รักษาการโฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ สับต่อใบอนุญาตโรงงานก๊าซคลอรีนรั่วจนเกิดเหตุซ้ำได้ยังไง สั่ง ก.อุตฯ หามาตรการออกยุทธศาสตร์สร้างมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมตั้งศูนย์เชื่อมโยงชุมชน โยนแรงงานดูมาตรการป้องกันกรณีกระเช้าติดสติกเกอร์หล่นตึกใบหยก
วันนี้ (8 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ โดยเฉพาะเกี่ยวกับกรณีเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงงานของบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด และเหตุการณ์ก๊าซคลอลีนรั่วไหลจากโรงงาน บริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองในช่วงบ่ายของเมื่อวานที่ผ่านมา ( 5 พ.ค. 55) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีการเกิดเหตุดังกล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งในการดูแลพื้นที่ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่อุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม ได้มีการสอบทานแผนป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด โดยเฉพาะความเสี่ยงในเรื่องของสารพิษ สารไวไฟ และสารเคมี ที่จะต้องให้มีการสอบทานกระบวนการซ่อมบำรุงของโรงงานอุตสาหกรรม และให้มีการตรวจคุณภาพการดำเนินงานอย่างเข้มข้น พร้อมให้มีการดำเนินการสอบทานแผนป้องกันความเสี่ยงทุกไตรมาส รวมถึงเวลาที่จะเสนอขอต่อใบอนุญาตโรงงาน โดยในเรื่องของแผนป้องกันความเสี่ยงนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการและเน้นย้ำอีกว่าจะต้องมีการนำส่งและสอบทานแผนป้องกันความเสี่ยงด้วยว่า แผนดังกล่าวสามารถปฏิบัติได้จริง
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ยังให้มีการสอบทานโรงงานที่มีข้อบกพร่องและเกิดเหตุซ้ำซาก โดยให้ทบทวนมาตรการในการต่อใบอนุญาตใหม่ ให้เข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดี่ยวกัน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และจัดให้มีระบบแจ้งข้อมูลระหว่างนิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ไปยังชุมชน ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวนายกรัฐมนตรีขอให้มีการบูรณาการศูนย์ข้อมูล โดยให้มีการประมวลข้อมูลข่าวสารให้สามารถนำไปใช้สั่งการได้โดยมีผู้รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ให้ชื้แจงภาคประชาชนรับทราบข้อมูลทันทีในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น และจะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้เริ่มจากระดับพื้นที่ที่เกิดเหตุ และให้เชื่อมโยงข้อมูลไปยังระดับจังหวัด รวมถึงให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากศูนย์ EMC สแควร์ ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดูแลข้อมูลของการนิคมอุตสาหกรรมฯ มายังศูนย์ข้อมูลของสำนักนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้กระทรวงอุตสาหกรรม เน้นย้ำ ตรวจสอบ ฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินและแผนป้องกันภัยชุมชน โดยให้ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และภาคประชาชน โดยให้มีการบูรณาการแผนและเชื่อมโยงกับแผนป้องกันภัยในระดับจังหวัด
ทางด้าน นายอนุสรณ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แจงว่าขณะนี้ ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มีการเตรียมเงินโดยเป็นการจ่ายทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน และพร้อมที่จะจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว เพียงแต่รอหลักฐานจากญาติผู้เสียชีวิตเท่านั้น โดยได้แบ่งการจ่ายเงิน ดังนี้ 1) ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีจำนวน 104 ราย เป็นเงิน 4,500,000 บาท 2) ค่าทำศพ จำนวน 12 ราย รายละ 30,000 บาท รวมเป็นเงิน 360,000 บาท และ 3) ค่าทดแทนกรณีเสียชีวิต จำนวน 12 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 13,824,000 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 18,684,000 บาท
ขณะที่ นายชลิตรัตน์ฯ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปนเปื้อนสารพิษในพื้นที่มาบตาพุด และมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ว่า กรณีที่ได้เกิดเพลิงไหม้และการระเบิดขึ้นในบริเวณโรงงาน บริษัทบีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในหน่วยการผลิตที่มีการใช้สารโทลูอีน (toluene) ในการล้างถัง จนเกิดการระเบิดและเพลิงไหม้ขึ้น รวมถึงเกิดกรณีฉุกเฉินจากอุบัติเหตุการปิดวาล์วสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ (สารฟอกขาว) จากโรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานสถานการณ์ต่อ ครม. ว่า กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบสารโทลูอีน ในพื้นที่ (6พ.ค.55) พบการปนเปื้อนสารโทลูอีน 5 ส่วนในล้านส่วน (part per million, ppm) ในบริเวณด้านหน้ารั้วโรงงานบริษัทบีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด ซึ่งระดับที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ต้อมีปริมาณมากกว่า 50 ส่วนในล้านส่วน และตรวจสอบอีกครั้งในเวลาต่อมาก็ไม่พบสารปนเปื้อนของสารโทลูอีน แต่ประการใด
รวมทั้งกรมควบคุมมลพิษได้มีการดำเนินการตรวจสอบก๊าซคลอรีนจากการรั่วไหลของสารโซเดียมไฮโปรคลอไรด์จากโรงงานอดิตยาฯ ผลการตรวจสอบไม่พบการปนเปื้อนของก๊าซคลอรีนในทุกพื้นที่ อีกทั้งได้ตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายตามค่ามาตรฐาน 9 ชนิด และค่าเฝ้าระวัง 19 ชนิด อย่างต่อเนื่อง โดยพบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายบางชนิดมีค่าสูงในช่วงเย็นถึงกลางคืน เฉพาะที่สถานีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาบตาพุด ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี และผู้แทนส่วนราชการ เพื่อควบคุมและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 8 -14 พฤษภาคม 2555 ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าไม่มีสารตกค้างใด ๆ