xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชน-เอกชน หนุนกรีนพีซออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 ภาคประชาชน-เอกชน หนุนข้อเสนอ  5 ข้อของกรีนพีซ  วอนรัฐออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน  เปิดทางเข้าถึงพลังงานสะอาด ลดภาวะโลกร้อน    จี้ยุติก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์ เหตุเพิ่มความขัดแย้งในพื้นที่  ตะลึง! พลังงานแสงแดดไทยผลิตไฟได้ถึง 1000 วัตต์ต่อตารางเมตร

นายอนุสรณ์ สายนภา ตัวแทนจากเครือข่ายพลังงานภาคตะวันออก กล่าวในระหว่างการเข้าชมงาน “มหกรรมปฏิวัติพลังงาน ผ่านกฎหมายพลังงานหมุนเวียน” ณ โดมกู้วิกฤตโลกร้อน ลานราชมังคลากีฬาสถาน กล่าวว่า ในฐานะภาคประชาชนที่ได้ริเริ่มใช้พลังงานสะอาดมาอย่างต่อเนื่อง เห็นด้วยที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียน และเห็นด้วยกับข้อเสนอ 5 ข้อของกรีนพีซ เพื่อเปิดทางให้ประเทศไทยมีพลังงานที่สะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เพื่อลดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เป็นอย่างมาก และมีประชาชนจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น นายเจริญ วัดอักษร แกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายนรินทร์ โพธิ์แดง อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เขาชะอางกลางทุ่ง อ.เขาชะเมา จ.ระยอง จากการเป็นแกนนำต้านโรงโม่หินของนักการเมืองระดับชาติของจังหวัด เป็นต้น และยังไม่รู้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตอีกหรือไม่ หากยังมีการผลักดันให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี)

“ดังนั้น ผมจึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากกว่านี้ เพราะหากดูจากการใช้ไฟฟ้าของแต่ละห้างสรรพสินค้า เชื่อว่า มีไฟฟ้าเท่าไหร่ก็ไม่พอ รัฐต้องออกกฎหมายถ้าใครใช้ไฟฟ้ามากควรผลิตไฟฟ้าเอง เพราะผมเองก็คงไม่ยอมให้ใครมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บ้านผม เพราะผมไม่ได้ใช้ไฟเหล่านั้น ดังนั้น ต้องมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียนเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น” นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวประดิษฐ์ใช้รถจักรยานไฟฟ้าขึ้นใช้เอง และอยากชาร์จแบตเตอรี่จากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือจากพลังงานลม แต่ไม่มีเงินลงทุนและไม่มีความรู้ ทำได้แค่เตรียมกังหันรอไว้เท่านั้น ตอนนี้ใจไปแล้วว่าอยากจะใช้พลังงานสะอาด แต่ไม่มีหน่วยใดมาให้ความรู้ จึงอยากให้รัฐสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมากกว่านี้ เชื่อว่า ประชาชนเอาด้วยแน่นอน เพราะทุกคนก็อยากให้มีอากาศบริสุทธ์อยู่กับเราตลอดไป

ด้าน นายวิรัตน์ ตรีโชติ ตัวแทนกลุ่มศูนย์เกษตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมชุมชนคีรีวง ซึ่งเป็นชุมชนที่ริ่เริ่มการใช้กังหันน้ำในการผลิตไฟฟ้า ใน จ.นครศรีธรรมราช กล่าวเสริมว่า การใช้กังหันน้ำใน จ.นครศรีธรรมราช เริ่มมีการขยายไปในหลายอำเภอ แต่ไม่ง่ายนัก เพราะต้องใช้น้ำตกที่แรงเท่านั้น ถึงจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตได้ประมาณ 300-1,000 วัตต์ สามารถใช้ประโยชน์ในการเกษตร แต่ต้องพัฒนาอีกมาก เพราะระบบไฟยังไม่สม่ำเสมอ ผลจากการทำกังหันน้ำ คือ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะยังสามารถนำน้ำไปใช้ได้เหมือนเดิม ซึ่งหากเทียบกับพลังงานปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ด้านหนึ่งเราอาจจะได้รับความสะดวกสบาย แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เห็นได้จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากสภาวะโลกร้อน

“อยากให้รัฐบาลออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน เพื่อทำให้มีกลไกต่างๆ เอื้อให้ชาวบ้านผลิตพลังงานเองได้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ แบบที่กลุ่มคีรีวง ทำอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมา เราประสบปัญหาและต้องลองผิดลองถูกกันหลายครั้ง เพราะชาวบ้านขาดความรู้ ดังนั้น ควรมีการให้ความรู้อย่างจริงจังที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมด้วย โดยรัฐและประชาชนสมทบเงินทำโครงการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เชื่อว่า หากมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นจริงจะสามารถปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ได้” นายวิรัตน์ กล่าว

ด้าน นายวิสูจน์ มาตรเลี่ยม วิศวกร จากบริษัท อีเนอร์คิว จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ กล่าวว่า การที่จะทำให้พลังงานหมุนเวียนเป็นจริงได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยต้องมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการลงทุน เช่นให้เอกชนผลิตและขายให้รัฐ และรัฐก็ขายให้ประชาชน เพราะพลังงานหมุนเวียนมีการลงทุนที่สูงมาก แต่ในระยะยาวถือว่าคุ้ม ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สูงมาก เพราะสามารถผลิตได้ถึง 1,000 วัตต์ต่อตารางเมตร โดยเฉพาะใน จ.ลพบุรี ซึ่งในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกผลิตได้แค่ 100 วัตต์ต่อตารางเมตร เท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลควรวางแผนให้มีการใช้พลังงานสะอาดในอนาคคต ไม่ว่าจะเป็น พลังงานจากชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ เพราะอีกไม่นานพลังงานที่ใช้กันอยู่ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ก็คงจะหมดไป

“หากแต่ละบ้านจะลงทุนติดแผงโซลาร์เซลล์ ผมคิดว่า คงประมาณหลังละ 250,000 บาท ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา คงไม่มีใครลงทุน เพราะกว่าจะคุ้มทุนคงหลายปี แต่ถ้ารัฐบาลช่วยสมทบทุนเพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ถือว่าเป็นเรื่องคุ้มค่า ผมสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์เต็มที่ เพราะแสงแดดไม่ได้ซื้อ และข้อมูลทางวิชาการ ระบุชัดเจนว่า พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์แค่ 11 เมกะวัตต์ สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 30,000 ตัน โลกเราใกล้จะพังแล้ว เพราะโลกร้อนขึ้นมาก ดังนั้น เราต้องช่วยกันเพื่อลดสภาวะโลกร้อน” นายวิสูจน์ กล่าว

ทั้งนี้ กรีนพีซได้จัดมหกรรม “ปฏิวัติพลังงานผ่านกฎหมายพลังงานหมุนเวียน” ที่ลานราชมังคลากีฬาสถาน โดยเสนอหลักการ 5 ข้อ เพื่อทำให้กฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่กระทรวงพลังงานกำลังยกร่างอยู่ในขณะนี้ สามารถแก้วิกฤตพลังงานไทย โดย 1.รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนเป็นอันดับแรก ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงระบบสายส่งก่อนพลังงานอื่นๆ 2.ทุกคน ทุกบ้าน ทุกหย่อมหญ้า สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อใช้และขายเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียน 3.การบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าต้องมีความโปร่งใสและราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความเป็นธรรม 4.ต้องมีการจัดตั้งกองทุนและพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในทุกจังหวัด และเพิ่มอัตราการจ้างงานจากการลงทุนและการดำเนินงานระบบพลังงานหมุนเวียนที่ สะอาดและยั่งยืน 5.ผู้ใช้ไฟฟ้ามีสิทธิเลือกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และยั่งยืนแทนไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เพื่อสร้างจิตสาธารณะร่วมกัน ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม โดยกรีนพีซเริ่มการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทั้งทางออนไลน์และการ จัดกิจกรรมตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อระดมพลังประชาชนอย่างน้อย 55,555 คน เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมาย พลังงานหมุนเวียนฉบับแรกของไทยโดยเร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น