xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรรมยั่งยืน : ยุทธศาสตร์ระบบเกษตรและอาหารประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

หนึ่งจุดแตกหักสำคัญกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยคือการสร้างความเป็นธรรมในระบบเกษตรและอาหาร เพราะนอกจากการเกษตรกรรมจะเป็นต้นธารอาหารที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคนว่าจะอยู่เย็นเป็นสุขหรืออยู่ร้อนนอนทุกข์แล้ว ระบบเกษตรกรรมและอาหารยังสัมพันธ์กับการพัฒนาประเทศชาติด้วยว่าจะวางอยู่บนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติต่อไป

ในเส้นทางการพัฒนาประเทศไทยที่ช่วงหนึ่งเร่งไล่กวดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก่อนจะคะมำกลิ้งจากพิษเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 จนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นความหวังของเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียม้วยมลาย ผู้คนบนสายพานอุตสาหกรรมทุนนิยมพลัดพรากจากความหวังสวยหรูว่าจะสามารถยกระดับความเป็นอยู่จากยากจนข้นแค้นสู่ร่ำรวยกันเกือบถ้วนหน้า ขณะที่ภาคเกษตรกรรมที่ถูกทิ้งร้างกลับรองรับผู้ประสบความผันผวนของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่มีความเปราะบางและขาดเสถียรภาพความมั่นคงต่างๆ ได้ดีกว่า โดยเฉพาะด้านอาหาร ดังสถานการณ์ต้มย้ำกุ้งที่คนไทยไม่อดอยากยากแค้นนักแม้จะประสบพิษเศรษฐกิจด้วยมีฐานเกษตรรองรับ โดยเฉพาะระบบเกษตรที่ไม่อยู่ใต้อาณัติบรรษัท ทั้งเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรลดต้นทุน ต่างจากต่างประเทศที่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำจะเกิด ‘จลาจลอาหาร’ ตามมา เพราะโครงสร้างและระบบเกษตรกรรมทั้งหมดเข้าสู่รูปแบบอุตสาหกรรมอันมีบรรษัทยักษ์ใหญ่เป็นเจ้าของ

ทว่า ถึงที่สุดแล้วนโยบายรัฐบาลไทยทุกยุคสมัยนับแต่ต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ที่ไม่ว่าจะแตกขั้วทางการเมืองเพียงใดก็ดำเนินการเหมือนกันคือมุ่งเดินหน้าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมด้วยการเปิดเสรีการค้าและส่งเสริมบรรษัทข้ามชาติให้เข้ามาลงทุนแข่งขันในประเทศโดยเปิดกว้างทางกฎหมายและนโยบายให้กับการเข้าถึงและแย่งชิงทรัพยากรที่เป็นถิ่นฐานที่อยู่และฐานการผลิตอาหารของคนเล็กคนน้อยในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ กระทั่งฐานทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานการเกษตรและอาหารถูกผูกขาดโดยบรรษัทระดับชาติและข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ จนความมั่นคงในชีวิตคนไทยถูกทอนลงจนเปราะบางอย่างมาก

ทั้งนี้ เมื่อความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ขึ้นกับระบบการเกษตรและอาหารทั้งในสถานการณ์วิกฤตและปกติ การเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ มีคุณภาพความปลอดภัยและคุณค่าโภชนาการตามหลักสิทธิทางอาหาร (Right to food) อันเป็นหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งยวดสำหรับทุกคนทุกสังคม แม้กระทั่งในสังคมไทยที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำและปวารณาตัวเป็นครัวโลกส่งผลผลิตการเกษตรและอาหารเลี้ยงพลเมืองโลก โดยเฉพาะข้าวที่ไทยเคยครองอันดับหนึ่งในตลาดโลก

ด้วยเพราะปัจจุบันคนไทยเผชิญภาวะข้าวยากหมากแพง ข้าวที่บริโภคทั้งแพง ไม่ปลอดภัย และไม่อร่อย โดยประชาชนผู้บริโภคไม่มีสิทธิเลือกจะบริโภคมากนักเนื่องจากข้าวในท้องตลาดถูกทอนความหลากหลายลงจนเหลือไม่กี่ชนิดที่นิยมกันอันเนื่องมาจากการเกษตรเหลือทำกันเพียงไม่กี่แบบ ซ้ำร้ายรูปแบบการเกษตรที่รัฐส่งเสริมสนับสนุนทั้งเชิงนโยบาย องค์ความรู้ และปฏิบัติการในระดับไร่นา อย่างเช่นเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ยังมีนัยสำคัญต่อการลดทอนความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่เกษตรกรปลูกเลี้ยง อีกทั้งอำนาจเจรจาต่อรองของเกษตรรูปแบบนี้ยังอยู่ในมือทุนที่สามารถจะบีบรัฐบาลให้กำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจเหนือสิทธิเกษตรกร (Farmers’ rights) ตลอดจนขูดรีดบีฑาเอาเปรียบเกษตรกรที่ต้องพึ่งปัจจัยการผลิตตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ยันตลาดด้วย

โครงสร้างภาคเกษตรกรรมและอาหารของประเทศไทยที่มีอุตสาหกรรมการเกษตรที่ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้มข้นเป็นหัวหอกได้เคลื่อนจุดความมั่นคงทางอาหาร (food security) ของไทยไปยังฝั่งฟากความไม่มั่นคงทางอาหาร (food insecurity) จนคุณภาพชีวิตผู้บริโภคเสี่ยงไม่ปลอดภัยทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว จากการบริโภคผลิตผลปนเปื้อน ด้านเกษตรกรก็ตกเป็นทาสในเรือนเบี้ยจากการต้องซื้อปุ๋ยเคมี สารเคมี พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช เรื่อยไปไม่จบสิ้นรวมถึงนโยบายรัฐด้านการเกษตรและอาหารก็ถูกครอบงำจากบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารอีกด้วย

ดังนั้นเพื่อจะสถาปนาความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำกล้ำกลืนที่เกิดกับประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ทางสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 บนกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายแบบฉันทามติจึงกำหนดให้ ‘เกษตรกรรมยั่งยืน’ เป็นยุทธศาสตร์ของระบบเกษตรและอาหารของประเทศไทย โดยเสนอให้มีการปฏิรูประบบเกษตรกรรมเพื่อความเป็นธรรมและความมั่นคงทางอาหาร ดังนี้

รัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน เครือข่ายเกษตรกร และองค์กรสาธารณประโยชน์ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมและอาหารของประเทศเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเกิดผลทางปฏิบัติภายใน 3 ปีเพื่อรับมือกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน พร้อมกับต้องเร่งรัดให้มีการตรา พ.ร.บ.พัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้แล้วเสร็จภายในปี 2556 โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวให้มีการจัดตั้งกองทุนเกษตรกรรมยั่งยืน การประกันราคาผลผลิตจากระบบเกษตรกรรมยั่งยืน มีหลักประกันคุ้มครองความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติต่างๆ ต่อเกษตรกร เช่น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้โดยมีคณะกรรมการบริหารที่มีสัดส่วนของเกษตรกรร้อยละ 60 และจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร้อยละ 40 พร้อมทั้งให้จัดตั้งกองทุนระดับตำบลที่เกษตรกรบริหารจัดการเองเป็นหลักเพื่อขับเคลื่อนให้การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

ในขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุนการพัฒนาและขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืนโดยให้มีกลไกการทำงานทั้งในเมืองและชนบท ร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรชุมชน ซึ่งกลไกดังกล่าวต้องมีสัดส่วนของเกษตรกรไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อการพัฒนาและขยายผลให้บรรลุเป้าหมายวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการพึ่งตนเองดังที่ได้กำหนดไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 อีกทั้งยังต้องสนับสนุนการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนตามศักยภาพของพื้นที่ที่เน้นคุณค่าและมูลค่า และปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงแบบมีส่วนร่วมโดยผ่านกลไกต่างๆ ตั้งแต่ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน กระบวนการโรงเรียนชาวนา นักวิจัยเกษตรกร อาสาสมัครเกษตร สภาเกษตรกร และสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรท้องถิ่น

รวมถึงปรับทิศทางการทำงานให้สนับสนุนและทำงานร่วมกับเกษตรกรและชุมชนมากขึ้นเพื่อสร้างนวัตกรรมขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างกว้างขวาง และจัดการปฏิรูปที่ดินโดยคำนึงถึงสภาพของแต่ละพื้นที่เพื่อรองรับผู้จบการศึกษาทางการเกษตรด้วย โดยรัฐบาล สภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมกับองค์กรเกษตรกร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสนับสนุนให้เกิดการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่และคุ้มครองอาชีพเกษตรกรรม โดยใช้นโยบายและมาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น นโยบายการเงิน การคลัง สนับสนุนทุนการศึกษาที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืนจนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศแก่บุตรหลานเกษตรกร ซึ่งจะได้เรียนฟรีแบบมีเงื่อนไขเพื่อมาทำงานในท้องถิ่นของตนเอง เช่น ส่งเสริมโครงการหนึ่งบัณฑิตหนึ่งโครงการ และยกเว้นภาษีเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมยั่งยืนภายใน 7 ปี ที่สำคัญสนับสนุนพื้นที่และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการประกอบอาชีพเกษตรกรรมยั่งยืน

ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนจึงเป็นทางออกของสังคมไทยและสังคมโลกในห้วงยามที่เกษตรเคมีมีความเปราะบางจากพลังงานและทำลายสุขภาวะประชาชนและสิ่งแวดล้อมหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้การพัฒนาประเทศไทยไปในทิศทางของความยั่งยืนควบคู่กับสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจึงต้องผลักดันเกษตรกรรมยั่งยืนให้เป็นหมุดหมายปลายทางของการพัฒนาระบบเกษตรและอาหารของประเทศไทย ด้วยในท้ายที่สุดเกษตรกรรมยั่งยืน (sustainable agriculture) ก็คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) หรือเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่ประเทศทั่วโลกต่างเดินไปในทิศทางนั้นกันแล้ว ด้วยไม่เพียงตอบสนองต่อเศรษฐกิจโลกที่ต้องการผลผลิตการเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากแต่ในระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น (local economy) ก็เจริญเติบโตจากการค้าขาย การแลกเปลี่ยน การจ้างงานในพื้นที่ ที่สำคัญยังทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นมากจากรูปแบบการเกษตรอินทรีย์ที่มีพื้นที่ให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเติบโตงอกงาม
กำลังโหลดความคิดเห็น