xs
xsm
sm
md
lg

“ซาร์โกซี-แมร์เคิล” ผลักดัน “ยูโรโซน” รวมตัวกันมากขึ้นแต่ยังไม่เอา “พันธบัตรยูโร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส (ขวา) และนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี (ซ้าย) แถลงภายหลังการเจรจาหารือกันที่กรุงปารีสในวันอังคาร (16)
เอเจนซี/เอเอฟพี - ประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี เปิดเผยภายหลังการเจรจาหารือกันที่กรุงปารีส ในวันอังคาร(16) ถึงแผนการต่างๆ อันยาวไกลเพื่อทำให้เขตยูโรโซนมีการบูรณาการเข้าด้วยกันมากยิ่งขึ้น ทว่าผู้นำทั้งสองก็สร้างความผิดหวังให้บรรดานักลงทุน จากการประกาศว่าแนวความคิดใดๆ ในเรื่องการออกพันธบัตรร่วมของยูโรโซนนั้น ยังจะต้องอดใจรอกันไปอีกนานทีเดียว

ถึงแม้เผชิญกับแรงกดดันอันหนักหน่วงที่จะให้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นในอนาคตของเขตใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ตลาดการเงินแสดงอาการเบือนหน้าหนีจนทำให้หุ้นและตราสารหนี้ของยุโรปทรุดตัวอย่างหนักในระยะ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ ซาร์โกซี และแมร์เคิล ซึ่งรับประทานอาหารค่ำพร้อมๆ กับทำงานไปด้วย ก็ยังคงไม่คิดที่จะให้ขยับเพิ่มเม็ดเงินในกองทุนสนับสนุนเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility หรือ EFSF) ) ซึ่งทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือชาติสมาชิกอียูที่ประสบปัญหาการเงิน แต่หันมาประกาศว่าจะยืนหยัดเคียงข้างกันในการพิทักษ์ปกป้องสกุลเงินยูโร พร้อมกับผลักดันงานรากฐานต่างๆ ที่จะนำเขตยูโรโซนไปสู่ความเป็นสหภาพทางการคลังในอนาคตข้างหน้า

“สาร” ที่พวกเขาต้องการเน้นย้ำนั้นชัดเจนมาก นั่นคือ เวลานี้จุดโฟกัสควรต้องอยู่ที่การบูรณาการทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นอีก ไม่ใช่การเซ็นเช็กจ่ายเงินเพื่อกอบกู้ช่วยเหลือชาติยูโรโซนที่ประสบปัญหาหนี้สินภาคสาธารณะ ตลอดจนไม่ใช่การออกพันธบัตรในนามของยูโรโซนโดยรวม นอกจากนั้นพวกเขายังเสนอแนะว่า จะไม่อดทนให้มีการทำผิดกฎเกณฑ์และเป้าหมายทางการคลังของยูโรโซนอีกต่อไปแล้ว

“เรามีจุดยืนอย่างเดียวกันเป๊ะในเรื่องพันธบัตรยูโร” ซาร์โกซี กล่าวกับที่ประชุมแถลงข่าว ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือกับแมร์เคิล

“พันธบัตรยูโรเป็นเรื่องที่เราสามารถจินตนาการได้ว่าวันหนึ่งจะต้องเกิดขึ้น ทว่า ต้องเกิดขึ้นในตอนท้ายของกระบวนการบูรณาการยุโรปเข้าด้วยกัน ไม่ใช่เกิดขึ้นในตอนเริ่มต้น”

ก่อนหน้านี้ มีผู้เชี่ยวชาญหลายรายออกมาแสดงทัศนะว่า การออกพันธบัตรของยูโรโซนโดยรวม เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า พวกรัฐสมาชิกยูโรโซนที่กำลังประสบปัญหาระดมเงินจากตลาดการเงินมาใช้จ่ายและใช้หนี้นั้น จะยังคงกระทำเช่นนั้นได้

ขณะที่ในความรู้สึกของพวกนักลงทุน การที่ไม่มีการลงมือกระทำการใดๆ เพื่อเริ่มออกพันธบัตรชนิดที่ยูโรโซนโดยองค์รวมเป็นผู้หนุนหลังนั่นแหละ กำลังเป็นปัจจัยทำให้ตลาดการเงินเความกังวลกันไม่ยอมเลิกเสียทีว่า เหล่าผู้นำยุโรปยังไม่ได้แสดงให้เห็นความสามารถในการควบคุมสกัดกั้นวิกฤตหนี้สินภาคสาธารณะของภูมิภาคนี้

“ตลาดต้องการที่จะเห็นอย่างน้อยที่สุดก็ในเรื่องความเคลื่อนไหวไปข้างหน้าบางอย่างบางประการ มาตรการรูปธรรมบางอย่างบางประการที่ออกมาจากการประชุมหารือคราวนี้ ซึ่งจะไม่ได้กลายเป็นไปสนับสนุนสิ่งที่กำลังดึงลากให้ตลาดลดต่ำลง” มาร์ก ปาโด นักยุทธศาสตร์ตลาดสหรัฐฯแห่ง แคนเตอร์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ในซานฟรานซิสโก ให้ความเห็น

ยิ่งซาร์โกซีและแมร์เคิล ยังประกาศด้วยว่า เห็นชอบกับแผนการที่จะเก็บภาษีจากธุรกรรมทางการเงิน ก็เลยยิ่งกลายเป็นปัจจัยกระหน่ำใส่ราคาหุ้นของบางบริษัทซึ่งซื้อขายกันอยู่ในตลาดสหรัฐฯด้วย จนกระทั่งดัชนีสำคัญของหุ้นวอลล์สตรีทพากันตกกราวรูดทั้งในระหว่างและภายหลังการหารือของผู้นำทั้งสอง หลังจากนั้น จึงกระเตื้องกลับขึ้นมาบ้าง จนเมื่อตอนปิดตลาดวันอังคาร ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 77.20 จุด หรือ 0.67% สำหรับดัชนีเอสแอนด์พี 500 ติดลบ 11.77 จุด หรือ 0.98% และดัชนีแนสแดคตก 31.75 จุด หรือ 1.24%

ส่วนค่าเงินสกุลยูโรก็อ่อนยวบลง เนื่องจากสิ่งที่ออกมาจากการหารือของผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนี ไม่ได้ช่วยผ่อนคลายความวิตกของตลาดที่ว่า วิกฤตหนี้สินกำลังแผ่ลามจากรัฐสมาชิก “ชายขอบ” ของยูโรโซน อย่าง กรีซ, ไอร์แลนด์, โปรตุเกส ไปจนถึงรัฐระดับแกนหลักของยูโรโซนอย่าง อิตาลี, สเปน และแม้กระทั่งฝรั่งเศส ทั้งนี้ก่อนหน้านี้พวกเทรดเดอร์ต่างวาดหวังว่า ซาร์โกซีและแมร์เคิลจะส่งสัญญาณทางบวกในเรื่องการออกพันธบัตรยูโร หรือไม่ก็การเพิ่มวงเงินของกองทุน EFSF

พวกนักวิเคราะห์ยังคงข้องใจกันมาก ว่า ข้อเสนอเรื่องเก็บภาษีจากธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏออกมาจากการหารือคราวนี้แบบชนิดไม่มีใครคาดหมายมาก่อนนั้น จะมีโอกาสกลายเป็นจริงแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงท่าทีคัดค้านในเรื่องนี้อย่างแข็งขันของชาติยุโรปบางราย ตลอดจนของทางธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส แจ้งว่า ข้อเสนอเรื่องนี้รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ของผู้นำทั้งสอง ในรูปที่เป็นข้อเขียนซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดอันสมบูรณ์ จะถูกส่งไปยัง เฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป ในวันพุธ (17) และจะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันนั้นด้วย

**รัฐบาลเศรษฐกิจของยุโรป**

ตามการเปิดเผยของซาร์โกซีและแมร์เคิลระหว่างการแถลงข่าวภายหลังการหารือนั้น ข้อเสนอแรกสุดของพวกเขาในกระบวนการบูรณาการยุโรป ก็คือ จะต้องมี “รัฐบาลทางเศรษฐกิจที่แท้จริง” สำหรับเขตยูโรโซน โดยที่จะมีการเลือกตั้งประธานยูโรโซนขึ้นมา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเขตนี้ ตำแหน่งนี้จะมีวาระ 2 ปีครึ่ง ขณะเดียวกันก็จะจัดให้มีการประชุมระดับผู้นำของรัฐสมาชิกยูโรโซนทุกๆ ครึ่งปี

“เยอรมนีและฝรั่งเศสรู้สึกมุ่งมั่นผูกพันอย่างเต็มที่ที่จะต้องทำให้เงินยูโรในฐานะที่เป็นสกุลเงินตราร่วมของพวกเรามีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังจะต้องทำให้มันมีการพัฒนาต่อไปอีกด้วย และเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนเหลือเกินว่า เพื่อให้สภาพการณ์เช่นนี้บังเกิดขึ้น รัฐสมาชิกทั้งหลายในยูโรโซนจำเป็นที่จะต้องกระทำตามนโยบายด้านการเงินและด้านเศรษฐกิจให้แข็งแรงยิ่งขึ้น” แมร์เคิล กล่าว

ซาร์โกซี กล่าวเพิ่มเติมว่า เขาและแมร์เคิลเสนอให้รัฐบาลของบรรดารัฐสมาชิกยูโรโซน นำเอากฎเกณฑ์ข้อจำกัดการขาดดุลงบประมาณของยูโรโซน ไปบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ โดยที่หากทุกๆ ชาติรับรองในเรื่องนี้แล้ว กฎเกณฑ์ดังกล่าวก็จะกลายเป็นกฎระเบียบ เป็นหน้าที่ เป็นวินัยที่จะต้องกระทำตาม ไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือกที่อาจกระทำหรือไม่กระทำก็ได้อีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น