการปกครอง หรือการกระจายอำนาจในพื้นที่ 4.การเคารพในเรื่องสิทธิมนุษยชน มีนิติธรรม และนิติรัฐ และ 5.การปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐต้องมีเอกภาพ

ทั้งนี้ หัวใจของทางรอดในระยะเฉพาะหน้าคือ ต้องสร้างความปลอดภัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต และในระยะยาวจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา รัฐจะต้องมีความเข้าใจตรงกันในเชิงนโยบาย และจะต้องเอาภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมกับรัฐ และที่สำคัญ รัฐบาลจะต้องส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าต้องการที่จะเดินในแนวทางนี้

นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า สังคมไทยมี “ความไม่รู้” และ “อคติ” เกี่ยวกับพื้นที่ภาคใต้มาก การเอาไม้บรรทัดเดียวกันที่ใช้ที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ไปวัดภาคใต้นั้น จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด ระบบการจัดการศึกษาของรัฐไทยที่ผ่านมาเต็มไปด้วยบาดแผล และความขัดแย้ง จำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนปัญหาหลักของการศึกษาคือ เด็กในพื้นที่นั้นต้องเรียนทั้งศาสนา และสามัญ ซึ่งทำให้เด็กต้องเรียนหนังสือหนักมาก ครูมีเวลาสอนไม่ครบ เพราะปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังขาดทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษา จริงๆ แล้วเด็กในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างนั้นมีศักยภาพเพราะเขาพูดได้อย่างน้อยสองภาษาอยู่แล้วคือ ไทยและมลายูถิ่น ซึ่งสามารถจะพัฒนาไปเป็นการพูดมลายูกลางซึ่งใช้อยู่ในประเทศมาเลเซียได้ง่าย

นายปิยะกล่าวว่า ตนเชื่อว่าการศึกษาและศาสนาเป็นหัวใจในการเปลี่ยนให้ความขัดแย้งกลายเป็นสันติสุข รัฐไทยจะต้องเปลี่ยน ไม่รวมศูนย์ หรือปิดกั้นความเห็นต่าง หากว่าเราสนับสนุนให้คนมีสิทธิมีเสียง ก็จะแก้ไขปัญหาได้

นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน สื่อมวลชนอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวว่า การมีทางเลือกนั้นสะท้อนว่า เรายังคงมีความหวัง ภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่กลาง และพื้นที่ปลอดภัยให้คนในพื้นที่ได้เสนอทางเลือก การพูดคุยระหว่างฝ่ายรัฐและขบวนการที่ต่อต้านรัฐอย่างเดียวนั้นไม่อาจจะทำให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นที่เสียงของภาคประชาสังคมและรากหญ้าจะต้องถูกรวมเข้าไปด้วย

การแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องทำ 3 ส่วนคือ หนึ่ง-ต้องปรับบริบทการเมืองการปกครองให้เหมาะสมกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะในเชิงอัตลักษณ์ ถ้าไม่มีทางออกทางการเมืองก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืนได้ สอง-ต้องมีการปรับปรุงเรื่องกระบวนการยุติธรรม และ สาม-ตนเห็นด้วยกับกรอบนโยบายของ สมช.ที่ส่งเสริมเรื่องของการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า สมช.จะสามารถทำให้นโยบายแปรไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้นควรจะเดินด้วยความรู้ ไม่ใช่ความรู้สึก และต้องมีการสื่อสารกับสาธารณะให้มาก

พ.อ.ชินวัฒน์ แม้นเดช ตัวแทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้นั้นกระทบกับรากฐานของประเทศ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็น “movement” ไม่ได้เป็น “event” มีกระบวนการดำเนินการที่ต่อเนื่อง แต่ว่าที่ผ่านมา ยังคงไม่มีใครมาแสดงความรับผิดชอบอย่างเปิดเผย ในขณะเดียวกัน มีการโฆษณาชวนเชื่อในพื้นที่อย่างกว้างขวาง และบางครั้งมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น ผ่านการออกใบปลิว หรือการปลอมตัวโดยสวมใส่ชุดทหารเข้าไปก่อเหตุ ทำให้เกิดความสับสนในพื้นที่

การแก้ไขปัญหาจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงแก่นของปัญหาให้ถ่องแท้ สิ่งที่ตนมองก็คือ ภาคใต้มีสิ่งที่เรียกว่า “อิสลามเชิงจารีตนิยม” และมีความโดดเด่นในเชิงอัตลักษณ์ นโยบายรัฐที่ผ่านมาได้ทำลายความแตกต่างเพื่อสร้างความเหมือน ซึ่งทำให้เกิดปัญหา และเกิดการต่อต้านรัฐขึ้น แต่ที่จริงแล้ว ความแตกต่างเหล่านี้เป็นต้นทุนทางสังคมที่สามารถนำมาสร้างศักยภาพของประเทศได้ นโยบายการสร้างความเหมือนเหล่านี้ไม่ควรมีอีกต่อไป

พ.อ.ชินวัฒน์กล่าวด้วยว่า ตัวแสดงหลักในภาคใต้ในทัศนะของตนมี 3 ส่วนคือ หนึ่งคือ state actor คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ สองคือ sub-state actor คือกลุ่มหัวรุนแรงที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์และแบ่งแยกดินแดน จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ สามคือ ประชาชนมลายูมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างตัวแสดงทั้งสองข้างต้น

sub-state actor ไม่เคยแสดงตน และแอบอยู่หลังประชาชนอย่างลับๆ การศึกษาเกี่ยวกับ sub-state actor นั้นมีค่อนข้างน้อย เขามีกระบวนการคัดเลือกคนเข้าขบวนการและบ่มเพาะความเป็นชาตินิยมมลายู โดยบอกว่าปัตตานีนั้นเป็น Dar al-Harb (แผ่นดินที่ปกครองโดยผู้นำที่ไม่ใช่มุสลิมและเข้าเงื่อนไขในการทำสงคราม)

พ.อ.ชินวัตรกล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐไทยจะต้องสร้างเอกภาพทางความคิดและ “ยิงปืนให้ตรงเป้า” รัฐจะต้องกุมสภาพสามอย่างให้ได้คือ หนึ่ง-กุมสภาพประชาชนในพื้นที่ รัฐจะต้องได้ใจประชาชน เพื่อให้ sub state actor ถูกโดดเดี่ยว สอง-ศอ. บต. และ กอ.รมน. จะต้องมีนโยบายไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ และ สาม-คือการสร้างความยอมรับและความชอบธรรมในเวทีระหว่างประเทศ หากเราคุมสามอย่างนี้ได้ การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ยาก

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในปัจฉิมกถาว่า สันติสนทนากับการเจรจาสันติภาพนั้น ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะว่าการเจรจาสันติภาพเน้นในการได้ข้อยุติ แต่ว่าสันติสนทนานั้นมุ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ การตั้งเขตปกครองพิเศษนั้นอาจจะไม่จำเป็นที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนเสมอไป กรณีแบบนี้มีอยู่แต่ว่าเป็นส่วนน้อย แต่ว่ามีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเขตปกครองพิเศษนั้นกลับสามารถเป็นตัวหยุดการแบ่งแยกดินแดนได้

ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้นยาก เพราะปัจจัย 3 เรื่องคือ หนึ่ง-เกิดสภาวะ “อุตสาหกรรมความไม่มั่นคง” ในพื้นที่ หลายฝ่ายได้ประโยชน์จากการที่สถานการณ์ความรุนแรงดำรงอยู่ สอง-ทางเลือกที่จะเกิดนั้นยาก เพราะ “วาทกรรมความมั่นคง” ที่ครอบอยู่ และ สาม-สังคมไทยเข้าใจว่าตนเองนั้นเป็นสังคมที่ดี โอบอ้อมอารีและอดทนต่อความแตกต่าง

แต่ว่าปัญหาภาคใต้นั้นเหมือนเป็นหนามที่ทิ่มแทงความสำเร็จนี้อยู่ เหมือนเป็นก้อนกรวดในรองเท้า ด้วยเหตุที่มองว่าสังคมไทยมองตนเองว่าเป็นสังคมที่ดี จึงปฏิเสธที่จะมองความเป็นจริงนี้อย่างซึ่งหน้า ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น