xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.จัดทีมนักวิชาการลุยตรวจโรงงานอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพีระวัฒน์  รุ่งเรืองศรี  รอง ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)
ระยอง- กนอ.จัดทีมนักวิชาการลุยตรวจโรงงานอันตราย หากพบโรงงานใดมีความเสี่ยง พร้อมสั่งระงับทันที ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากโรงงานระเบิดนั้นเหลือ 11 ศพ‏ เพราะแจ้งซ้ำกัน 1 ราย

วันนี้ (8 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เครือบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ถนนไอ 8 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ได้เกิดระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 11 ราย บาดเจ็บ 142 ราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม และเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยเกิดขึ้นที่บริษัท อดิตยาเบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง ก็เกิดเหตุก๊าซรั่วฟุ้งกระจายอีก ส่งผลให้ประชาชนที่สูดดมเข้าไปเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก ถูกนำส่งโรงพยาบาลรวมทั้งสิ้น 138 ราย

ด้านนายพีระวัฒน์ รุ่งเรืองศรี รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า สำหรับยอดผู้เสียชีวิตจากโรงงานระเบิดมีจำนวน 11 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ระบุจำนวนผู้เสียชีวิตไป 12 รายนั้น เนื่องจากมีอยู่รายหนึ่งที่ระบุไม่ทราบชื่อ จากการตรวจพิสูจน์แล้วไปซ้ำกัน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเหลือ 11 ราย มีรายชื่อดังนี้ 1.นายมานพ กูลไข่ 2.นายวัชรกร บุญทวีตระกูล 3.นายหัสนัย จันทร์เศรษฐี 4.นายชัยโย อักษรศรี 5.นายพนพล รุ่งระวี 6.นายธีระยุทธ จันทสิงห์ 7.นายขวัญประชา ชาติไทย 8.นายสนม น้อยจำนงค์ 9.นายสมพงษ์ พรมขำ 10.นายศรายุทธ อุนายา และ 11.นายเอกสิทธิ์ บุพโกสุม

ส่วนกรณีของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เกิดก๊าซรั่วนั้น ทางการนิคมอุตสาหกรรมได้สั่งปิดไปแล้ว และได้ตั้งข้อกล่าวหาในการดำเนินคดี คือ ทำการโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ซึ่งบริษัทฯ ดังกล่าวได้ทำผิดมาแล้วหลายครั้ง และให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นต้นเหตุเข้าไปเยียวยาชุมชน และชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด

ขณะนี้ การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้เรียงลำดับความสำคัญ และมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกรณีแรกของบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีผลกระทบต่อโรงงานข้างเคียง ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งหมด 7 โรงงาน บริเวณโรงงานที่ใกล้เคียงได้รับความเสียหายเนื่องจากแรงระเบิดทำให้กระจก หลังคาตัวอาคารที่ทำงานแตกเสียหาย ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเป็น 3 ทีม แต่ละทีมต้องมีวิศวกรด้านโยธาเข้าไปดูโครงสร้างของอาคาร

นอกจากนั้น ต้องดูเรื่องระบบของท่อต่างๆ ว่ายังมีความปลอดภัยหรือไม่ การตรวจสอบใช้ลักษณะเป็นการตรวจสอบด้วยสายตา เนื่องจากมีวิศกรเข้าไปทั้ง 3 ชุดแล้ว ยังมีนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในพื้นที่ทั้ง 7 โรงงานที่ได้รับผลกระทบ ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าจุดไหนมีความเสี่ยงเราก็จะสั่งการให้ระงับการใช้งานทันที เป็นการสั่งการด้วยวาจา และตามด้วยลายลักษณ์อักษรเป็นหนังสือ ส่วนไหนที่ปลอดภัยจะเช็กผ่านด้วยวาจา และตามด้วยหนังสือเช่นกัน แต่ถ้าทุกอย่างได้ตรวจแล้วมีความปลอดภัยปกติจะมีหนังสือออกให้เลย

นายพีระวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การทำงานครั้งนี้ต้องต่อเนื่องเพราะถ้าหยุดกิจการนานจะมีผลทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในวันนี้ ได้กำหนดทีมลงพื้นที่ แต่ละทีมจะรับผิดชอบ 2 โรง และทุกทีมที่เข้าตรวจสอบจะนำผลมาสรุปวิเคราะห์สถานการณ์ และจัดทำรายงานส่งแจ้งให้ทราบว่าแต่ละโรงมีความปลอดภัยระดับไหนก็จะทำเป็นรายงานส่ง ถ้าทุกอย่างปลอดภัยหมดจะทราบผลทันที พร้อมแจ้งให้ทราบว่าทุกอย่างให้ดำเนินการตามปกติ แต่ถ้ามีเรื่องของความไม่ปลอดภัยเข้ามาต้องสั่งให้มีการแก้ไข

สำหรับกรณีทีมงานที่จะเข้าตรวจโรงงานอันตรายจำนวน 65 โรงงานนั้น ขณะนี้ฟอร์มทีมงานไว้เรียบร้อยแล้ว มีการระดมเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ จากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความรู้ด้านนี้เข้ามาร่วมทีม เวลานี้ กนอ.ได้ประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรมส่งเจ้าหน้าที่หลายสิบนายเข้ามาร่วม ที่สำคัญคือ ภาคประชาชน ทาง กนอ.กำลังดำเนินการประสานภาคประชาชน ดังนั้น ทุกทีมที่จะออกไปตรวจสอบต้องมีภาคเอกชนร่วม ขณะนี้ได้ตั้งเป้าทีมตรวจสอบโรงงานรวม 10 ทีม ประกอบด้วย กนอ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน เราจะไม่เข้าไปตรวจโดยไม่มีภาคประชาชนทั้งหมดตั้งเป้าไว้ตามนโยบายคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน คาดว่าจะเสร็จก่อนกำหนด

นายพีระวัฒน์ กล่าวว่า กรณีการต่อใบอนุญาตโรงงานที่เกิดระเบิดและก๊าซรั่วนั้น กรณีเรื่องการต่อใบอนุญาต เรายังไม่ได้พูดถึง เพราะว่าต้องใช้เวลา ถ้าถามเรื่องการต่อใบอนุญาตทั้ง 2 โรงงานที่เกิดปัญหา แน่นอนเราต้องเพิ่มความเข้มข้นให้มากกว่านั้น ตามกฏหมายมีแล้ว ในด้านการดูแลช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ทาง กนอ.ได้จัดส่งทีมเข้าไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆ

ส่วนศพผู้เสียชีวิต กนอ.กำลังรีบเร่งจัดงบประมาณ คิดว่าภายในวันสองวันคงได้รับงบประมาณดังกล่าว เพื่อนำไปช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 11 รายๆ ละ 20,000 บาท ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่กำลังติดตามเข้าช่วยเหลือในระดับหนึ่ง สำหรับบริษัทบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นต้นเหตุของการระเบิด กำลังจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่อยู่ คณะกรรมการชุดนี้จะมี กนอ. ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการจากสถาบันปิโตรเลียม และขอความร่วมมือจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และเจ้าหน้าที่เทศบาล หรือท้องถิ่นเข้ามาเป็นกรรมการในชุดนี้ โดยมีภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 3 คน เข้ามาเป็นกรรมการในชุดนี้ด้วย และถ้ามีความคืบหน้าแจ้งให้ทราบเป็นระยะด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น