xs
xsm
sm
md
lg

20 ปีมลพิษอุตสาหกรรม ข้อเสนอเพื่อก้าวพ้นตายผ่อนส่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสวนาวิชาการ 20ปีมลพิษอุตสาหกรรมไทย : ปัญหาและการจัดการ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย (จากซ้ายไปขวา) รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคาร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม, บวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ดำเนินรายการโดย กิตติ สิงหาปัด จากสถานีทีวี ช่อง 3
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างบ้าคลั่งและไม่มีทีท่าจะหยุดยั้งของภาครัฐและทุนก่อปัญหาความขัดแย้งและมลพิษท่วมเมือง ขณะที่กลไกควบคุม-จัดการล้มเหลวสิ้นเชิง ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเรียกร้องทบทวนและร่วมมือกันจัดการใหม่อย่างจริงจัง

เป็นเวลา 20 ปีเต็มนับจากปี พ.ศ. 2535 ที่ประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและจัดการมลพิษรวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ได้แก่ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และการตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งกระทรวงที่รับผิดชอบดูแลด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงของประเทศเป็นครั้งแรก พร้อมกับการก่อตั้งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.), กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม

ในขณะเดียวกัน การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างเข้มข้นในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมารุดหน้าไปมาก พร้อมๆ กับการใช้สารเคมีปริมาณมหาศาลในทุกภาคการผลิตก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจัดการกากเคมีและของเสียอันตรายจำนวนมาก ปัญหาน้ำเสียและมลพิษอากาศที่เกิดจากโรงไฟฟ้าและโรงงาน ปัญหาการแพร่กระจายของโลหะหนักเป็นบริเวณกว้างตามแหล่งน้ำและดินในหลายพื้นที่

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่ผ่านมาต้องแลกกับสุขภาพของประชาชนและคนงานจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคจากมลพิษอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย ทั้งนี้ ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม สืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขัดแย้งกับความต้องการของคนในชุมชนท้องถิ่นหลายพื้นที่ หลายกรณีลงเอยด้วยการสูญเสียชีวิต อีกหลายกรณีได้กลายเป็นภาวะความขัดแย้งที่ยังคงร้าวลึกต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะกระจายวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศยังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะที่การจัดการกับปัญหามลพิษ การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางนโยบายและโครงการพัฒนายังคงมีปัญหา

ด้วยเหตุนี้ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดงานสัมมนา “20 ปีมลพิษอุตสาหกรรมประเทศไทย: ปัญหาและการจัดการ” เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2555 จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาจากมลพิษอุตสาหกรรมและความขัดแย้งจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศอย่างเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วนในสังคม ดังต่อไปนี้
ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

1. รัฐบาลต้องเคารพสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาพื้นที่ตนเอง

2. การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ต้องคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่มุ่งเน้นแต่เพียงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และรัฐต้องกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาใหม่โดยไม่ยึดติดแต่ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เท่านั้น

3. การกำหนดนโยบายการพัฒนาของรัฐ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และการรักษาความมั่นคงทางอาหาร และจะต้องไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม หรือแหล่งประมง

4. ในการส่งเสริมการลงทุน ต้องคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่และชุมชน และทำให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น โดยไม่ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพชุมชน

5. ต้องปฏิรูปกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับที่ไม่รับรองและคุ้มครองสิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการมลพิษ

ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการขยายอุตสาหกรรม

6. รัฐต้องคำนึงถึงมาตรการป้องกันเชิงพื้นที่ ให้มีความเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เช่น ผังเมือง, ประกาศเขตควบคุมมลพิษ, ประกาศเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ประกาศเขตคุ้มครองความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

7. รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมือง ทั้งในระดับชุมชน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ตลอดจนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผังเมืองอย่างเคร่งครัด และเมื่อร่างผังเมืองได้่ผ่านขั้นตอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว รัฐต้องป้องกันมิให้มีการดำเนินการใดที่ขัดต่อร่างผังเมืองดังกล่าว

8. รัฐต้องกำหนดให้ผังเมืองเก่าที่หมดอายุมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีผังเมืองใหม่ใช้บังคับ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย

9. รัฐต้องคุ้มครองพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ก่อนการพิจารณาอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์

10. ต้องมีการกำหนดระยะเวลาการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรม

11.การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ในด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพชุมชนเป็นสำคัญ

12. รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการให้สัมปทาน หรือการประมูลโครงการขนาดใหญ่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

13. ต้องปรับปรุงกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอไอ) เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ-อนุญาตโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

13.1 กำหนดหลักเกณฑ์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำอีไอเอให้ชัดเจน

13.2 จัดทำระบบที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการของโครงการตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ

13.3 ต้องมีระบบการรับเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และเร่งดำเนินการตรวจสอบ-แก้ไขปัญหาให้รวดเร็วและเท่าทันต่อสถานการณ์

13.4 แก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในระบบการจัดจ้างทำอีไอเอ โดยยกเลิกระบบที่ให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโดยตรง และสร้างระบบที่มีองค์กรกลางเข้ามาจัดการแทน
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ (ที่ 2 จากขวา) ร่วมกับผู้แทนชุมชนร่วมกันแถลงข่าวข้อเสนอเชิงนโยบายและการจัดการแก้ไขปัญหาความขัอแย้งจากการขยายอุตสาหกรรมและข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ
ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว

14. รัฐต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม ก่อนที่จะอนุญาตให้มีอุตสาหกรรมเพิ่มเติม

15. การขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมแล้ว ต้องมีการศึกษาศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ในภาพรวม และเปิดเผยข้อมูลการศึกษาต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาอนุมัติ-อนุญาตอุตสาหกรรมเพิ่มเติม

16. ต้องมีการกำหนดพื้นที่กันชนระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชนที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย

17. รัฐต้องจัดทำระบบและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตรายให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย

18. รัฐต้องจัดให้มีระบบการจัดการขยะอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงป้องกันและลดปัญหาขยะอุตสาหกรรม และการจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ต้องเป็นระบบที่เข้าถึงและตรวจสอบได้โดยสาธารณะ

19. หน่วยงานอนุมัติ-อนุญาต ต้องมีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษ และฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจดังกล่าว

20. หน่วยงานที่อนุมัติ-อนุญาต ต้องใช้อำนาจในการกำกับดูแลโครงการ และต้องรับผิดชอบหากโครงการก่อให้เกิดผลกระทบ หากละเลยหรือเพิกเฉยต้องรับโทษทางวินัย หรือโทษอื่นใดตามกฎหมาย

21. การจัดสรรทรัพยากรน้ำ ต้องให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ของชุมชนก่อนภาคอุตสาหกรรม

22. ต้องมีองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

23. ต้องมีระบบการแก้ไขเยียวยาปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

24. ให้มีกองทุนในการเยียวยาความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในการบริหารจัดการกองทุนต่อสาธารณะ

“ในการรวมตัวกันครั้งนี้ พวกเราเห็นร่วมกันว่าการพัฒนาทางด้านวัตถุอย่างเดียวอย่างไม่สมดุลเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสังคม จึงต้องมีการพัฒนาทางด้านจิตใจและความคิดของคนในสังคมควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอข้างต้นให้บรรลุผลได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมืองให้มีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมพร้อมกันไปด้วย”องค์กรและชุมชนที่ร่วมลงชื่อทั้งหมด 30 เครือข่าย ประกอบด้วย

1. มูลนิธิบูรณะนิเวศ  2. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม  3. เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมหนองแซง-ภาชี จ.สระบุรี 4. ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย จ.สระบุรี 5. เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา 6. เครือข่ายคุ้มครองบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 7. เครือข่ายประชาชนคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังขั้นที่ 3 จ.ชลบุรี 8. เครือข่ายคนบ้านค่ายรักบ้านเกิด จ.ระยอง 9. สภาองค์กรชุมชนตำบลป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง 10. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก, มาบตาพุด จ.ระยอง 11. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี

12. สมัชชาประชาชนรักษ์โลกร้อน  13. กลุ่มคนรักษ์บ่อวิน จ.ชลบุรี 14. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี 15. กลุ่มรักแม่พระธรณี จ.ชลบุรี 16. เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดตราด 17. เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี 18. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคท่าจะนะ จ.สุราษฎร์ธานี 19.เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์  20. คณะทำงานพลังงานยั่งยืน จังหวัดสุรินทร์ 21. ศูนย์ประสานงานประชาสังคม จ.เลย  22.กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง จ.เลย 23. กลุ่มรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดตรัง

24. เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง 25. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 26.เครือข่ายเกษตรทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา 27. กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา 28. ชมรมอาสาสมัครรักษาสิ่งแวดล้อมคลองบางแก้วและเจดีย์บูชา จ.นครปฐม 29. กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมียมตำบลพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก 30. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
กำลังโหลดความคิดเห็น