เอเอฟพี - ผู้นำทั่วโลกเปิดประชุมสุดยอดที่ริโอเดจาเนโร ปูทางรับรองร่างพิมพ์เขียวเพื่อขจัดความยากจนและปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยนโยบายส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน แม้หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเนื้อหาในร่างข้อตกลงเบาหวิว เนื่องจากเจ้าภาพเน้นประนีประนอมป้องกันการประชุมล่มเหมือนที่โคเปนเฮเกนเมื่อ 4 ปีก่อน
ผู้นำ 92 คน ซึ่งรวมถึงเจ้าภาพคือ ประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟ ของบราซิล และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ของจีน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดริโอ+20 ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันพุธ (20) ด้วยการฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง “สเตท ออฟ เดอะ แพลเน็ต” และคำแถลงของบัน คีมุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ
กิจกรรมสำคัญระดับโลกคราวนี้ มีขึ้น 20 ปีหลังการประชุมเอิร์ธซัมมิตครั้งแรกที่เมืองริโอเดจาเนโรแห่งนี้ ที่ประเทศต่างๆ ประกาศร่วมกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การกลายสภาพเป็นทะเลทราย และการสูญพันธุ์ของสัตว์นานาชนิด
เป็นที่คาดว่าบนเวทีนี้จะมีผู้ทรงเกียรติราว 191 คนผลัดเปลี่ยนขึ้นบรรยายและอภิปรายถกเถียงจนกระทั่งถึงวันศุกร์ (22) ที่เหล่าผู้นำจะปิดการประชุมที่กินเวลา 10 วันด้วยการลงนามรับรองข้อตกลงความยาว 53 หน้าที่คณะผู้เจรจาตกลงกันเมื่อวันอังคาร (19)
ร่างข้อตกลงดังกล่าวนี้เรียกทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน
คอนนี เฮดการ์ด กรรมาธิการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ของสหภาพยุโรป (อียู) วิจารณ์ว่าเนื้อหาในร่างข้อตกลงเบาหวิว
ทว่า ท็อด สเติร์น ผู้แทนจากสหรัฐฯ มองว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นพัฒนาการที่ดี และไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในร่างนั้นแต่อย่างใด
ขณะที่ปีเตอร์ อัลต์เมเออร์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเยอรมนี กล่าวว่าแม้ไม่พอใจเต็ม 100% แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีเมื่อเทียบกับความล้มเหลวที่โคเปนเฮเก้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ในฐานะเจ้าภาพ บราซิลพยายามหลีกเลี่ยงการกดดันบรรดาผู้นำมากเกินไปเกี่ยวกับร่างแถลงการณ์สุดท้าย โดยเฉพาะหลังจากซัมมิตที่โคเปนเฮเกนในปี 2009 เกือบล่ม และตามมาด้วยการโต้เถียงกันดุเดือดระหว่างประเทศผู้เข้าร่วม
ร่างแถลงการณ์ซึ่งสื่อมวลชนบางส่วนได้เห็นแล้ว ระบุถึงมาตรการในการจัดการกับความป่วยไข้ของสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ และปลดปล่อยผู้คนนับล้านจากความยากจน ผ่านนโยบายมากมายที่ช่วยส่งเสริมแทนที่จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดมีดังเช่น มาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวและ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (เอสดีจี) ที่ถูกกำหนดให้มาแทนที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของยูเอ็นที่จะหมดวาระในปี 2015
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของอียูในการผลักดันให้เอสดีจีครอบคลุมถึงยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีอันต้องล้มเหลวโดยสิ้นเชิงระหว่างการหารือในรายละเอียด ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่สามารถกดดันให้มีการระบุมูลค่ากองทุนเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งจะใช้สำหรับช่วยเหลือประเทศยากจน ในการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้กลุ่มจี 77 และจีนเรียกร้องตัวเลขเอาไว้ที่ปีละ 30,000 ล้านดอลลาร์
พวกเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากวิจารณ์ร่างข้อตกลงนี้อย่างรุนแรง
แดเนียล มิตเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองของกรีนพีซ อินเตอร์เนชันแนล ระบุว่าเป็นวิสัยทัศน์ของการนิ่งเฉยและการทำลาย
ลาสส์ กุสตาฟสัน จากกองทุนสัตว์ป่าโลกขานรับว่า น่าผิดหวังอย่างยิ่ง ภาษาที่ใช้ในร่างขาดความเด็ดขาด และผลการประชุมจะไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้คนและโลกต้องการเลย
ส่วนเนเชอรัล รีซอร์ส ดีเฟนซ์ เคาน์ซิลของอเมริกัน พอใจกับข้อตกลงในส่วนการปกป้องสิ่งแวดล้อมในทะเล แต่วิจารณ์ความล้มเหลวในการส่งเสริมธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม
ระหว่างการประชุมในวันพุธ ผู้นำ อาทิ ฟรังซัวส์ ออลลองด์จากฝรั่งเศส, เจค็อบ ซูมาจากแอฟริกาใต้, มานโมฮัน ซิงห์จากอินเดีย ฯลฯ จะได้รับฟังสาส์นจากนักบินอวกาศในสถานีอวกาศนานาชาติ
สำหรับผู้นำที่ไม่มีกำหนดการเดินทางมาร่วมประชุมด้วย ได้แก่ ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษ, นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ฯลฯ
อนึ่ง ก่อนที่จะถึงรอบการประชุมผู้นำนั้น นักกิจกรรม นักธุรกิจ และผู้วางนโยบาย 50,000 คนได้ร่วมระดมความคิดกันในเวทีที่ยูเอ็นเป็นแม่งาน
ในวันพุธ ยังมีนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายเรือนหมื่นร่วมการประชุมต่อต้านริโอ+20 และเดินขบวนผ่านใจกลางเมืองริโอเดจาเนโร เพื่อประท้วงสิ่งที่พวกเขามองว่า เป็นความพยายามของนักทุนนิยมในการปล้นเศรษฐกิจสีเขียว