xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กับนโยบายพลังงาน/ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

ผมได้รับเชิญจาก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ให้ร่วมเสวนาในหัวข้อเดียวกับชื่อบทความนี้ แต่เนื่องจากหัวข้อนี้มันเป็นการเชื่อม 2 หัวข้อใหญ่ ผมจึงขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านเป็นขั้นตอน ดังต่อไปนี้ครับ

หนึ่ง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คืออะไร? จากมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้กำหนดไว้ว่า ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตรา และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบ และรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

รัฐธรรมนูญ (ที่กำลังถูกแก้ไขใหม่ทั้งฉบับ) กำหนดไว้ว่า ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปีหลังจากรัฐบาลชุดแรกแถลงนโยบายแล้ว ให้จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ แต่ความจริงปรากฏว่า ขณะนี้เวลาได้ล่วงเลยมาถึง 5 ปีแล้ว มีรัฐบาลมาแล้ว 4 ชุด กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ออกมา แต่อยู่ในกระบวนการของรัฐสภา

นี่เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของผู้บริโภคซึ่งก็คือประชาชนนั้น นักการเมืองไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่กลับเสนอร่างกฎหมายปรองดองที่สร้างปัญหาใหม่อยู่ในขณะนี้

สอง คณะกรรมการองค์การอิสระฯ นี้มี 15 คน ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรก 7 คน ให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกจากผู้แทนขององค์กรผู้บริโภค 7 ด้านๆ ละหนึ่งคน คือ (1) ด้านการเงินและธนาคาร (2) ด้านบริการสาธารณะ (3) ด้านที่อยู่อาศัย (4) ด้านบริการสุขภาพ (5) ด้านสินค้าและบริการทั่วไป (6) ด้านสื่อสารและคมนาคม และ (7) ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำหรับส่วนที่สองจำนวน 8 คน ให้คัดเลือกกันเองจากผู้แทนขององค์กรผู้บริโภคที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 3 ปี

สาม จากการติดตามประเด็นพลังงาน ผมพบว่าในปี 2554 คนไทยบริโภคพลังงานขั้นสุดท้ายซึ่งได้แก่ น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ ไม้ฟืน และถ่านคิดเป็นเงินสูงถึง 18-19% ของรายได้ประชาชาติ นั่นหมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยใช้จ่ายค่าพลังงานสูงถึงเกือบ 1 ใน 5 ของรายได้ ผมไม่ทราบว่าค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ มีขนาดมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าด้านพลังงานถ้าจะเป็นรองก็ไม่น่าจะต่ำกว่าที่สาม

แต่จากการจำแนกผู้แทนออกเป็น 7 ด้าน พบว่า ไม่มีด้านพลังงานอยู่ในรายการดังกล่าว จริงครับ ด้านพลังงานสามารถจัดให้อยู่ในด้านสินค้าและบริการทั่วไป แต่เนื่องจากด้านพลังงานมีขนาดใหญ่โตมาก และมีความจำเป็นต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิคค่อนข้างมาก ดังนั้น น่าจะต้องมีตัวแทนที่มีประสบการณ์เฉพาะจึงจะสามารถรู้เท่าทันพ่อค้าพลังงานได้ การที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพียงบริษัทเดียวมีกำไรถึงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ก็เป็นสิ่งยืนยันถึงขนาดของกิจการพลังงานได้ดี

สี่ มาถึงเรื่องบทบาทขององค์การอิสระฯ ต่อนโยบายพลังงาน เรื่องนี้ค่อนข้างจะซับซ้อนครับ ในที่นี้ผมขอกล่าวถึงเฉพาะภาคกิจการไฟฟ้าซึ่งแต่ละปีคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณ 5 แสนล้านบาท (ประมาณ 5% ของจีดีพี) และจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท ผมขอนำเสนอผ่านการ์ตูนของสมาคมพลังงานลมแห่งยุโรป 2 รูปครับ

สิ่งสำคัญที่องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต้องเข้าใจเสียก่อนก็คือ นโยบายพลังงานจะต้องมี “ความเป็นอิสระด้านพลังงาน (Energy Independence)” นั่นคือ การตัดโซ่ตรวนที่ผูกติดอยู่กับพลังงานฟอสซิลที่พ่อค้าสามารถผูกขาด และปั่นราคาได้ตามใจชอบ แล้วหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งในที่นี้คือ พลังงานลม (แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายอย่าง เช่น แสงอาทิตย์ ชีวมวล ไบโอก๊าซ เป็นต้น)

สิ่งที่เป็นอุปสรรคของการใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าอยู่ในการ์ตูนรูปขวามือครับ คือการกีดกันไม่ยอมให้มีการส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งรวมได้ เรื่องนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกำลังโดนกระทำโดยตรงจาการไฟฟ้านครหลวง

จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่มูลนิธิพบว่า ทางมูลนิธิฯ ได้ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ไปประมาณ 1.5 ล้านบาท ผลประโยชน์ที่มูลนิธิฯ ได้รับคือ ได้ประหยัดค่าไฟฟ้าเดือนละประมาณ 8 พันบาท (คิดเป็นอัตราดอกเบี้ย 6.4% ต่อปี) แต่การไฟฟ้านครหลวงไม่ยอมจ่ายค่าไฟฟ้าที่ได้ในวันหยุดทำการของสำนักงาน ทั้งๆ ที่พลังงานไฟฟ้าเดินเข้าสู่ระบบสายส่ง เหตุผลของการไฟฟ้านครหลวงก็คือ ไม่มีโควตาสำหรับกิจการขนาดเล็ก นอกจากนี้ ตามระเบียบแล้ว พลังงานไฟฟ้าที่ขายได้ ทางการไฟฟ้าจะต้องจ่ายเพิ่มเติม (adder) อีกหน่วยละ 8 บาท นอกเหนือจากค่าไฟฟ้าปกติ

ประเทศในทวีปยุโรปได้ประสบผลสำเร็จในการใช้พลังงานหมุนเวียนมาแล้ว เขาตราเป็นกฎหมาย หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มีเพียง 3 ข้อเท่านั้นครับ คือ (1) ผู้ที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้ก่อนโรงไฟฟ้าชนิดอื่น (2) ไม่จำกัดจำนวน และ (3) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้เป็นภาระของผู้บริโภคไฟฟ้าทั้งประเทศ ถ้าสามารถทำได้อย่างนี้ โรงไฟฟ้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และอยู่ในมือของพ่อค้าผูกขาดจะค่อยๆ หายไป ชาวแม่เมาะก็จะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ สังคมอย่างนี้อยากได้ไหมครับ

อ้อ! ลองย้อนไปดูการ์ตูนอีกครั้ง คนที่ทำดีมีเทวดาคุ้มครองครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น