xs
xsm
sm
md
lg

2012 ปีชี้ชะตายูโรโซน “อยู่หรือไป”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – นักวิเคราะห์ต่างพูดกันว่า ปี 2012 นี้จะเป็นปีชี้ชะตาว่ายูโรโซนจะอยู่หรือไป โดยมีเดิมพันอยู่ที่การรวมตัวกันเป็นสหภาพการคลังใหม่ พร้อมกันนั้นก็มีคำทำนายด้วยว่า “ประเทศเล็กๆ” ประเทศหนึ่งคงจะต้องอำลาเขตเงินตราสกุลเดียวแห่งยุโรปเขตนี้ไป
ถ้า 2011 เป็นปีแห่งความเลวร้ายสำหรับสัญลักษณ์การรวมตัวของสหภาพยุโรป (อียู) ผู้นำเยอรมนี ฝรั่งเศส ตลอดจนชาติหุ้นส่วนที่มีหนี้อ่วมทั้งหลาย คงมีทางเลือกที่ไม่น่าพอใจนักเมื่อย่างเข้าสู่ปี 2012 ซึ่งเป็นวาระบรรจบครบรอบหนึ่งทศวรรษหลังการแจ้งเกิดของสกุลเงินยูโรพอดิบพอดี
ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีของฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า วิกฤตหนี้ยูโรอาจทำให้ยุโรปทั้งทวีปทรุด ซึ่งสะท้อนการระบาดของปัญหาจากกรีซไปยังไอร์แลนด์และโปรตุเกส ก่อนลามถึงสเปนและอิตาลีเป็นรายล่าสุด
“ถ้าไม่มียูโร ถ้าหัวใจเศรษฐกิจของยุโรปล้มเหลว ยุโรปจะเป็นอย่างไร?” ผู้นำเมืองน้ำหอมตั้งคำถาม
การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนกำลังเกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์วันสิ้นยูโร การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะจะทำให้ความแตกต่างระหว่างระบบภาษีและสวัสดิการทั่วยูโรโซนลางเลือนลงในที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เจ็บปวด ตัวอย่างเช่นที่ฟิลิป แฮมป์ตัน ประธานกรรมการรอยัลแบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ คาดว่า “ประเทศเล็กๆ” ประเทศหนึ่งจะต้องถอนตัวจากยูโรโซนในปีนี้
ความคิดเห็นดังกล่าวที่มีขึ้นขณะที่กรีซพยายามสรุปการเจรจาที่ยากลำบากเกี่ยวกับการลดหนี้ก้อนใหญ่กับธนาคารใหญ่ที่สุดของโลกบางแห่ง ปรากฏว่าได้รับการขานรับกึกก้องในย่านธุรกิจการเงินของลอนดอน
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2011 ปัญหาในเอเธนส์ ดับลิน ลิสบอนถูกมองเป็นปัญหา “ชายขอบ” สำหรับยูโรโซนโดยรวม
แต่นั่นคือก่อนที่เชื้อจะแพร่จากชายขอบสู่หัวใจทางเศรษฐกิจของยูโรโซน คือฝรั่งเศสและกระทั่งเยอรมนี โดยมีคำขู่ลดอันดับความน่าเชื่อถือ และการขายพันธบัตรรัฐบาลได้ต่ำกว่าเป้าเป็นสัญญาณเตือนสำคัญ
วิกฤตปรากฏตัวในหลายรูปแบบนับจากที่ประเดิมที่อเมริกาในปี 2007 โดยมีเป้าหมายหลักที่ตลาดสินเชื่อบ้าน การใช้จ่ายของผู้บริโภค และภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงที่ประสบภาวะถดถอย ก่อนที่จะกระตุ้นให้เกิดความตื่นตระหนกเกี่ยวกับหนี้ภาครัฐในยุโรปที่แบงก์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยมากเกินไป
จากที่จำกัดวงอยู่ในส่วนของเศรษฐกิจตอนแรก ไม่นานวิกฤตก็ลามถึงส่วนการเมือง เมื่อซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลี และความไม่พอใจของประชาชนแปรเปลี่ยนเป็นการรวมตัวของขบวนการออคคิวพาย วอลล์สตรีท ตลอดจนขบวนการ “ยึดครอง” เมืองใหญ่อื่นๆ ทั้งในสหรัฐฯและยุโรป
แบร์ลุสโกนีคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของผู้นำอียูราวครึ่งโหลที่พ่ายแพ้ต่อวิกฤต นับจากกรีซถึงสโลวาเกีย โดยที่อดีต “เทคโนแครต” ของอียูที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ถูกดันขึ้นบริหารรัฐนาวาในเอเธนส์และโรมเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของตลาด
ช่วง 12 เดือนนับจากนี้จะพิสูจน์ว่า ยูโรโซนมีเครื่องมือที่จะปกป้องอิตาลีหรือสเปนไม่ให้ดำดิ่งสู่ห้วงนรกทางการเงินที่อาจดูดฝรั่งเศส ชาติเศรษฐกิจอันดับ 2 ของยูโรโซน ดิ่งลงไปด้วยหรือไม่
โรมนั้นต้องการเงิน 400,000 ล้านยูโรโซนภายในปีนี้ โดยต้องหาก้อนแรก 150,000 ล้านยูโรให้ได้ภายในเดือนมีนาคม เพื่อให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ อยู่รอดต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง
เมื่อถึงกลางปี กลไกรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอสเอ็ม) จะเริ่มต้นขึ้นเพื่อแทนที่กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอสเอสเอฟ) ที่มีปัญหาทั้งในแง่เงินทุนที่ไม่น่าจะมีพออุ้มมาดริดหรือโรม รวมทั้งขาดเสน่ห์เพียงพอที่จะดึงดูดการลงทุนจากจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ
อีเอสเอ็มจะเป็นเครื่องมือดับวิกฤตที่ยูโรโซนจะใช้ร่วมกับแนวทางการเพิ่มทรัพยากรให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) การลดการใช้จ่ายทั่วภูมิภาค และการลงโทษประเทศที่ไม่สามารถลดยอดขาดดุลได้ตามเป้าหมาย
รัฐบาลหลายประเทศและผู้เล่นในตลาดจำนวนมากยังต้องการให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ขยายโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีปัญหา
อย่างไรก็ดี สมาชิกที่อยู่ทางซีกเหนือของยุโรป และทางซีกใต้ของยุโรปนั้น ดูจะไม่ลงรอยกันนัก
สำหรับฟริตส์ โบลกี้สไตน์ อดีตกรรมาธิการอียูจากเนเธอร์แลนด์ มองว่ายูโรโซนแตกเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ โดยเขาระบุถึงความแตกต่างสุดขั้ว เช่น กรณีที่เยอรมนี ให้ความสำคัญสูงสุดกับวินัยการคลัง ขณะที่ฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนทางยุโรปใต้ กลับพยายามหาทางออกทางการเมืองสำหรับปัญหาเศรษฐกิจ
ธนาคารในลอนดอน ที่ตั้งของอุตสาหกรรมบริการการเงิน 3 ใน 4 ส่วนของอียู เริ่มวางแผนฉุกเฉินกรณีที่ประเทศต่างๆ กลับไปใช้สกุลเงินเดิมของตนเอง เช่นเดียวกับบรรษัทข้ามชาติอเมริกันและเอเชีย
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี และซาร์โคซี ให้สัญญาไว้ปีที่แล้วว่า จะสร้างความคืบหน้าสำคัญด้วยนโยบายที่แก้ไขข้อบกพร่อง จากการที่ในตอนออกแบบระบบการเงินสกุลเดียว กลับปราศไร้ซึ่งสหภาพการคลัง เศรษฐกิจและการเมือง
แต่ความที่ไม่สามารถแก้ไขสนธิสัญญาอียูได้เนื่องจากถูกอังกฤษวีโต้ เยอรมนีจึงหันมาผลักดันข้อตกลงข้ามพรมแดนฉบับใหม่ที่จะมีการลงนามในเดือนมีนาคมเพื่อสร้าง “สหภาพการคลัง” และบังคับใช้งบประมาณสมดุล
ทว่า ปัญหาก็คือ เยอรมนีมีและพร้อมใช้อำนาจแค่ไหน และอีซีบีเตรียมพร้อมดีเพียงใด
แม้อีซีบีปล่อยสินเชื่อต้นทุนต่ำให้แบงก์ 650,000 ล้านยูโรในช่วงก่อนคริสต์มาส และอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แต่โซนี่ คาปูร์ ประธานกลุ่มคลังสมอง รี-ดีไซน์ เห็นว่าเป็นแค่การใช้พลาสเตอร์ปิดแผลลึกเท่านั้น
ผู้วางนโยบายพากันหวังว่า สหภาพการคลังจะมีพลังพอโน้มน้าวอีซีบีให้เปิดคลังและทำตัวเป็นแหล่งปล่อยกู้แหล่งสุดท้ายเหมือนธนาคารกลางสหรัฐฯ
“นี่ยังเป็นเดิมพันที่ต้องลุ้นกัน” นักการทูตอาวุโสคนหนึ่งของอียูยอมรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น