xs
xsm
sm
md
lg

ชาวคลิตี้ประกาศปฏิญญา 14 ข้อ จี้รัฐออกกฎเข้ม ป้องกันตายผ่อนส่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครบรอบ 14 ปี ชาวคลิตี้ประกาศปฏิญญา 14 ข้อ ระบุ ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลการทำเหมือง หากมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมหน่วยงานรัฐ-ผู้ประกอบการต้องได้รับโทษอาญา จี้ฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนทันที พร้อมกำหนดค่ามาตรฐานตะกอนดินเอาผิดผู้ปล่อยมลพิษ ชี้ ค่าฟื้นฟูแค่ 40 ล้านบาทเท่านั้น ด้านชาวบ้านวอนกรมควบคุมมลพิษช่วยฟื้นฟู เหตุไม่อยากอยู่แบบตายผ่อนส่งอีกต่อไปแล้ว

เครือข่ายนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) ศูนย์กระเหรี่ยงศึกษาและการพัฒนา กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ เครือข่ายร่วมพัฒนาสร้างผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) ได้ลงพื้นที่พและร่วมกันจัดงาน “เวทีสาธารณะ ปฏิญญาคลิตี้” เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปี การต่อสู้ของประชาชนชาวคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อศึกษากรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ นำมาสู่การสรุปบทเรียนปัญหาการดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการประกอบกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทย โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กรณีปัญหาในพื้นที่ต่างๆ เช่น การปนเปื้อนแร่ของสารแคดเมียม จากโรงแร่สังกะสี ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก การปนเปื้อนสารไซยาไนด์ ปรอท และ ตะกั่ว จากเหมืองแร่ทองคำ ใน จ.เลย จนนำมาสู่การกำหนดปฏิญญา “14 ปี 14 ข้อปฏิญญาคลิตี้”

ทั้งนี้ ประชาชนชาวคลิตี้ล่าง ที่ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนาน ได้ประกาศปฏิญญาหลักการสำคัญของปฏิญญาดังกล่าวระบุว่า “ในพื้นที่ศักยภาพแร่ ประชาชน ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการพิจารณาคุ้มครองเป็นอันดับแรกก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองแร่” ประกอบด้วย

1.ชุมชนต้องได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เกี่ยวกับกิจกรรมเหมืองแร่ ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ การสำรวจ การให้ประทานบัตร ระหว่างประกอบกิจการ และภายหลังการประกอบกิจการ อาทิ ขอบเขตพื้นที่ประทานบัตร ข้อมูลการใช้สารเคมีในการผลิตและมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการประกอบกิจการ การจัดการมลพิษต่างๆ และเอกสารอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ

2.ประชาชนและชุมชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการอนุรักษ์จัดการและการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ประกอบการพิจารณาและตรวจสอบการอนุญาต การดำเนินการและการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองแร่ของรัฐ

3.ประชาชนต้องสามารถตรวจสอบ และยกเลิกการประกาศแหล่งแร่ได้หากไม่เหมาะสม

4.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ เพื่อให้มีการตรวจสอบและคุ้มครองดูแลสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสุขภาพอนามัย

5.รัฐต้องดำเนินการแก้ไขและกำจัดมลพิษโดยทันทีเมื่อตรวจสอบพบการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน และหาผู้ก่อมลพิษเพื่อมามารับผิดชอบต่อไป

6.รัฐต้องกำหนดค่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อม เช่น ตะกอนดิน และสุขภาพอนามัย เช่น ปริมาณโลหะหนักในเลือด เพื่อเป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน

7.รัฐต้องจัดให้มีกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ

8.กำหนดให้มีการวางเงินประกันความเสี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อเกิดผลกระทบให้นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและเยียวยาสุขภาพโดยทันที

9.ต้องมีการตรวจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่และชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกอบการเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนมีการดำเนินการตามประทานบัตร และมีการตรวจทุกปีเพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และก่อนการต่ออายุ การขยายพื้นที่ ประทานบัตร ต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อน หากพบว่ามีผลกระทบต้องไม่อนุญาตจนกว่าจะแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นก่อน

10.รัฐต้องคำนวณต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงต่อสุขภาพของชุมชนในการตัดสินใจอนุมัติอนุญาตการประกอบกิจการเหมืองแร่

11.ควรกำหนดโทษอาญากับหน่วยงานรัฐและผู้ก่อมลพิษ ในกรณีมีการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการอนุมัติอนุญาตเหมืองแร่ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างร้ายแรง

12.ต้องเปิดให้มีสถาบันการแพทย์ด้านอาชีวอนามัย และสุขภาพ ให้เพียงพอต่อการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม

13.ลดอายุการให้ประทานบัตรจากเดิม 25 ปี เป็น 10 ปี

14.ให้กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างเร่งด่วน โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชนคลิตี้ล่าง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แหล่งน้ำ ตะกอนดินและห่วงโซ่อาหารปลอดจากการปนเปื้อนสารตะกั่ว และชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้ดังเดิม

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความและ ในฐานะประธานศูนย์กระเหรี่ยงศึกษาและการพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลตรงกันแล้วว่า มีมลพิษที่เป็นตะกอนตะกั่วอยู่ในลำห้วยคลิตี้จริง ดังนั้น ต้องเอามลพิษตรงนี้ออก ทั้งนี้ ไม่ควรมีการถามว่าจะเอาไปตะกอนไปทิ้งที่ไหน เพราะทางวิชาการทั่วโลกมีหลายวิธีที่สามารถกำจัดตะกอนตะกั่วแบบนี้อยู่แล้ว โดยการฟื้นฟูที่เกิดขึ้นผู้ก่อมลพิษต้องมาร่วมฟื้นฟูด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาะภาษีของประชาชน ทั้งนี้ รายงานของ ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นเรื่องที่ทำได้โดยใช้งบประมาณเพียง 40 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เป็นการซื้อชีวิตของคนคลิตี้เท่านั้น แต่เป็นการช่วยชีวิตประชาชนทั้งประเทศ เพราะลำห้วยคลิตี้เป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ดังนั้นการฟื้นฟูต้องเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

นางสุนีย์ ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า การแก้ปัญหาเหมืองแร่ต้องใช้คนเป็นตัวตั้งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการให้มีการดูดตะกอนตะกั่วออกจากลำห้วยคลิตี้ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ใช้เวลาแต่หากลงมือปฏิบัติจริง เชื่อว่า จะไม่นานเท่ากับ 14 ปีที่ชาวบ้านต้องเดือดร้อน กรมควบคุมมลพิษควรเลิกอ้างได้แล้วว่าไม่รู้ว่าจะเอาตะกอนไปทิ้งที่ไหน หรือกลัวว่า ตะกอนจะฟุ้งกระจาย เพราะเป็นข้ออ้างที่ซ้ำซาก เพราะทุกปัญหาล้วนมีทางออกทั้งสิ้น เพียงแต่ขอให้ลงมือทำตามข้อเสนอของชาวบ้านที่ขอให้ดูดตะกอนออก ส่วนตัวเชื่อว่า ชาวบ้านคลิตี้ยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นหากตะกอนจะมีการฟุ้งกระจายระหว่างการขุดลอก เพราะพวกเขาทนทุกข์ทรมานนานกว่าสิบปีแล้ว

นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการทำอุตสาหกรรมเหมืองล้วนส่งผลกระทบให้เกิดการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อม ในแหล่งน้ำดังเช่น กรณีห้วยคลิตี้ และการที่กรมควบคุมมลพิษได้สรุปเบื้องต้นว่าการฟื้นฟูการปนเปื้อนไม่สามารถทำได้นั้น ก็หมายความว่า แหล่งน้ำทุกที่ที่อยู่บริเวณการทำเหมืองหรือโรงงานแต่งแร่ย่อมมีเสี่ยงสูงที่จะเกิดการปนเปื้อนสารพิษ และก็จะไม่สามารถแก้ไขหรือฟื้นฟูให้กลับมาเป็นสภาพเดิมได้ ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุคือหนทางเดียวที่จะสามารถปกป้องแหล่งน้ำและรักษาทรัพยากรอันมีค่าของเราทุกคนได้ กรมควบคุมมลพิษจึงควรต้องมีจุดยืนที่จะปกป้องทรัพยาธรรมชาติโดยการคัดค้านไม่ให้มีการทำเหมืองแร่มากกว่าการที่จะยืนอยู่ข้างอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และคอยเป็นผู้รับผิดชอบในการฟื้นฟูมลพิษหรือเก็บกวาดให้กับผู้ก่อมลพิษหรือนายทุนที่คอยหากินกับการใช้ทรัพยากรของคนไทยทุกคน

นายสุรชัย ตรงงาม ประธานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ศาลอุทธรณ์ได้ระบุว่าแล้วว่าให้กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับสู่สภาพเดิม อยากทราบว่าปัญหาเกิดขึ้นมานานแล้วกรมควบคุมมลพิษมีแผนงานในการฟื้นฟูห้วยคลิตี้บ้างหรือไม่ ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่า การฟื้นฟูที่จะเกิดขึ้นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ตัวแทนชุนชนคลิตี้ล่าง กล่าวว่า ชาวบ้านพูดเรื่องนี้มานานกว่า 14 ปี แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งชาวบ้านรู้สึกท้อมากว่าจะต้องทนอยู่กับสารพิษแบบนี้ไปนานเท่าใด เหมือนกับชีวิตต้องตายผ่อนส่ง โดยในกว่าสิบปีที่ผ่านมามีชาวบ้านที่เสียชีวิตเพราะมีสารตะกั่วในเลือดสูงกว่า 20 คน ทางกระทรวงสาธารณสุขสั่งให้งดใช้น้ำและกินปลาในลำห้วยชั่วคราว แต่ผ่านมาแล้ว 14 ปี ปัญหาก็ไม่ดีขึ้นและแย่ลงกว่าเดิม และชาวบ้านยังต้องใช้น้ำในลำห้วยอยู่ดี เพราะพวกเรายากจนอยู่ในป่าไม่มีทางเลือก นอกจากต้องจับปลาในลำห้วยกิน อีกทั้งน้ำประปาก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น ถึงนาทีอยากจะขอให้ลำห้วยคลิตี้กลับมาเป็นเหมือนเดิมเท่านั้น เพราะไม่อยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานต้องประสบชะตากรรมเดียวกันอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น