ภาคประชาชนผนึกกำลังไม่เอาแผนพีดีพี 2010 กรีนพีซ แนะ “ปูนิ่ม” นำแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี มาใช้ ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม แถมทำให้คนไทยใช้ไฟถูกลง ชี้ แผนพีดีพีฉบับ กฟผ.เหมือนบ่วงพลังงานรัดคอคนไทย เหตุเร่งรัดขาดการมีส่วนร่วมจากสาธารณะ ผงะ! รับฟังความเห็นในกรุงเทพฯแค่ 2 ชั่วโมง แต่อ้างที่เหลืออีก 76 จังหวัด ให้ถือว่าประชาชนเห็นด้วยแล้ว ด้าน เครือข่ายประชาชนชาวกันตัง ออกแถลงการณ์ ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ย้ำ รัฐต้องนำแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีมาใช้ เหตุช่วยลดต้นทุนค่าไฟได้ 4 แสนล้าน
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการรณรงค์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรณีที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan/PDP 2010 : พีดีพี 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3) ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติพรุ่งนี้ (8 มิ.ย.) นั้น ในฐานะที่กรีนพีซได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งหนังสือถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีการนำแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ตามมติ ครม.วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2554 มาใช้ในการจัดทำแผนพีดีพีครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูก และลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นลง เพราะแผนพีดีพีฉบับนี้ที่กฟผ.เสนอให้นายกฯ อนุมัตินั้น จะทำให้ราคาไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 4.56 บาทต่อหน่วยในปี 2573 แต่หากมีดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และมติ ครม.ทั้งหมด ค่าไฟฟ้าจะลดลงเป็น 3.56 บาทต่อหน่วย ในปี 2573 หรือลดลงหน่วยละ 1 บาท ดังนั้น กรีนพีซ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การตัดสินใจอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลชุดนี้ จะอยู่บนหลักของธรรมาภิบาลและความโปร่งใสมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณชน และการจัดการพลังงานที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง
ชี้เหมือนรัฐรวบรัด สร้างบ่วงพลังงานรัดคอประชาชน
นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กระบวนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนการจัดทำแผนพีดีพีฉบับที่ 3 เป็นไปด้วยความรวบรัด เพราะมีการใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น คือ ในวันอังคารที่ 5 มิ.ย.เวลา 10.00-12.00 น.ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ที่ผ่านมา และเร่งรัดให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติภายในวันศุกร์ที่ 8 มิ.ย.นี้ เพื่อให้แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าของประเทศ มีผลบังคับใช้ให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนได้ถูกจัดขึ้นเฉพาะกรุงเทพฯเท่านั้น ส่วนคนไทยอีก 76 จังหวัดที่เหลือ หน่วยงานภาครัฐ อ้างว่า จะแจ้งให้ประชาชนทราบเมื่อจังหวัดเหล่านั้นเป็นพื้นที่ศึกษาและเป็นเป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม แต่ในเบื้องต้นให้ถือว่าประชาชนทั้งประเทศเห็นด้วยกับแผนพลังงานฉบับนี้แล้ว
“ข้ออ้างดังกล่าวที่หน่วยงานในกระทรวงพลังงานใช้ จึงกำลังรัดคอคนไทยทุกคนด้วยโซ่ที่เรียกว่า “ประชาชนยอมรับโดยปริยาย” ดังนั้น หากแผนพีดีพีฉบับนี้ได้รับการอนุมัติก็จะเป็นบ่วงพลังงานที่ผูกมัดคนไทยทันที ให้แบกรับภาระต้นทุนทางพลังงานที่จะสูงขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากความพิกลพิการของกระบวนการจัดทำแผนพลังงานที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนเหมือนทุกฉบับที่ผ่านมา จึงไม่แปลกที่ผลประโยชน์มักจะตกเป็นของกลุ่มทุนธุรกิจที่ผูกขาดด้านพลังงานเท่านั้น” นางสาวจริยา กล่าว
ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ กล่าวต่อว่า การจัดทำแผนพลังงานของประเทศครั้งนี้เป็นการไม่เคารพสิทธิในข้อมูลข่าวสารตามความในมาตรา 56-57 และแนวนโยบายด้านการมีความมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรา 87 รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ที่มากไปกว่านั้น แผนพีดีพีฉบับนี้ยังขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลเองที่ได้เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2554 ซึ่งแผนฉบับนี้ระบุถึงศักยภาพในการประหยัดพลังงานของประเทศได้ถึง 17,470 เมกะวัตต์ แต่กลับนำมาใช้ในแผนพีดีพีฉบับนี้เพียงแค่ร้อยละ 20 หรือเพียงแค่ 3,494 เมกะวัตต์เท่านั้น ทั้งๆ ที่หากนำส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 80 มาใช้ในแผนพีดีพีฉบับนี้ จะทำให้เราลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ถึง 14 โรง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอีก 8 โรง จากทั้งหมด 55 โรง
“แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ก็เป็นที่ยอมรับกันทุกภาคส่วน แม้แต่รัฐบาลเองก็เป็นผู้เห็นชอบมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุดและไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน แต่หากในวันศุกร์นี้ นายกฯยิ่งลักษณ์ เห็นชอบกับกระบวนการจัดทำแผนพลังงานฉบับพิการดังกล่าว บ่วงพลังงานที่รอรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์มาแก้ปัญหาก็ยากที่จะปลด เพราะการพิจารณาอนุมัติแผนพีดีพีทุกครั้ง ถูกเร่งรัดพิจารณาในช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนกัน เพียงแต่แค่เปลี่ยนผู้เล่นเท่านั้น ประชาชนก็คงจะต้องแบกรับกรรมภาระจ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นจากการพึ่งพาเชื้อเพลิง ฟอสซิล และก๊าซที่เป็นธุรกิจผูกขาด รวมถึงต้องรับผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะตามมาจากโครงการโรงไฟฟ้าสกปรกที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่สีเขียว หรือแหล่งอาหารของคนไทยต่อไป” นางสาวจริยา กล่าว
ชาวกันตังประกาศไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ขณะเดียวกัน เครือข่ายประชาชนอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า โดยแถลงการณ์ ระบุว่า เนื่องด้วยขณะนี้ พื้นที่ของ อ.กันตัง จ.ตรัง กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ โดยจะนำเข้าถ่านหินซับบิทูบินัส จากอินโดนีเซีย ซึ่งมาจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าพีดีพี 2010 เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักตามแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ กฟผ.ไม่มีแผนที่จะสร้างในจังหวัดตรัง แต่เนื่องจากชาวบ้านจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ ไม่ยินยอมให้สร้าง เนื่องจากห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลก และและใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างมหาศาล เช่น ท่าเรือขนส่งถ่านหิน กองถ่านหิน กองขี้เถ้า น้ำในระบบหล่อเย็น นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ในทะเล ในอากาศ ความเจ็บไข้ได้ป่วยของพี่น้องประชาชน และอาจถึงแก่ชีวิตในระยะยาว
จี้นำแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี มาใช้
ดังนั้น ทางเครือข่ายประชาชน อ.กันตัง เห็นว่า 1.การรับฟังความคิดเห็นแบบกระชั้นชิด ครึ่งวัน และครั้งเดียวในกรุงเทพฯ โดยกระทรวงพลังงาน จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับบปรับปรุง ครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 มิถุนายน 2555 โดยส่งหนังสือเชิญในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 และเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าน้อยมาก ในการพิจารณาเอกสารร่าง ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคมากขึ้น เพราะแผนนี้อาจจะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้นทุนการผลิตจะกลายมาเป็นภาระแก่ภาคประชาชน
2.รัฐบาลปัจจุบันมีมติ ครม.วันที่ 27 ธันวาคม 2554 เห็นชอบเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน 17,470 MW ภายใน 20 ปี หากเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานตามที่ ครม.เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน ก็สามารถตัดนิวเคลียร์ (2,000 เมกะวัตต์) และ ถ่านหิน (4,400 เมกะวัตต์)
ออกได้ รวมทั้งลดโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และการนำเข้าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนได้อีก 16 โรง (9,500 เมกะวัตต์) ซึ่งจะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 400,000 ล้านบาท และสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับระบบพลังงานของประเทศ
3.หากคิดกำลังผลิตไฟฟ้าที่ได้จากแผนอนุรักษ์พลังงาน อีกร้อยละ 80 ที่ถูกตัดออก จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิดจังหวัดตรัง ภาคใต้ และภาคอื่น อีกทั้งยังสามารถลดความขัดแย้งในพื้นที่ได้