xs
xsm
sm
md
lg

แนะภาครัฐควรปฏิรูป ระบบจัดการด้าน สวล. และความปลอดภัยในมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย
ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการแนะภาครัฐควรปฏิรูป ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นจากประชาชน หลังจากเกิดอุบัติภัยจากการระเบิด และการปล่อยมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง เช่น นิคมตะวันเหมราช นิคมผาแดง และนิคมเอเชีย นิคมอาร์ไอแอล เป็นต้น ล้วนเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานประเภทปิโตรเคมี เคมี ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีชุมชนมากกว่า 33 แห่งล้อมรอบ ซึ่งในพื้นที่นี้ได้ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 ครอบคลุมพื้นที่เขตปกครองจังหวัดระยองได้แก่ ตำบลมาบตาพุด ห้วยโป่ง เนินพระ ทับมา อำเภอเมืองจังหวัดระยอง ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางและพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต

มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลด และขจัดมลพิษของจังหวัดระยองปี 2553-2556 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 8 กรกฎาคม 2553 7 แผนงาน 71 โครงการ ในวงงบประมาณ 2,182.22 ล้านบาท หนึ่งในแผนนั้นคือ แผนงานรองรับเหตุฉุกเฉิน และเตือนภัยสารพิษ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ยังอนุมัติแผนงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดเพิ่มเติมอีก 15 โครงการวงเงิน 255.72565 ล้านบาท

ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐทุ่มงบประมาณลงไปที่มาบตาพุดอย่างมหาศาลในการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ในชั่วเวลาข้ามคืน เหตุการณ์ระเบิดของโรงงานกรุงเทพซินธิติกส์ มีคนเจ็บ และตายเป็นจำนวนมาก และกรณีก๊าซรั่วจากโรงงานอาทิตยาเบอร์รา เคมีคอล มีคนสูดดมก๊าซพิษและเข้าโรงพยาบาลมากว่า 40 คน ทำให้ความเชื่อมั่นจากประชาชนที่อาศัยโดยรอบหมดไปทันที ตั้งแต่นี้ต่อไป ประชาชนคงขาดความไว้วางใจในหน่วยงานที่รับผิดชอบ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และใกล้เคียงคงต้องถูกตรวจสอบจากภาคประชาชนอีกมาก มีคำถามที่ตามมาว่างบประมาณมหาศาลที่ทุ่มลงไปได้ผลมากน้อยแค่ไหน ถึงมือประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแค่ไหน

รวมทั้งให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมรับทราบข้อมูล ร่วมคิด ร่วมทำและร่วมรับผิดชอบมากน้อยอย่างไร หรือเป็นเพียงแค่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องขอตั้งงบประมาณเพื่อจัดทำโครงการวิจัย หรือจัดซื้อเครื่องมือต่างๆ โดยอ้างเขตควบคุมมลพิษเท่านั้นที่ผ่านการลงมือปฏิบัติยังไม่ค่อยเกิดมีเพียงแผนในกระดาษเป็นส่วนใหญ่ และโดยข้อเท็จจริงหน่วยราชการไม่มีทางทราบเกี่ยวกับเรื่องระบบความปลอดภัยของโรงงานประเภทปิโตรเคมีทั้งหมด เนื่องจากมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก ถึงแม้โครงการเหล่านี้จะผ่านการพิจารณารายงานอีไอเอ หรืออีเอชไอเอ แล้วก็ตาม เนื่องจากรายงานดังกล่าวเป็นเพียงรายงานการคาดการณ์เท่านั้น การปฏิบัติจริงหรือไม่อยู่ที่ตัวโรงงานเองมากกว่า ดังนั้น ต้องเข้มข้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

นายสนธิ คชวัฒน์ ในฐานะนักวิชาการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ภาครัฐควรปฏิรูประบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในพื้นที่มาบตาพุดเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นจากประชาชนดังนี้

1.ทุกโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดจะต้องแสดง อธิบาย และให้ข้อมูลแผนความปลอดภัย ระบบเตือนภัย ระบบฉุกเฉิน ข้อมูล และระบบการติดตามตรวจสอบไอระเหยสารอินทรีย์ ทั้งในโรงงาน และชุมชนโดยรอบ รวมทั้งขั้นตอนการการปฎิบัติงานที่ลงรายละเอียดทั้งในช่วงการ Start Up Shutdown และการปฏิบัติงานตามปรกติต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชนกลุ่มเสี่ยง

รวมทั้งกำหนดให้มีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะเป็นประจำทุกเดือน ในส่วนของโรงงานต้องมี Internal Auditor ทำการตรวจสอบการทำงานของโรงงานเองเป็นประจำ และมีการลงโทษพนักงานที่ไม่ปฎิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด นอกจากนี้ ระบบเตือนภัยที่อาจก่อให้เกิดไฟไหม้ ระบิด สารเคมีรั่วที่ติดตั้งในโรงงานจะต้องเชื่อมต่อและ Online เข้าห้องควบคุมของการนิคมฯ ด้วย

2.หน่วยราชการเองต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่หน่วยราชการกำลังคนไม่พอในการติดตามตรวจสอบก็ควรจ้างมืออาชีพ หรือผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบโรงงานแทน และใช้กฎหมายกำกับ และบังคับอย่างเข้มงวด ต้องระลึกเสมอว่ากรณีที่โรงงานเกิดอุบัติภัยมีผลกระทบต่อประชาชนข้างเคียงคนผิดที่ต้องรับผิดชอบคือ หน่วยงานอนุญาตที่มีหน้าที่กำกับดูแลนั่นเอง ในส่วนของโรงงานที่เกิดอุบัติภัยจนประชาชนเจ็บป่วยจนถึงเข้าโรงพยาบาล หรือตายต้องถูกถอดถอนใบอนุญาต และกลับไปทำรายงานอีไอเอใหม่เริ่มต้น และขออนุญาตใหม่

3.ในการตั้งบประมาณตามแผนลดและขจัดมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดของรัฐบาล ต้องกลับไปพิจารณาจัดลำดับความสำคัญใหม่โดยให้น้ำหนักเรื่องความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น มีงบประมาณพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับประชาชนที่เสียสละยินยอมให้โรงงานปิโตรเคมีมาตั้งในพื้นที่ งบประมาณต้องตั้งมาจากภาคประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่ไม่ใช่มาจากส่วนกลางที่มุ่งเน้นงานวิจัยศึกษา ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทราบดีอยู่แล้ว

4.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยองจะต้องเป็นกลไกในการจัดการพื้นที่มาบตาพุดให้กลับมาอยู่ในความเชื่อมั่นของประชาชนให้ได้ ไม่ใช่ไปฝากไว้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้เชิญนักลงทุนมาอยู่ และอนุญาตให้ประกอบกิจการ ดังนั้น เมื่อนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และใกล้เคียงอยู่ในจังหวัดระยอง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยองซึ่งประกอบด้วยภาคราชการ ภาคประชาชน และภาคเอกชนจึงต้องเข้าไปกำกับดูแลที่ลงรายละเอียดโดยที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องให้ความร่วมมือ

5.ต้องดำเนินการให้โรงงานทุกแห่งปลูกต้นไม้เป็นแนวกันชนในรั้วโรงงาน (Protection Strip) อย่างน้อย 10-30 เมตรโดยเฉพาะพื้นที่ติดกับชุมชน การนิคมฯ เองต้องจัดให้มีพื้นที่กันชน (Buffer Zone) มีระยะห่างที่สามารถลดผลกระทบจากการเกิดอุบัติภัยต่อชุมชนได้ นอกจากนี้ต้องรีบประกาศผังเมืองของจังหวัดระยองเนื่องจากหมดอายุมาระยะหนึ่งแล้ว

6.จัดการให้มีการติดตั้งระบบตรวจวัดไอระเหยสารอินทรีย์ที่สามารถตวจได้หลายค่าอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะสารพิษที่กำหนดโดยกรมควบคุมมลพิษโดยควรติดตั้งสถานีตรวจวัดทั้งใน และนอกนิคมฯ ตามทิศทางลมเพื่อดูแนวโน้มความเข้มข้นของสารพิษ ไม่ใช่ตรวจเพียงแค่สารไฮโดรคาร์บอนด์เท่านั้น และควรส่งข้อมูล Online เข้าห้องควบคุมของการนิคมฯ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น