xs
xsm
sm
md
lg

คนปลายอ้อปลายแขม : พลวัตแห่งอำนาจการสร้างบ้านแปงเมือง

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

พลวัตสังคมไทยในการสร้างบ้านแปงเมืองไม่เพียงเกิดจากแรงขับเคลื่อนของปัจจัยภายในที่ถูกประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เป็นเรื่องเล่าขนาดใหญ่ (grand narrative) เขียนผ่านอิทธิพลความยิ่งใหญ่ของกลุ่มชนชั้นนำหรือนักรบเท่านั้น ทว่า แท้ที่จริงยังเคลื่อนผ่านความหลากหลายทางปฏิบัติการของคนปลายอ้อปลายแขมในสังคมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นกำลังทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของการไม่สยบจำนนทั้งต่อปัจจัยภายในที่ใช้กำลังเอารัดเอาเปรียบ และภายนอกที่นับวันจะใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจกอบโกยทรัพยากรทุกด้านของประเทศหนึ่งไปใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่ประเทศตนเองจนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศถ่างกว้างอย่างมากอันส่งผลต่อเนื่องมาถึงความเหลื่อมล้ำภายในประเทศระหว่างคนร่ำรวยกับยากจนจากการเข้าไม่ถึงทรัพยากรเศรษฐกิจเพราะถูกกีดกันโอกาสที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาศักยภาพ สิทธิ และอำนาจการเจรจาต่อรอง

การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสถาปนาความเป็นธรรมโดยคนเล็กคนน้อยที่ถูกกีดกันกดทับให้เป็นชายขอบของการพัฒนากระแสหลัก แม้ไม่อาจพลิกโฉมหน้าประเทศไทยให้กลับมามีดุลยภาพทางอำนาจระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้ในทันทีทันใด แต่ทว่าผลสะเทือน (impact) ของขบวนการทางสังคมนับตั้งแต่ยุคสมัยเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเผด็จการครองเมืองจนไปถึงยุคแห่งการปกป้องสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันจากการรุกรานของทุนโลกาภิวัตน์ก็ทำให้สังคมไทยไม่ซึมเซื่องกับอำนาจอยุติธรรมต่างๆ ที่แผ่ซ่านซึมลึกในโครงสร้างสังคมมาช้านานได้

โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากการมีอิทธิพลเหนือรัฐชาติในการกำหนดกฎหมายและนโยบายสาธารณะของบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ และการจัดสรรทรัพยากรของรัฐที่เน้นภารกิจของรัฐมากกว่าการกระจายลงสู่พื้นที่ที่สอดคล้องความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ยิ่งในส่วนของงบประมาณด้วยแล้วยิ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณตามคำขอของหน่วยราชการที่กำหนดขึ้นโดยภากิจของรัฐมากว่าใช้พื้นที่จังหวัดเป็นฐาน รวมทั้งประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐด้วย

ดังนั้นในการบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยในการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจึงต้องปรับสัมพันธภาพทางอำนาจใหม่ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตลอดจนสร้างอำนาจประชาชนและกระจายอำนาจไปสู่สังคมควบคู่กันไปในฐานะของยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ที่สำคัญต้องจินตนาการสังคมไทยใหม่ให้มีพื้นที่ที่เรื่องเล่าขนาดเล็กได้โลดแล่นด้วยเพราะจะทำให้สังคมไทยดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการผลิบานของระบอบประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างทางผลประโยชน์ซึ่งแม้กระทั่งภายในชุมชนเดียวกันหลังอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งก็ขัดแย้งกันเรื่องทรัพยากรท้องถิ่น และความหลากหลายทางความคิดเห็นที่บางขั้วมีความสุดโต่ง (extreme) จนสร้างความขัดแย้งถึงขั้นเคียดแค้นชิงชัง

การสร้างบ้านแปงเมืองให้มีความเป็นธรรมและเท่าเทียมทางสังคมจึงต้องเสริมสร้างอำนาจประชาชนควบคู่กับการกระจายอำนาจที่เป็นกระบวนการเดียวกัน โดยการทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนสำคัญในการจัดการศึกษา การจัดการทรัพยากรของชุมชน การพัฒนาองค์กรประชาชนให้เป็นฐานสำคัญของการพัฒนา พร้อมๆ กันกับการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางไปสู่สังคมแทนที่การถ่ายโอนอำนาจระหว่างองค์กรของรัฐหรือองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รัฐยังควบคุมได้ ด้วยการเสริมอำนาจประชาชนและการกระจายอำนาจจะเป็นสองเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปสังคมไทยบรรลุผลได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม (participant political culture) มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติหลังถูกระบบการเมืองแบบเชื่อผู้นำทำให้ประชาชนมองตนเองเป็นผู้ถูกปกครองครอบงำตลอดมา

กล่าวอีกนัยหนึ่ง กระบวนการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจำเป็นต้องสร้างเสริมอำนาจประชาชนที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมผ่านปฏิบัติการต่างๆ ที่มิใช่รัฐบาลหรือคณะกรรมการชุดใดชุดหนึ่งซึ่งถึงที่สุดก็ไม่แตกต่างจากการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมไทยที่ไม่ได้งอกงามจากข้อเสนอของรัฐบาลหรือคณะกรรมการชุดหนึ่งชุดใด ทั้งนี้ในการทำให้ประชาชนปลายอ้อปลายแขมและชุมชนที่อ่อนแอจากการสูญเสียอำนาจการตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตอันเนื่องมาจากการรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้นของรัฐราชการ และการมีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐบาลของบรรษัทระดับชาติและข้ามชาติด้วยปฏิบัติการการกระจายอำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยไปในทิศทางเดียวกันโดยการให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าเล็กๆ ที่แม้ไม่สอดคล้องเป็นเอกภาพกับเรื่องเล่าใหญ่ก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกันสำหรับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้มีความยั่งยืน

ดังกรณีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการปกป้องพื้นที่อาหารของท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันจากการพัฒนากระแสหลักที่มีอุตสาหกรรมหนักนำทัพอันแตกต่างจากเรื่องเล่ากระแสหลักของสังคมไทยที่ให้ค่าการพัฒนาประเทศผ่านการไล่กวดอุตสาหกรรมและตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยคนในพื้นที่จะใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (CHIA) บนกระบวนการแบบมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นที่ยืนหยัดอยู่กับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นในการสืบค้น ‘ข้อมูล’ หลากหลายมิติจนได้ความจริงชุดหนึ่งซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลบริเวณนั้นว่านอกจากจะเอื้ออาทรต่อการดำรงชีวิตและวิถีชุมชนของชาวประมงพื้นบ้านแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญเลี้ยงพลเมืองไทยและโลกด้วย โดยชุมชนเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะมีพลังต่อกรกับกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่เอื้อประโยชน์ทุนอุตสาหกรรมเหนือความมั่นคงทางอาหาร (food security) และสิทธิชุมชน (community rights) ที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิอำนาจไว้ได้ แต่ทว่าในความเป็นจริงอาจไม่ใช่ก็ได้ ดังกรณีที่ที่เกิดกับชุมชนชายฝั่งทะเลไทยที่พ่ายแพ้แก่อำนาจอุตสาหกรรมจากการสมประโยชน์ของรัฐ

ในพลวัตการสร้างบ้านแปงเมืองที่วีคูณความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางจากการเข้ามาในสนามการเมืองการปกครองผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนประชาชน และการต่อรองเจรจาผลประโยชน์เศรษฐกิจของคนปลายอ้อปลายแขมที่มีอำนาจมากขึ้นจากกระบวนการประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและโอกาสทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากขึ้นอาจทำให้สามารถบรรลุอุดมคติคุณภาพชีวิตของคนไทยตามที่คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ระบุไว้ได้ทั้งในด้าน 1) การมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันในฐานะความเป็นมนุษย์ มีส่วนร่วมทางสังคม มีสำนึกต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนทั้งทางร่างกาย ใจ ภูมิปัญญา และจิตวิญญาณ 2) การมีชีวิตที่สงบสุขตามวิถีวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ปราศจากภัยคุกคามจากผู้อื่น หรือการคุกคามซึ่งกันและกัน ตลอดจนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะ และ 3) การมีชีวิตที่มีหลักประกันในด้านเงื่อนไขการครองชีพและมีกลไกการคุ้มครองทางสังคม

ทั้งนี้ ถึงที่สุดแม้อุดมคติการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยจะเป็นประเด็นที่ต้องการการกลั่นกรอง ถกเถียง และเสนอแนะจากทุกภาคส่วนสังคมก่อนจะตกผลึก แต่กระนั้นข้อเสนอเชิงอุดมคติของ คปร.และมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติทั้งสองครั้งที่ผ่านมาว่าด้วยการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นการศึกษา สวัสดิการสังคม แรงงาน เกษตรกรรม จนถึงการกระจายอำนาจการปกครองนั้นก็น่าจะถากถางเส้นทางสายความเท่าเทียมที่มีคุณูปการต่อสังคมไทยในวันที่วิกฤตความเหลื่อมล้ำทำคนทุกสีเสื้อได้รับผลกระทบทั่วถึงกันถึงแม้ว่าจะมากบ้างน้อยบ้างตามจังหวะการเข้ามามีอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำที่คนเหล่านั้นสนับสนุนหรือคัดค้าน ด้วยที่สุดข้อเสนอและมติเหล่านี้มีนัยสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนาอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งพัฒนากลไกเชิงสถาบันที่เหมาะสมเพื่อให้สังคมสามารถปฏิรูปหรือมีกลไกการปรับตัวต่อเนื่องในด้านต่างๆ ตลอดกระบวนการปฏิรูปด้วย

เพียงแต่ว่าปัจจุบันกลุ่มคนต่างๆ ที่รวมกลุ่มกันเป็นขบวนการทางสังคม (social movement) ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนปลายอ้อปลายแขมที่ถูกจัดเป็นชายขอบของการพัฒนากระแสหลักมักถูกผลักให้เลือกข้างทางการเมืองและถูกปลุกปั่นให้แสดงออกบนท้องถนนจนถูกปรามาสว่าเป็น ‘ม็อบ’ (mob) ป่วนความสงบสุขบ้านเมืองและทำลายเศรษฐกิจประเทศ หรือหลอมรวมเป็นกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ที่มุ่งแต่ปกป้องประโยชน์ตนเองด้วยวิธีการเรียกร้อง ข่มขู่ หรือถึงขั้นคุกคาม โดยไม่แยแสว่าทำคนอื่นเดือดร้อนสาหัสขนาดไหน หรือไม่ก็กลายเป็นกลุ่มคลั่งลัทธิหรือบูชาตัวบุคคลจนทำลายทั้งขบวนการทางสังคมของตนเอง ขบวนการสังคมอื่นๆ รวมถึงขบวนการประชาธิปไตยที่ถูกตัดตอนทั้งแง่มุมของสารัตถะและรูปแบบ

การใคร่ครวญเนื้อหาและทบทวนรูปแบบการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมของตนเอง และการเข้าร่วมกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร หลักฐานข้อเท็จจริง ความรู้และประสบการณ์ โดยการเรียนรู้ ถกแถลง ปรึกษาหารือกันอย่างกัลยาณมิตรที่ไม่ได้ตั้งโจทย์เอาแพ้ชนะคะคานกันแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศชาติที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมจนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะนั้นๆ แม้กระทั่งกลุ่มที่ถูกกีดกันออกไปในสมัยก่อนนั้นโดยเฉพาะกลุ่มคนปลายอ้อปลายแขม ดังเช่นเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติที่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความยืดหยุ่น และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนสังคมที่เกี่ยวข้อง จะสามารถผลักดันประเทศไทยไปพ้นวังวนความอยุติธรรมที่ถูกกระหน่ำซ้ำด้วยความเหลื่อมล้ำในสังคมได้

ในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ (public policy) เพื่อสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ให้มีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจึงพึ่งเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะอย่างเป็นทางการ (official policy maker) ไม่ได้ ด้วยในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปภายใต้บริบทของไทยที่ถูกถั่งโถมด้วยวิกฤตนานัปการจากปัจจัยภายในและภายนอกนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยอำนาจคนปลายอ้อปลายแขมที่เป็นทั้งกลไกการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยในทุกด้านๆ ตั้งแต่ความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมถึงความเป็นธรรมในระบบเกษตรกรรมและอาหาร และเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเมืองไทยผ่านการใช้สิทธิเสียงเลือกตั้งพรรคการเมืองที่นิยมชมชอบไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือนโยบายแข่งขัน ในการเข้ามาปฏิบัติการทางการเมืองโดยมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะตามอำนาจความเป็นพลเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ในขณะเดียวกันก็เป็นพลังตรวจสอบถ่วงดุล (check & balance) การบริหารชาติบ้านเมืองไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันและเอื้อประโยชน์พวกพ้องเครือญาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น