xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดนโยบายสาธารณะ : กลไกขจัดความสุดโต่งในการกำหนดนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

เป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่อาจถูกกำหนดในแวดวงแคบๆ ของชนชั้นนำอันประกอบด้วยกลุ่มนักการเมือง ทุน ทหาร ข้าราชการ นักวิชาการ และเทคโนแครตอีกต่อไป ด้วยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่เพียงประชาชนจะต้องใช้อำนาจอธิปไตยในการเลือกพรรคการเมืองเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศเท่านั้น ทว่ายังต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดนโยบายสาธารณะระดับต่างๆ ผ่านกระบวนการทางสังคมอย่างหลากหลายด้วยเพื่อจะสามารถกำหนด ‘อนาคตประเทศไทยที่พึงปรารถนาร่วมกัน’ ได้โดยไม่แตกแยก

ด้วยในข้อเท็จจริงนโยบายสาธารณะที่ถูกกำหนดโดยพรรคการเมืองมักเป็นไปในทิศทางเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนเบื้องหลังและพรรคพวกเครือญาติรวมทั้งฐานคะแนนเสียงเป็นสำคัญอันเป็นที่มาของการกำหนดนโยบายที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่างๆ ตั้งแต่การทุจริตคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ไปจนถึงการทำลาย ‘วินัยการเงินการคลัง’ หลังผุดนโยบายประชิยมมากมายราวดอกเห็นหลังฝน

อีกทั้งความล้มเหลวและผิดพลาดในการกำหนดนโยบายสาธารณะยังผลักประเทศไทยไปสู่ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมมมากยิ่งขึ้นทุกวัน เพราะถึงที่สุดแล้วแม้ดอกผลของนโยบายประชานิยมที่มุ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่กลุ่มประชาชนเป้าหมายภายในเวลาสั้นๆ จะทำให้ประชาชนชื่นชอบชื่นชมจนมองข้ามปัญหาและวิกฤตที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินนโยบาย แต่ทว่าภายในระยะเวลาไม่นานนักเมื่อถึงคราวจะต้อง ‘ยุติ’ นโยบายเหล่านั้นอันเนื่องมาจากการสูญเสียเม็ดเงินมหาศาลไปโดยไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและเกิดภาระการเงินการคลังจนรัฐแบกรับไม่ไหวอีกต่อไปก็จะทำให้เกิดแรงต้านจากประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับประโยชน์ในนโยบายเหล่านี้ ที่สำคัญทั้งชนชั้นนักการเมือง ทุน ข้าราชการ นักวิชาการ และเทคโนแครต ที่คิด ผลิต และได้รับประโยชน์จากการคงอยู่ของนโยบายต่างก็ต่อต้านการยกเลิกถึงแม้ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายนั้นๆ จะแสดงความสูญเสียที่ยากยอมรับได้

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ความตึงเครียดเขม็งเกลียวด้านความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมที่หลายฝ่ายมองว่า ‘นโยบายสาธารณะ’ (public policy) ควรเป็นเครื่องมือและกลไกในการสถาปนาความเป็นธรรมและเท่าเทียม รวมทั้งสร้างสวัสดิการสูงสุดแก่ประชาชน โดยเฉพาะคนปลายอ้อปลายแขมนั้นจึงยังคงเป็นความหวังเลื่อนลอยและสุดท้ายอาจมีสถานะแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ ก็ได้ตราบใดที่ประชาชนยังไม่ตื่นตัวเข้าร่วมกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะตั้งแต่ต้นธารถึงปลายธาร หรือนับแต่การนิยามประเด็นปัญหา การวิเคราะห์ทางเลือก การกำกับติดตาม ไปจนถึงการประเมินผลนโยบาย จากการที่ตระหนักว่าตนเองเป็นประชาชนของประเทศนี้ที่มีพลังอยู่ในทุกที่ทุกเวลา ไม่ได้จำกัดแค่ตอนเลือกตั้งเท่านั้น

ดังนั้น ‘ประชาชน’ จึงเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายสาธารณะที่สอดรับกับพลวัตประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) ที่เบ่งบานมากขึ้นด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศไทยให้เป็นไปดังหวังวาดไว้ได้ โดยวิธีหนึ่งซึ่งใช้ต้นทุนไม่มากนักคือการเข้าร่วมถกเถียงใน ‘ตลาดนโยบายสาธารณะ’ ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายภายหลังรัฐประหารเป็นต้นมา เพราะตลาดนโยบายสาธารณะคือพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันฉันกัลยาณมิตรถึงทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นจากการกำหนดนโยบายสาธารณะซึ่งอยู่สองฝั่งฟากของความสุดโต่ง คือ 1) นโยบายสาธารณะที่เอื้อประโยชน์ชนชั้นนำโดยการเอารัดเอาเปรียบหรือกระทั่งกดขี่บีฑาประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมจนสร้างความเหลื่อมล้ำรุนแรง และ 2) นโยบายสาธารณะที่เอาอกเอาใจประชาชนจนเกินไปโดยใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างไม่ประมาณเพื่อดึงดูดคะแนนเสียงประชาชน ด้วยเพราะในความสุดขั้ว (extreme) ของนโยบายที่อยู่คนละปลายสุดของเส้นการกำหนดนโยบายของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การครอบงำของชนชั้นนำซึ่งเพิ่งจะมาต่างกันอย่างชัดเจนในช่วงหลังนั้นต่างทำลายประเทศไทยด้วยกันทั้งคู่

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อย่างแรกเป็นการใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคลบนความสูญเสียประโยชน์ของประชาชนหรือประโยชน์ของประเทศจากการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อตนเองและพวกพ้อง และอย่างที่สองเป็นการแสวงหาอำนาจทางการเมืองโดยการกอบโกยคะแนนเสียงจากประชาชนกลุ่มหนึ่งบนความสูญเสียผลประโยชน์ของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถึงที่สุดแล้วแม้นนโยบายประชานิยมนั้นจะจบวงจรชีวิตตนเองในระยะเวลาไม่นานมาก หากแต่กลับส่งผลกระทบระยะยาวมากจากการทำลายศักยภาพประชาชนอย่างถึงรากจากการรอคอยความช่วยเหลือเอื้ออาทรจนพลังในการพึ่งพิงตนเองลดลง

แน่นอนที่สุดว่านโยบายสาธารณะจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนหรือประโยชน์ประเทศสูงสุดเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้อง ‘ปฏิรูปกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ’ เสียใหม่ให้อยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนที่มีความเป็นรูปธรรมชัดเจนกว่าผลประโยชน์ของประเทศในกรณีที่เป็นนโยบายที่มุ่งดำเนินการภายในประเทศ และจากการที่ประชาชนถูกอ้างอิงมากที่สุดในการสร้างความชอบธรรมของการกำหนดนโยบายสาธารณะระดับต่างๆ ทั้งแบบสุดโต่งที่เบียดเบียนประชาชนจนเสมือนเป็นไพร่ทาสและเอาอกเอาใจประชาชนจนเสมือนเป็นลูกคนเดียวที่พ่อแม่ตามใจจนเสียคน (spoil)

อนึ่ง แนวทางการทำงานของตลาดนโยบายสาธารณะจะไม่ผลิตนโยบายสาธารณะที่อยู่ปลายสุดความสุดโต่งทั้งสองด้าน คือขู่เข็ญข่มขู่คุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยใช้กลไกอำนาจรัฐกำหนดนโยบายที่อยุติธรรมและเลือกปฏิบัติ พร้อมๆ กับหลีกเลี่ยงนโยบายที่ทำลายศักยภาพประชาชนในระยะยาวจากการตามใจที่ไม่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมและสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างชนชั้นต่างๆ แต่อย่างใด โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ถูกผลิตจากตลาดนโยบายสาธารณะซึ่งผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสมานฉันท์โดยให้ความสำคัญกับทุกความคิดเห็นข้อเสนอแนะจนเป็นที่มาของ ‘ฉันทามติ’ (consensus) จะทำให้ประเทศไทยเคลื่อนไปใกล้ความเป็นธรรมและเท่าเทียมในสังคมได้

ไม่เท่านั้นนโยบายสาธารณะที่ถูกเสนอแนะให้นำไปปฏิบัตินอกจากจะได้รับการขานรับจากประชาชนจำนวนมากอันเนื่องมาจากวางอยู่บนฐานคิดเรื่อง ‘ผลประโยชน์ของประชาชน’ เป็นสำคัญแล้ว ยังไม่ถูกขัดขวางคัดค้านจากชนชั้นนำบางส่วนที่สวมเสื้อนักวิชาการ เทคโนแครต ข้าราชการ และนักการเมืองด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแล้วจากการเข้าร่วมเวทีสาธารณะที่เปิดกว้างกับการถกแถลงเหตุผลข้อมูลชุดต่างๆ มาแล้ว ดังกรณีเวทีสมัชชาสุขภาพและเวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยทั้งในระดับเฉพาะประเด็น ระดับพื้นที่ และระดับชาติ ที่พยายามผสานภาคส่วนสังคมที่เกี่ยวข้อง (stakeholder) เข้ามาร่วมจำนวนมากและอย่างหลากหลายเพื่อจะผลิตนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยที่อยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านสู่การสร้างความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาคกันทางสังคม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติการคู่ขนานอย่างน้อยสุด 2 ด้าน คือ 1) สร้างตลาดนโยบายสาธารณะจำนวนมาก หากปรารถนาให้อนาคตของประเทศไทยไม่เกิดความขัดแย้งจนแตกแยกอยู่ร่วมกันไม่ได้อีกต่อไปเพราะชุดความคิด ทัศนะ และอุดมการณ์ที่แตกต่างกันเหล่านั้นไม่เคยถูกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมาก่อนเลยจนกระทั่งหลายฝ่ายที่ถูกผลักออกไปให้กลาย ‘อื่น’ หรือถึงขั้นเป็น ‘ปฏิปักษ์’ ต้องออกไประบายความคับแค้นขื่นขมบนท้องถนน และ 2) สร้างกระบวนการทำงานของตลาดนโยบายสาธารณะที่เคารพความแตกต่างให้สามารถแสดงออกได้ ในขณะเดียวกันก็เอื้ออำนวยต่อการเสนอแนะข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสมานฉันท์โดยไม่มองอีกฝ่ายที่มีชุดความคิด ทัศนะ หรืออุดมการณ์ต่างไปจากตนเป็น ‘อื่น’ หรือถึงขั้นเป็น ‘ปรปักษ์’ ที่ต้องขจัดไปจากตลาด

‘ตลาดนโยบายสาธารณะ’ จึงเป็นกลไกขจัดความสุดโต่งในการกำหนดนโยบายที่ไม่สุดขั้วไปในทางกดขี่บีฑาประชาชนก็เอาอกเอาใจประชาชนจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มี ‘ต้นทุนต่ำ’ ในการเข้าร่วมเพราะไม่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อหรือหยาดเหงื่อบนท้องถนน ตลอดจนมีสิทธิและเสียงที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะที่แตกต่างออกไปจากพรรคการเมืองแต่อยู่บน ‘ผลประโยชน์ประชาชน’ มากกว่าได้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น