คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
นโยบายที่จะพัฒนาให้ประเทศเป็นครัวของโลก เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนในชาติ และสู่เป้าหมายคือการพัฒนาที่ยั่งยืน “ทะเล” คือ ปัจจัยที่สำคัญในการเป็นแหล่งอาหารโปรตีน และเป็นแหล่งอาหารที่กระจายอยู่ในพื้นที่วงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดชายฝั่ง 23 จังหวัดทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ที่มีความยาวของพื้นที่ชายฝั่งกว่า 2,600 กิโลเมตร นับเป็นต้นทุนที่สำคัญของสังคมไทย แต่นโยบายหรูๆ ดังกล่าวที่มีความเป็นไปได้สูง ก็ต้องสะดุดหยุดลง หรือไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ ความบกพร่อง ความล้าหลังของกรมประมง ที่วันนี้ยังตกอยู่ในการควบคุมของเหล่าบรรดานักธุรกิจประมง และนักการเมืองที่มีผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล อันเป็นทรัพยากรของคนทั้งชาติไว้ใช้เฉพาะคนกลุ่มเดียว
ความพยายามผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมเรืออวนลากที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ บทบาทหน้าที่ของกรมประมงไม่ได้ทำหน้าที่รับใช้คนส่วนใหญ่ ตรงกันข้าม กลับสมคบกับนักการเมือง นักธุรกิจทางการประมงที่เอาเปรียบสังคมไทยมาช้านาน เอารัดเอาเปรียบโดยการยึดเอาทรัพยากรในทะเลอันเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ไปจัดสรรแบ่งปันกันเฉพาะในหมู่พวก หน้าที่ในการคุ้มครองอาชีพ แหล่งอาหาร การประกอบอาชีพของการประมงชายฝั่งที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ 23 จังหวัด ซึ่งมีประชากรที่ทำการประมงกว่า 3 แสนครอบครัว ต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง ทั้งการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง และร่วมกันปกป้องพื้นที่ทำกินชายฝั่งอย่างลำพัง หลายๆ ชุมชนก็ล่มสลาย เปลี่ยนอาชีพเพราะแหล่งประกอบอาชีพถูกรุกราน ถูกทำลาย กรมประมงหารู้ร้อนรู้หนาวไม่
เมื่อสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการที่เรียกว่า IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal) ที่ไม่มีการรายงานแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์นํ้า (Unreported) และไม่มีการควบคุมการได้มาซึ่งสินค้านั้นๆ (Unregulated) เรือประมงอวนลากเถื่อนเหล่านี้ไม่สามารถส่งสินค้าไปขายให้แก่สหภาพยุโรปได้อีกต่อไป กรมประมงจึงเต้นเหมือนเจ้าเข้า รีบกุลีกุจอหาทางจัดการแก้ไขปัญหาให้แก่เหล่าธุรกิจประมง โดยหาได้คำนึงถึงข้อมูลทางวิชาการที่หน่วยงานในสังกัด (ฝ่ายวิชาการของกรมประมง) ได้ทำเอาไว้ ซ้ำยังพยายามบิดเบือนข้อมูลทางวิชาการ สร้างข้อมูลเท็จเพื่อช่วยเหลือเหล่านักธุรกิจประมงที่เลี้ยงดูปูเสื่อ
คำถามง่ายๆ สำหรับ คุณวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงที่เป็นคนชงเรื่องนิรโทษกรรมเรืออวนลาก เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ที่อ้างว่าได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า ฯลฯ มาประชุมกันเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 แล้วสรุปผลออกมาว่า ทะเลไทยมีความเหมาะสมที่จะรองรับเรืออวนลากได้ถึง 5,726 ลำ ท่านเอาข้อมูลทางวิชาการชิ้นไหนมารองรับ เพราะในปี 2547 ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่นำเสนอโดย FAO ร่วมกับกรมประมง ได้กล่าวว่า เพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพการผลิตของทะเลสูงสุดของสัตว์หน้าดิน การทำประมงอวนลากในอ่าวไทยต้องลดลงอีก 40% แต่ถ้าต้องการทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจสูงสุดต้องลดลงอีก 50%
การยกตัวเลขอ้างความเหมาะสมของทะเลไทยว่าสามารถรองรับการประกอบการประมงด้วยอวนลากได้ถึง 5,726 ลำ ที่ไร้งานวิชาการรองรับ เป็นเรื่องที่น่าละอาย และเป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจ และอิทธิพลของผู้ประกอบการประมงอวนลาก (ที่มีส่วนสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับธุรกิจปลาป่นของบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ และส่งออกรายใหญ่ปลาป่นของประเทศนี้) คำตอบง่ายๆ ของกรมประมงสำหรับผู้ที่ติดตามปัญหานี้ก็คือ ท่านกระทำไปเพราะต้องการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของนักธุรกิจทางการประมง โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำการประมงอวนลาก เพราะข้อมูลสิ้นปี 2553 มีเรืออวนลากที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมีเพียง 3,619 ลำ แต่เพราะความละเลยในการทำหน้าที่ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดของกรมประมง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีการสร้างเรืออวนลากแล้วสวมทะเบียนสร้างเรือเถื่อน จนยอดเรือเถื่อนเรือสวมทะเบียนเกลื่อนทะเลกว่า 5,000 ลำ
การเสนอให้มีการนิรโทษเรืออวนลากจำนวนอีก 2,107 ลำ โดยไปทำข้อมูลเท็จที่ไม่ได้มีงานวิชาการใดๆ รองรับว่าทะเลไทยยังสามารถรองรับการประกอบการประมงอวนลากได้ถึง 5,726 ลำ ก็เพียงเพื่อทำให้เรืออวนลากที่สวมทะเบียน หรือเรืออวนลากเถื่อน ให้กลับมาถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ท่านวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ในฐานะที่ท่านทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.จงแสดงความกล้าหาญถอนเรื่องนี้กลับออกมาเสียเถิดครับ อย่าให้สังคมไทยต้องตราหน้าว่า ท่านเป็นคนหนึ่งที่ทำร้ายทะเลไทยครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของการทำร้ายทะเลไทย