xs
xsm
sm
md
lg

แนะนำคู่ขาของประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าเมื่อปี 2544 นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายถูกนำเข้ามาใช้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น มันก็เบ่งบานไปตามครรลองของมัน นั่นคือ แสดงลักษณะของการเป็นยาเสพติดซึ่งเมื่อเสพแล้วเลิกยาก พรรคการเมืองต่างๆ จึงเสนอนโยบายให้เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่และครองอำนาจบริหารบ้านเมือง การใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายบริหารบ้านเมืองมีผลร้ายมากกว่าผลดี ดังที่คอลัมน์นี้อธิบายเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นโยบายล่าสุดซึ่งจะมีผลถึงทำให้เมืองไทยล้มละลายตามด้วยความหายนะได้แก่โครงการรับจำนำข้าว

​โครงการนี้จะมีผลเสียหายร้ายแรงทางด้านการเงินแน่นอน ประเด็นนี้ได้รับการวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ รวมทั้งสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย การขาดทุนจำนวนมหาศาลจะนำไปสู่การเพิ่มภาระหนี้สินจนนำไปสู่ความล้มละลายและต้องไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ดังที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 แต่ความล้มละลายยังไม่เลวร้ายเท่าความหายนะที่จะตามมาหากรัฐบาลยังดันทุรังรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 30-40% ดังที่อธิบายเมื่อคราวก่อน การรับซื้อข้าวเช่นนั้นจะเป็นการก่อความเสียหายร้ายแรงจากอย่างน้อยอีกสามด้านด้วยกันคือ

​ด้านแรก รัฐบาลจะเป็นผู้ผูกขาดตลาดข้าวทำให้ชาวนาเป็นทาสของการผูกขาดที่มีความสามานย์ในตัวของมันอยู่แล้ว ความสามานย์นั้นจะเสริมด้วยการขาดประสิทธิภาพของภาครัฐ ในกรณีที่รัฐบาลมีความฉ้อฉลปะปนอยู่มากเช่นรัฐบาลปัจจุบัน ผลของการผูกขาดจะยิ่งร้ายแรงขึ้น เรื่องนี้มีตัวอย่างในฟิลิปปินส์เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ผูกขาดตลาดมะพร้าวซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันกับเรื่องข้าวของไทย เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ต้องล้มลุกคลุกคลานตั้งแต่นั้นมา

​ด้านที่สอง เกษตรกรจะหันไปทำนาเพียงอย่างเดียวแทนการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน นั่นจะเป็นการต่อต้านแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นทางออกของปัญหาส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนเช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้นทั้งจากด้านการแพร่เชื้อโรคของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในที่ดินผืนเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก และด้านการพึ่งพืชชนิดเดียวเพื่อทำรายได้สำหรับใช้ซื้อสิ่งจำเป็นอื่นๆ แทนการผลิตด้วยตนเอง

​ด้านที่สาม เมื่อชาวนาเสพติดโครงการนี้ พวกเขาย่อมมีแรงจูงใจที่จะรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของตนจนส่งผลให้พวกเขากลายเป็นกองกำลังจัดตั้งของนักการเมืองชั่ว เรื่องนี้มีตัวอย่างให้ดูอยู่แล้วเมื่อผู้เสพติดประชานิยมเข้าร่วมกระบวนการประท้วงรัฐบาลซึ่งจบลงด้วยการเผาบ้านเผาเมืองเมื่อปี 2553 กองกำลังจัดตั้งทางการเมืองนับวันจะยิ่งเลวร้ายและจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในเยอรมนี อิตาลี และอาร์เจนตินา

​นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายอาจจะไม่เลวร้ายมากมายถึงขนาดสร้างความหายนะหากมันไม่อยู่ในภาวะที่เอื้อให้ความเลยร้ายนั้นเบ่งบานได้อย่างเต็มที่ แต่เมืองไทยตกอยู่ในภาวะดังกล่าว หรืออาจพูดได้ว่าประชานิยมมีคู่ขาที่จะเอื้อให้มันเบ่งบานอย่างเต็มที่ คู่ขาของนโยบายประชานิยมมีอยู่ด้วยกันสองคู่คือ

​อัตตานิยม อันเป็นการยึดตัวเองเป็นใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในด้านแนวคิด การกระทำ หรือผลประโยชน์ ในการบริหารบ้านเมือง ผู้นำมักไม่ค่อยฟังใครซึ่งสะท้อนลักษณะประจำอย่างหนึ่งของสังคมไทยอยู่แล้ว แต่นั่นยังไม่ร้ายเท่าการยึดเอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งแทนผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ความฉ้อฉลเป็นกลวิธีสำหรับแสวงหาประโยชน์ใส่ตนของชนชั้นผู้นำ พวกเขามักทำได้เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ดูดายและไม่สนใจที่จะร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อขัดขวางความฉ้อฉลของชนชั้นผู้นำ

​ความฉ้อฉลฝังลึกอยู่ในฐานของสังคมไทยจนเรียกว่าเป็นสังคมที่มีความเป็น ขโมยานิยม แบบเกือบสมบูรณ์ คนไทยส่วนใหญ่มองว่าความฉ้อฉลในการบริหารบ้านเมืองไม่เป็นปัญหาถ้าตนได้ประโยชน์ด้วย ทัศนคติเช่นนั้นเป็นการเปิดไฟเขียวให้ชนชั้นผู้นำโกงกันได้ตามใจชอบ การโกงเป็นส่วนสำคัญของการไม่เคารพกฎเกณฑ์โดยทั่วไปของคนส่วนใหญ่ในสังคม เรื่องนี้อาจมองจากความมักง่ายในการทิ้งขยะลงบนถนนไปจนถึงการขับมอเตอร์ไซค์ย้อนศรและการทำผิดกฎจราจรอื่นๆ การลักขโมยทุกรูปแบบรวมอยู่ในนี้ไม่ว่าจะเป็นการขโมยเวลาในการทำราชการ หรือการปล้นฆ่าและการโกงภาษีที่เกิดขึ้นรายวัน

​อนึ่ง ผู้ที่รู้จักเมืองไทยเป็นอย่างดีมักมองว่า สังคมไทยมีความ “ขี้โกง” เป็นส่วนประกอบสำคัญของขี้สี่อย่างที่ทำให้เมืองไทยล้าหลังสังคมอื่น อีกสามขี้ได้แก่ ขี้เกียจ ขี้โอ่ และขี้อิจฉา ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ฝรั่งมีองค์กรความโปร่งใสสากลเพื่อค้นหาสภาพความฉ้อฉลของสังคมต่างๆ ปรากฏว่าเมืองไทยตกอยู่ในกลุ่มที่มีความฉ้อฉลสูงมาตลอดซึ่งได้คะแนนเพียง 3 กว่าๆ ถ้าสังคมที่ไม่มีการโกงได้คะแนนเต็ม 10

​ดังเป็นที่ทราบกันดี ผู้นำไทยมักจะไม่ทำอะไรเพียงคนเดียว หากทำร่วมกับวงศาคณาญาติและมิตรสหาย การร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ด้วยความฉ้อฉลทำให้สังคมไทยตกอยู่ในกลุ่มที่มีลักษณะของ ญาติกานิยม ซึ่งรวมเอาระบบอุปถัมภ์เข้าไปด้วย ในระบบนี้ ผู้ที่ไม่อยู่ในหมู่ญาติและมิตรของชนชั้นผู้นำมักขาดโอกาสที่จะแสดงความสามารถของตนอย่างเต็มที่ ในขณะที่ผู้มีความสามารถต่ำแต่มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีอำนาจมักมีโอกาสสูง สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดการสูญเปล่าอย่างใหญ่หลวงต่อส่วนรวม

​คู่ขาสุดท้ายของประชานิยมได้แก่ความเป็น ธนานิยม ของสังคมไทยซึ่งเงินได้รับการยกสถานะเสมือนกับเป็นพระเจ้าแบบแทบจะสมบูรณ์แล้ว ผู้มีเงินโดยทั่วไปได้รับการเคารพบูชาไม่ว่าที่มาของเงินจะสกปรกสักปานไหนก็ไม่มีความสำคัญ เงินเข้าไปมีอิทธิพลสูงในทุกวงการรวมทั้งในแวดวงของพระสงฆ์ด้วย ผู้ดำเนินชีวิตอยู่บนฐานของศีลธรรมจรรยาด้อยค่าถ้ามีเงินเพียงจำกัด ในกระบวนการเมืองและการเลือกตั้ง ผู้มีเงินซื้อเสียงสูงสุดชนะการเลือกตั้ง การซื้อเสียงอาจเป็นได้ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม การให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ผ่านการใช้นโยบายประชานิยมต่างๆ รวมทั้งการรับจำนำข้าวดังที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นการซื้อเสียงทางอ้อมอย่างหนึ่ง ผู้ใช้เงินซื้อเสียงย่อมหาทางถอนทุนจากกระบวนการบริหารบ้านเมืองเมื่อตนชนะ วิธีถอนทุนส่วนใหญ่มักไม่พ้นการใช้ความฉ้อฉลทั้งโดยทางตรงและทางนโยบาย

​ห้าปัจจัยที่ได้อ้างถึงนี้ส่งผลให้สังคมไทยมี “อศีลห้า” อย่างครบถ้วน การปฏิบัติตามแนวศีลห้าเป็นทางสร้างความก้าวหน้าแบบสงบสุขอย่างยั่งยืนฉันใด การปฏิบัติตามแนวอศีลห้าย่อมมีผลในทางตรงข้ามกันฉันนั้น หากสังคมไทยยังปฏิบัติตามแนวอศีลห้าต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังไปในทางที่ดี มันจะมีผลทำให้สังคมล้มละลายตามด้วยความหายนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น