กรีนพีซ ชูแนวคิด เศรษฐกิจสีเขียวที่เท่าเทียมและเป็นธรรม เข้าประชุม ริโอ พลัส 20 หรือการประชุมสุดยอดโลก เอิร์ธซัมมิต เสนอ 6 ข้อ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ทำได้แน่แค่ลงมือทำ ยก “เยอรมนีโมเดล” ต้นแบบการใช้พลังงานหมุนเวียน
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการรณรงค์กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ความคาดหวังของกรีนพีซต่อการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กรุง ริโอ เดอ จา เนโร ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 20-22 มิ.ย.2555 คือ เรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียวที่เท่าเทียมและเป็นธรรม” ต้องทำให้ผู้คนพ้นจากความยากจน เคารพข้อจำกัดของธรรมชาติ และมุ่งเน้นให้เกิดการจ้างงานที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยระบบเศรษฐกิจสีเขียวเป็นระบบที่มีกระบวนการเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจ
กรีนพีซมีความคาดหวังว่า รัฐบาลควรให้คำมั่นต่อลำดับขั้นตอนที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เท่าเทียมและเป็นธรรมดังนี้ 1.การปรับปรุงกลไกธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และภาระรับผิดในขั้นพื้นฐาน ด้วยการให้ความเห็นชอบในการสร้างกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและภาระรับผิดของบรรษัทที่ตักตวงผลประโยชน์ให้กับธุรกิจตนเองโดยไม่สนใจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นบรรษัทต่างๆต้องมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อห่วงโซ่อุปทานในกิจกรรมทางธุรกิจของตน
2.เรื่องการสร้างพลังงานสมัยใหม่ที่สะอาดและปลอดภัยแก่ทุกคน ภายในปี 2565 โดยรัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจนครอบคลุมสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ โดยระบบพลังงานหมุมเวียนแบบกระจายศูนย์เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการทำให้คนยากจนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต รวมถึงต้องมีการรับประกันว่าจะมีการไหลเวียนเงินทุนที่เกี่ยวกับการกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศมากกว่าแสนล้านสหรัฐฯต่อปีภายในปี 2563 3.การปกป้องไม้ที่เหลืออยู่ในโลก โดยเน้นไปที่ต้นตอที่แท้จริงของการทำลายป่า ด้วยการให้คำมั่นว่าการทำลายป่าไม้จะลดลงเหลือศูนย์ภายในปี 2563 โดยทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจทั่วโลกต้องเลิกเลิกนโยบายการอุดหนุนและการคอรัปชั่นที่นำไปสู่การทำลายป่าไม้ เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้กับป่า
นายธารา กล่าวต่อว่า 4.การดูแลแม่พระธรณีเพื่อเลี้ยงดูโลก ด้วยการให้คำมั่นที่จะสนับสนุนต่อผู้ผลิตอาหารและชุมชนเกษตรกรรมรายย่อยซึ่งมีความสำคัญในการเลี้ยงดูโลก โดยสร้างกลไกทางนโยบายและการตลาดที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาระบบเกษตรกรรมเชิงนิเวศ และต้องลดทอนอำนาจทางการตลาดของอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ด้วย 5.การอุดช่องว่างของระบบธรรมาภิบาลด้านมหาสมุทรและยุติการทำประมงเกินขนาด ด้วยการส่งเสริมและลงทุนในกิจการประมงที่มีความยั่งยืนและความเหมาะสมทางเศรษฐกิจซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น 6.การกำจัดสารพิษ ด้วยการทำให้เป้าหมายของการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในหนึ่งรุ่นคน บนพื้นฐานของหลักการป้องกันไว้ก่อนและการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตเพื่อนำไปสู่นวัตกรรมในด้านเคมีสีเขียว และการกำจัดการใช้สารพิษเพื่อกอบกู้และเยียวยาแม่น้ำลำธาร และแหล่งน้ำสะอาดของเราทุกคน
“เราสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่เท่าเทียมและเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ แต่เราต้องลงมือทำ การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของพลังงานนิวเคลียร์ น้ำมันและถ่านหิน วิศวะพันธุกรรม สารเคมีเป็นพิษหรือการขูดรีดทรัพยากรป่าไม้ ท้องทะเลมหาสมุทรเกินขีดจำกัดนั้นไม่อาจเรียก“การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืได้เลย” นายธารา กล่าว
นายธารา กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วในภาคพลังงาน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจสีเขียว ตัวอย่างเช่น ที่ประเทศเยอรมนี กำลังผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งทั้งหมดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 81% มาจากพลังงานหมุนเวียน แผนการปฏิวัติพลังงานของกรีนพีซแสดงให้เห็นว่า เราสามารถส่งจ่ายไฟฟ้าให้ผู้คนได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนา และยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 80% ภายในปี 2593 อีกทั้งยังเกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนด้านประสิทธิภาพและพลังงานหมุนเวียน แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือนิวเคลียร์ โดยการดำเนินการปฏิวัติพลังงาน รัฐบาลจะทำให้เกิดการจ้างงานในภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาพลังงานมากกว่า 3.2 ล้านตำแหน่ง ในปี 2573 นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างเช่น ประเทศบราซิล ที่ได้ลดอัตราการทำลายป่าไม้ด้วยกลไกธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพและการดำเนินธุรกิจที่ดี ทำให้การทำลายป่าในพื้นที่อะเมซอนของบราซิลมีอัตราลดลงทุกปีและในปี 2554 เป็นปีที่อัตราการทำลายป่าต่ำที่สุด
ผู้อำนวยการรณรงค์ กรีนพีซ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศต่างๆ พร่ำพูดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยื่นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่กลับส่งเสริมให้เกิดการทำลายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการทำการอุดหนุนงบประมาณให้โครงการพัฒนาที่ทำลายล้าง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล จนไปถึงปุ๋ยเคมีและอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่เป็นมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท)
“รัฐบาลยอมให้บรรษัทผู้ก่อมลพิษและอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบร้ายแรงเข้าแสวงหากำไรจากการขูดรีดทรัพยากร และผลักภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน รัฐบาลเข้ากอบกู้สถาบันทางการเงินที่ละโมบ ซึ่งกำลังล้มละลาย แต่ล้มเหลวที่จะพลิกฟื้นโลกและดูแลคนยากจน เราจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เกิดขึ้นอีกดังนั้นต้องผลักดันเศรษฐกิจสีเขียวที่เท่าเทียมและเป็นธรรมมากให้เป็นจริงให้เร็วที่สุด” นายธารา กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสุดยอดเพื่อสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติครั้งนี้ จัดขึ้นที่ นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ภายใต้ชื่อ ริโอ พลัส 20 โดยเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี ของการจัดการประชุมสุดยอดโลก หรือ เอิร์ธซัมมิต โดย นายคูมิ ไนดู ผู้อำนวยการกรีนพีซสากลและนักกิจกรรมกรีนพีซ จะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย โดยการประชุมดังกล่าวจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 25,000 คน