xs
xsm
sm
md
lg

กรมประมง.....โปรดหยุดทำร้ายทะเลไทย

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


การนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีให้นิรโทษกรรมเรืออวนลากโดยนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงคนปัจจุบัน เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าถึงวันนี้กรมประมง ยังยืนอยู่ข้างนายทุน นักธุรกิจทางการประมงซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่ได้รับผลประโยชน์จากทะเลมาอย่างยาวนาน โดยไม่ได้ใส่ใจต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำแห่งท้องทะเลไทย และความเดือดร้อนของชาวประมงส่วนใหญ่ซึ่งมีอยู่มากกว่า 3 แสนครอบครัวในพื้นที่ชุมชนชายฝั่งใน 23 จังหวัดของประเทศแต่อย่างใด

จากปัญหาความเสื่อมโทรมและการลดลงอย่างรวดเร็วของทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำ อันเกิดจากมีการนำเครื่องมือแบบทำลายล้างเข้ามาในประเทศอย่างเรืออวนลาก อวนรุนและเรือปั่นไฟจับปลากะตัก ได้ทำให้ทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทยลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีอาชีพทำการประมงซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ต่างกับอาชีพเกษตรกรสาขาอื่นๆ ต่างล้มละลายหายไปจากอาชีพ มีการเปลี่ยนอาชีพไปเป็นแรงงานรับจ้าง ไปเป็นผู้ใช้แรงงานในกองเรือประมงพาณิชย์ออกไล่ล่าพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน ถูกจับขังคุกตะราง

ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้างอย่างอวนลาก อวนรุนและเรือปั่นไฟอย่างธุรกิจโรงงานน้ำปลา โรงงานปลาป่น ต่างขยายการเติบโตสร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของผู้ประกอบการจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจปลาป่นซึ่งอยู่ในมือของเจ้าของธุรกิจการเลี้ยงสัตว์และอาหารสัตว์ครบวงจร ปลาป่นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหารสัตว์เลี้ยงจำพวกไก่เนื้อ หมู วัว และขยายไปสู่ส่วนผสมของอาหารสัตว์เกือบทุกชนิด ความต้องการของปลาป่นจึงไร้ขีดจำกัด ร้ายไปกว่านั้นปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกปลาป่นไปยังประเทศจีนเป็นอันดับหนึ่งและเป็นปลาป่นที่มีคุณภาพมากที่สุด

ข้อมูลงานวิจัยของกรมประมงเองที่เคยทำไว้จากผลการดำเนินการทำการประมงด้วยอวนลากพบว่า เคยทำการลากได้ประมาณ 298 กก./ชม. ในปี พ.ศ. 2504 ลดลงเหลือประมาณ 49 กก./ชม. ในปี พ.ศ. 2525, ประมาณ 23 กก./ชม. ในปี พ.ศ. 2534 และประมาณ 14.126 กก./ชม.ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งก็ชัดเจนว่าการทำประมงด้วยเครื่องมืออวนลากนั้น มีส่วนทำลายทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย ข้อมูลของกรมประมงเองก็บอกชัดเจนว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมาได้มีการจับสัตว์น้ำหน้าดินด้วยอวนลากเกินศักยภาพการผลิตของทะเล โดยที่ในปี พ.ศ. 2525 ผลผลิตของประมงอวนลากอยู่ที่ 990,000 ตัน ซึ่งเกินกว่ากำลังการผลิตของทะเลกว่า 30% ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเล

ในขณะที่งานวิจัยเรื่ององค์ประกอบของผลผลิตจากอวนลากพบว่าสัดส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการมีเพียงร้อยละ 33.3 ที่เหลือเป็นปลาเป็ดร้อยละ 66.7 และร้อยละ 30.1 ของปลาเป็ดเป็นสัดส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อน ผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่นำเสนอโดย FAO ร่วมกับกรมประมงในปี พ.ศ. 2547 ได้กล่าวว่าเพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพการผลิตของทะเลสูงสุดของสัตว์หน้าดิน การทำประมงอวนลากในอ่าวไทยต้องลดลงอีก 40% แต่ถ้าต้องการทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจสูงสุดต้องลดลงอีก 50% ของการลงแรงประมงที่เป็นอยู่

ทำให้กรมประมงออกประกาศในปี 2527 งดการรับจดทะเบียนเรืออวนลากอีก ใครมีอยู่ก็ทำไปเมื่อเรือผุพังไปก็ไม่สามารถสร้างใหม่ได้อีก แต่ด้วยมาตรการความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมาย และธุรกิจการประมงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับนักการเมือง ที่หากินกับทรัพยากรของชาติโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องทางวิชาการและไม่เคยเห็นหัวคนจนๆ กรมประมงจึงปล่อยปละละเลยให้มีการสวมตอทะเบียนเรือ การสร้างเรือเถื่อนจนยอดเรือเถื่อนเรือสวมทะเบียนในปัจจุบันทะลุเกินกว่า 4,000 ลำจากที่มีอยู่เดิม

เมื่อสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการที่เรียกว่า IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal) ที่ไม่มีการรายงานแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์นํ้า (Unreported) และไม่มีการควบคุมการได้มาซึ่งสินค้านั้นๆ (Unregulated) เรือประมงอวนลากเถื่อนเหล่านี้ไม่สามารถส่งสินค้าไปขายให้กับสหภาพยุโรปได้อีกต่อไป ผลประโยชน์ 2 แสนกว่าล้านจากธุรกิจประมงอื่นๆ ก็จะหายวับไปในบัดดล

แทนที่กรมประมงจะใช้เงื่อนไขนี้ในการจัดการกับการประมงที่ผิดกฎหมายอย่างเรืออวนลาก ที่เอารัดเอาเปรียบสังคมไทยมายาวนาน กลับสมคบกันหาวิธีการช่วยเหลือโดยไม่สนใจความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล และความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมงชายฝั่ง ประมงรายย่อยที่มีอยู่กว่า 3 แสนครอบครัวและผู้บริโภคอาหารทะเลทั้งประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรปในการใช้มาตรการ IUU Fishing แล้ว ยังเป็นการประจานตัวเองว่าในวันนี้กรมประมงก็ยังอยู่ในอุ้งมืออุ้งเท้าของเหล่านายทุน และนักการเมืองที่หากินกับทรัพยากรของคนทั้งประเทศอย่างเห็นแก่ตัวอยู่ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น